ผลกระทบจากวิกฤติซ้อนวิกฤติต่อเศรษฐกิจไทยจะรุนแรงเพียงใดตลอดทั้งปีนี้ ยังคงไม่มีสำนักไหนหรือกูรูคนใดสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำนัก
เหตุเพราะยังมีปัจจัยของความแปรปรวนมากมายหลายด้านที่ยังเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา
หมอที่ติดตามเรื่องโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากอู่ฮั่นบอกว่า สถานการณ์การระบาดปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า dynamic
ความจริงในแง่เศรษฐศาสตร์การคาดเดาสภาวะเศรษฐกิจจากนี้ไปก็คงจะ dynamic ไม่แพ้กัน
เพราะปัจจัยตัวเลข สถิติ การคาดหวัง ความกลัว ความตื่นตระหนกมาประดังประเดใส่กันอย่างจ้าละหวั่น
ไม่มีใครสามารถจะอ้างทฤษฎีไหนมาบอกว่า วิธีคิดคำนวณของตัวเองถูกกว่าหรือแม่นยำกว่าของใครทั้งนั้น
เอาแค่ตัวเลขคาดการณ์ว่าอัตราโตผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของไทยในปีนี้ท่ามกลางกระแสพายุจากทุกๆ ด้านน่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ก็ยังไม่มีใครกล้าวิเคราะห์ด้วยความมั่นใจนัก
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" เผยแพร่บทวิเคราะห์กรณีผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คาดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้จะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจจีนราว 3 แสนล้านหยวน หรือ 1.298 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน = 4.329) ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP จีนทั้งปี
ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ที่ 5.5-5.9% โดยผลกระทบหลักๆ จะอยู่ในภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว
รายงานนี้บอกว่าความเสียหายจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่าส่วนใหญ่จะกระทบเศรษฐกิจจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน (1 สัปดาห์) ราว 2.15 แสนล้านหยวน หรือ 9.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด
นั่นเท่ากับ 16% ของมูลค่าเงินที่หมุนเวียนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคในปี 2562 ส่วนผลกระทบอีก 8.5 หมื่นล้านหยวนจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของเดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกด้วยว่า เมื่อมองไปข้างหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งในจีนและนอกประเทศจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีตัวแปรหลักที่ต้องจับตาอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
1.ระยะเวลาและความรุนแรงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จุดเริ่มต้นของการระบาดอยู่ในช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มักมีการแพร่กระจายของโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ความน่าจะเป็นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังมีอยู่สูงไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน
นอกจากนี้ การควบคุมการแพร่ระบาดโรคของทางการจีนที่เข้มข้นขั้นสูงอาจไม่สามารถบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม เช่นความไม่พอใจของผู้คนในเมืองที่ถูกกักบริเวณอาจทวีความรุนแรงขึ้น กิจกรรมในภาคส่วนอื่นของสังคมอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น อย่างเช่นภาคการศึกษา
แต่หากการแพร่ระบาดยาวนานเกิน 3 เดือน โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 จะลงไปต่ำกว่า 5.0% ก็คงจะมีมากขึ้นตามลำดับ
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงที่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรค เพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่จำกัด หลังจากปี 2562 ทางการจีนขาดดุลงบประมาณในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 5% ของ GDP
หากเปรียบเทียบกับช่วงการระบาดของ SARS ในจีนปี 2546 สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อตัวเลข GDP ของจีนอยู่ที่เพียงราว 2.1% เท่านั้น
ถ้าเศรษฐกิจจีนหดตัวต่ำกว่า 5% ปีนี้ ผลต่อเศรษฐกิจไทยย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เริ่มมีการประมาณการว่าในภาพที่ดีที่สุด อัตราโตของไทยอาจจะยังรักษาอยู่ที่ระดับ 2.8%
แต่เริ่มมีบางสำนักพยากรณ์ว่าหากได้ 2.5% ก็ต้องถือว่าโชคดีแล้ว
ขณะเดียวกันนักวิจัยจาก TDRI ดร.กิริฎา เภาพิจิตร กล่าวในงานสัมมนาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะต่ำกว่า 2% ก็เป็นได้
แต่ไม่ว่าจะสูงกว่าหรือต่ำกว่า 2% สัญญาณค่อนข้างชัดแล้วว่าไทยจะต้องเตรียมแผนการตั้งรับและรุกอย่างเข้มข้น
แผนฉุกเฉินด้านการแพทย์เท่านั้นไม่พอ ต้องมีแผนฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจและปากท้องด้วยจึงจะ "เอาอยู่" จริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |