นิทรรศการภาพถ่ายตามรอย ร.5 ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ภายในศุลกสถาน ย่านเจริญกรุง พื้นที่หลักจัดงาน
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week ไม่เคยทำให้ผู้มาเยี่ยมชมผิดหวัง เมื่อได้เห็นผลงานดีไซน์เด่นๆ ให้ความรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ ปีนี้กลับมาใช้งานออกแบบปลุกย่านเจริญกรุง ชุมชนเก่าแก่ของไทยให้ตื่นขึ้นมามีสีสันด้วยงานที่กลมกลืนกับพื้นที่อีกครั้ง ภายใต้การผลักดันของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย ร่วมนำเสนอไอเดียภายใต้ธีม “Resilience: New potential for living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” สื่อการออกแบบเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อน พัฒนา ปรับ เปลี่ยนความคิด และคุณภาพชีวิตของคนทั้งเมืองได้
ปีนี้มีงานดีไซน์โลดแล่นไปตามเส้นทางในพื้นที่ชุมชนและจัดแสดงกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นภายในและภายนอกอาคาร TCDC ที่อยู่ในบริเวณเดียวกับอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก, ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย, ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย, ศุลกสถาน อาคารประวัติศาสตร์อดีตโรงเก็บภาษีริมน้ำเจ้าพระยา, อาคารริมน้ำเจ้าพระยาทรงนีโอคลาสสิก, ที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้า และมัสยิดชุมชนฮารูณ อายุกว่า 100 ปี ความพิเศษ ปีนี้ขยายพื้นที่จัดงานไปยังสามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย โดยสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้-9 กุมภาพันธ์ 2563
"ศุลกสถาน" อาคารประวัติศาสตร์คู่ย่านเจริญกรุง อีกพื้นที่ไฮไลต์
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า จากการจัดงาน 2 ปีที่ผ่านมาในย่านเจริญกรุง พื้นที่หลักจัดเทศกาลมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วไม่น้อยกว่า 400,000 คน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว การลงทุนใหม่ๆ และการเติบโตของชุมชนที่มีการต่อยอดของสินค้าเก่าแก่ภายในชุมชน ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการให้บริการ ผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะกับปัจจุบันมากขึ้น หนึ่งในพื้นที่ไฮไลต์ของงานอย่าง ศุลกสถาน ซึ่งปิดมานานนั้น มีชีวิตขึ้นอีกครั้งจากเทศกาลนี้ ก่อนอาคารจะได้รับการบูรณะใน 2-3 ปีข้างหน้า บวกกับในพื้นที่ที่ได้ขยายการออกแบบเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ภาพของย่านสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เด่นชัด มีศักยภาพมากขึ้นในทุกปี
ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะขอพาไปศุลกสถาน อาคารอายุกว่า 130 ปีคู่ย่านเจริญกรุง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่ทำการเก็บภาษี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสถานีตำรวจน้ำและสถานีดับเพลิง ปัจจุบันอาคารนี้อยู่ระหว่างการบูรณะ และไม่ได้เปิดให้ใครเข้ามานาน แต่ช่วงเทศกาลงานออกแบบประชาชนเข้าชมได้เป็นพิเศษ เพราะมีนิทรรศการภาพ Hundred Years Between ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนิทรรศการภาพถ่ายจำนวน 19 ภาพ จัดแสดงครั้งแรกภายในอาคาร โดยเป็นผลงานจากการเดินทางตามรอยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ เมื่อปี พ.ศ.2450
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ร่วมเสนอผลงานในอาคารประวัติศาสตร์
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเดินทางว่า ได้ศึกษาค้นคว้าพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา อย่างละเอียด ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ไกลบ้าน" นิทรรศการนี้ได้หยิบยกจดหมายบางฉบับที่รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนถึงพระราชธิดามาร้อยเรียงไปกับจดหมายที่ตนนั้นได้เขียนถึงรัชกาลที่ 5 ประกอบกับภาพถ่ายในสถานที่ต่างๆ ที่ตนได้ตามรอยพระองค์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 เป็นเวลา 11 วัน สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ เพียงแต่ซับซ้อนด้วยเรื่องของเวลา ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นแนวภาพแลนด์สเคป และไม่คิดมาก่อนว่าจะได้นำมาจัดนิทรรศการ
"นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ภาพถ่ายสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของอาคารแห่งนี้ ซึ่งได้เคยจัดงานเลี้ยงตอนรับเมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ กลับจากนอร์เวย์ครั้งที่ 2 ภาพมีการปรับแต่งสีเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับโทนสีของอาคาร นิทรรศการนี้เน้นโทนสีเขียว ฟ้า และเทา ผสานกับการใช้แสงจากธรรมชาติ ที่ไม่ว่าจะมาชมงานในเวลากลางวันหรือกลางคืน จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน" ท่านผู้หญิงสิริกิติยากล่าว
ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเล่าต่อว่า ในฐานะที่เป็นโหลน จะสื่อสารให้เห็นถึงธรรมชาติที่โอบล้อมเรา ชั้นแรกเกริ่นนำและแสดงจดหมายที่เราได้เขียนถึงพระองค์ เมื่อได้ใช้เส้นทางเดียวกับที่พระองค์เคยเสด็จฯ ซึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก และได้เห็นถึงพลังของธรรมชาติที่ผู้คนในนอร์เวย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างใกล้ชิด ถัดมาเป็นส่วนของอาคารที่มีร่องรอยขุดค้น ซึ่งเป็นฐานของบ้านจีน ก่อนจะถูกสร้างเป็นศุลกสถาน แสดงภาพป่ากลางออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ เมื่อเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกสงบ ใช้แสงธรรมชาติเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของภาพ
นิทรรศการภาพ Hundred Years Between
ขึ้นมาถึงส่วนของชั้นสอง ชั้นนี้ท่านผู้หญิงสิริกิติยาบอกว่ามีความเป็นตัวเองมากที่สุด ด้วยโทนสีทำให้รู้สึกนุ่มนวล เบาบาง และรู้สึกส่วนตัว เป็นภาพเมืองกู๊ดวังเงน (Gudvangen) ซึ่งพระองค์เคยเสด็จฯ และทรงสงสัยเรื่องราวในอดีต เพราะเมืองนี้เคยชื่อว่า วีกกิ้งวัง (Viking Vang) พระองค์ได้ถ่ายรูปโรงแรมวีกกิ้งวังนี้เก็บไว้ แต่ปัจจุบันโรงแรมถูกทิ้งร้าง และชั้นสาม ที่ต้องการถ่ายทอดให้เห็นโครงสร้างของอาคาร เพื่อให้เรื่องราวเดิมยังคงอยู่ และสอดคล้องไปกับภาพ โดยห้องตรงกลางจะไปจดหมายที่เขียนเล่าถึงเมืองนอร์ทเคป เดินทางไปยังเกาะเล็กๆ ที่อยู่ออกไปจากเกาะสการ์สโวก เมืองที่พระองค์เคยเสด็จฯ ทรงเขียนถึงเมืองนี้ว่า คนนอร์เวย์มีความสามารถในการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อีกห้องย้อนกลับช่วงรัชสมัยของพระองค์ด้วยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ร.5 จำนวน 25 ภาพ แสดงผ่านวิดีโอเชื่อมด้วยจดหมายที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันในสถานที่เดียวกัน ผู้เข้าชมจะเข้าใจประวัติศาสตร์และธรรมชาติมากขึ้นด้วย
ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าชมได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between ในวันที่ 1-5 กุมภาพันธ์ เปิดเข้าชมรอบแรก 11.00 น. และรอบสุดท้าย 20.30 น. และวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2563 เปิดเข้าชมรอบแรก 11.00 น. และรอบสุดท้าย 21.30 น. เข้าชมได้เพียงรอบละ 20 คนเท่านั้น
มาต่อที่งานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมบริเวณอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง อย่าง หลุมหลบภัยทางอากาศ สร้างโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้ปรับพื้นที่ตรงส่วนทางเดินบันได ออกแบบแบบพาวิเลียนทรงออร์แกนิกให้เป็นพื้นที่สีเขียวเต็มไปด้วยต้นไม้สำหรับกรองอากาศ ผู้คนที่เดินทางเข้ามาพักจะได้พักอย่างสบายกาย ไร้กังวลเรื่องปัญหาเรื่องฝุ่นและอากาศร้อน
ดีไซน์รักษ์โลก "หลุมหลบภัยทางอากาศ" อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง
อีกหนึ่งผลงาน Everlasting Forest by GC พิบูลย์ อมรจิรพร Director เล่าว่า ด้วยการออกแบบที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัสดุ คือ Fiberglass Reinforced Polymer (FRP) หรือไฟเบอร์กลาสที่เคลือบด้วยพอลิเมอร์ ที่คล้ายเหล็กเส้น แต่คุณสมบัติดีกว่าในการรับแรงดึง และยังสามารถผลิตให้ยาวเท่าไหร่ก็ได้ น้ำหนักเบา แม้จะม้วนมาก็สามารถคลี่ให้ตรงได้ง่าย ซึ่งเป็นวัสดุที่ผลิตในไทย และนิยมนำไปใช้งานในการผสมกับคอนกรีตในการก่อสร้าง และงานออกแบบอื่นๆ เกิดแนวคิดนำมาสร้างให้เป็นอุโมงค์คลุมทางเดิน มีป่าอยู่ตรงกลาง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อคนอย่างเดียว แต่ทำเพื่อป่าด้วย
จับคู่ผลงานดีไซน์ชาวฝรั่งเศสกับไทยแสดงที่บ้านพักตำรวจน้ำ
ต่อที่บ้านพักตำรวจน้ำ ซึ่งใช้จัดแสดงผลงานการออกแบบในโครงการ D17/20 : Design in Southeast Asia โดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2562 โดยเป็นฝีมือการออกแบบจับคู่ทำงานระหว่างนักออกแบบชาวฝรั่งเศสและนักออกแบบไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีผลงานกว่า 100 ผลงาน อาทิ ไทยจะเน้นสินค้าย้อมคราม ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน หรืออินโดนีเซียมีงานออกแบบเครื่องใช้ในบ้าน อย่าง โคมไฟที่ตกแต่งด้วยลายผ้าบาติก และเวียดนามเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีดีไซน์เก๋ๆ
เดินลัดเลาะตามถนนไปต่อที่ O.P. Place Shopping Plaza สถานที่จัดแสดงงานออกแบบจากหลากหลาย เริ่มกันที่นิทรรศการ E!Room โดยบริษัท Asahi Kasei Microdevices จากประเทศญี่ปุ่น ที่จัดแสดงงานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยการนำเสนอการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าในการผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยนวัตกรรม Sensor-less Sensor ที่แสดงให้เห็นถึงพลังงานที่ผลิตจากดิน ขนมปัง ผลไม้ น้ำ หรือวัสดุอื่นๆ
นวัตกรรม Sensor-less Sensor ในนิทรรศการ E!Room
ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น BANGKOK SEALANDIA : SUMPHAT Gallery ได้ดีไซน์รูปแบบชีวิตในอนาคตปี 2050 ที่บ้านเหลียวแล ตลาดน้อย เขยิบไปที่ย่านทองหล่อ-เอกมัย จัดกิจกรรมธีม เพื่อนบ้านสร้างสรรค์ ผสมผสานระหว่างความเก่าแก่-ประวัติศาสตร์ และธุรกิจคลื่นลูกใหม่ ถัดไปที่ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ โดยกลุ่มนักออกแบบนักวิจัยในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ร่วมกับ CEA รวมตัวกันเป็นกลุ่ม Tinkering Pot เสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อารีย์-ประดิพัทธ์ เพื่อพัฒนาต้นแบบในพื้นที่จริงใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การทำงาน การกินอยู่ และการเดินทางในย่าน ส่วนพื้นที่ชุมชนสามย่านสร้างสรรค์ผ่านผลงานอินสตอลเลชันดอกไม้ ในชื่อ PHKA: KARMA สื่อสารถึงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาเร่งด่วน
สนุกสนานกับผลงาน Everlasting Forest by GC ไปรษณีย์กลาง
ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ยังมี 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. Showcase & Exhibition 2.Talk & Workshop 3. Creative District 4. Event & Program และ 5. Creative Market นอกจากนี้ยังมี Pinkoi Market in Bangkok 2020 รวบรวมงานดีไซน์จากไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ThaiGa Creative Market 2020 ตลาดสินค้าจากสตูดิโอออกแบบและนักสร้างสรรค์ไทย Meta Food market ตลาดอาหารกลายพันธุ์ การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับอาหาร ตั้งแต่วิธีการคิด และผลิต เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 เปิดให้ร่วมกิจกรรมถึงวันที่ 9 ก.พ.นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมดีๆ ได้ทางเว็บไซต์: bangkokdesignweek.com เฟซบุ๊ก: BangkokDesignWeek อินสตาแกรม: bangkokdesignweek #BKKDW2020 และ #bangkokdesignweek.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |