คนกรุงอย่าชะล่าใจ ฝุ่นจิ๋วกลับมาท่วมเมืองปริมาณสูงกว่าเมื่อวันอาทิตย์เกือบทุกพื้นที่ ระบุตัวการสำคัญมาจากปัญหาการจราจร กทม.สั่งงดการก่อสร้าง รวมทั้งรถไฟฟ้า 7 สาย เป็นเวลา 3 วัน 4-6 ก.พ.นี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดคุณภาพอากาศ 56 สถานี ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 42-77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมเพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่ จากเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) จำนวน 53 สถานี ได้แก่ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ, ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ, แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ, แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ, ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ, แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ต.บางกรวย อ.บางกรวย นนทบุรี, ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด นนทบุรี, ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.บางโปรง อ.เมือง สมุทรปราการ, ต.ตลาด อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร
ส่วนฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ตรวจพบค่าระหว่าง 67-123 มคก./ลบ.ม. ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานที่บริเวณแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ขณะที่สถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจพบค่าระหว่าง 20-83 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ตาก, ต.ในเวียง อ.เมือง น่าน, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง พะเยา, ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.นาจักร อ.เมือง แพร่
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ. ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกสถานีจากเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยมาจากสภาพการจราจร จากรายงานของ บก.จร. และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ iTIC รายงานว่า การจราจรหนาแน่นและติดขัดตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยา มีลมสงบและลมอ่อนตั้งแต่ช่วงค่ำเมื่อวาน ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัว
นายประลองกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้ร้บผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ
ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ bangkokairquality.com
ที่ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ กทม. 2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นางจินดารัตน์ ชโยธิน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง และนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต คณะโฆษกของ กทม. แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2563 ว่า ในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่า ระยะนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความกดอากาศสูงเข้ามาปกคลุม โดยเฉพาะในช่วงเช้าถึงเที่ยง ประกอบกับลมมีกำลังอ่อนลง ทำให้ไม่สามารถกระจายฝุ่นในพื้นที่ออกไปได้ ดังนั้นในช่วง 2-3 วันหลังจากนี้ ค่าฝุ่นละอองจะมีปริมาณสูงขึ้น
ผู้แถลงระบุว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการตรวจจับรถควันดำ โดยตั้งแต่ ต.ค.62-ม.ค.63 สามารถตรวจจับรถควันดำได้ 29,513 คัน เฉพาะวันที่ 31 ม.ค.63 สามารถตรวจจับรถควันดำได้ 520 คัน มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง การประสาน ขสมก. เพื่อล้างท่อไอเสียของรถร่วมบริการทั้งหมด โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มาตรการประสานกรมโรงงานเพื่อตรวจปล่องของโรงงานไม่ให้ปล่อยฝุ่นละออง หากพบว่ามีการปล่อยฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะสั่งให้หยุดทำงานเพื่อแก้ไขทันที
"อย่างไรก็ดี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเห็นว่าการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดมีส่วนทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองได้เช่นกัน ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการก่อสร้างทั่วไป ดังนั้นจึงมีมติสั่งการให้หยุดการก่อสร้างในกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละออง ตั้งแต่วันที่ 4-6 ก.พ. รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการก่อสร้างอาคารสูง" พล.ต.อ.อัศวินกล่าวและว่า กทม.จะดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การติดสปริงเกลอร์พ่นละอองน้ำ และการฉีดน้ำล้างถนน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |