Brexit ของจริงมาแล้ว: แล้วมันหมายความว่าอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

             คนอังกฤษที่ตื่นเต้นยินดีก็มาก แต่ที่ร้องห่มร้องไห้ก็ไม่น้อยเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ

                นั่นคือเมื่อสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อ 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 (06.00 น. วันที่ 1 ก.พ.2020 เวลาประเทศไทย) หลังจากเป็นสมาชิกอียูมา 47 ปี และต่อรองเจรจากันมา 3 ปีอย่างมีสีสันและร้อนแรงตลอด

                เห็นภาพธง Union Jack ของสหราชอาณาจักร ถูกปลดลงจากหน้าอาคารที่ทำการของสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์แล้วบางคนก็ใจหาย แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็ถอนหายใจอย่างโล่งอก

                คนอังกฤษบางคนถึงขั้นประกาศว่านี่คือการได้ “เอกราช” คืนมาอย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรปเสียที คนรุ่นเก่าต้องการออกจากอียู เพราะมีความรู้สึกอึดอัดกับการที่ต้องทำตามกฎกติกาของอียูหลายเรื่องที่คนอังกฤษไม่เห็นด้วย

                แต่คนรุ่นใหม่อยากให้อยู่ต่อ เพราะต้องการเป็น “คนยุโรป” มากกว่าเพียงแค่เป็น “คนอังกฤษ”

                แต่ไม่ใช่ว่าพอพ้นห้าทุ่มของวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทันที

                เอาเข้าจริงๆ ทุกอย่างยังเกือบจะเหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเจรจาในรายละเอียดของการ “หย่าร้าง” ครั้งนี้อีกมากมาย

                จากนี้ไป 11 เดือน (ถึงสิ้นปีนี้) จะเป็นช่วงจังหวะเปลี่ยนผ่าน อังกฤษกับอียูยังจะต้องเจรจาในหัวข้อที่ยังตกลงกันไม่ได้

                เรื่องใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นประเด็นการค้าการขาย

                แต่จากวันนี้ถึงสิ้นปี การค้า การลงทุน การเดินทางของผู้คน และเคลื่อนย้ายสินค้า ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมจนกว่าจะพ้น ช่วงที่เรียกว่า “transition period.”

                การตัดสินใจเลิกกันมันง่าย ที่ยากคือการเจรจาต่อรองว่าใครจะได้จะเสียอะไร

                พูดง่ายๆ คือเมื่อไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว แต่ยังจะต้องคบหากันต่อไปฉันมิตรนั้นมีเรื่องจะต้องคุยกันมากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกา และที่เป็นความจำเป็นในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน มีอะไรกระทบฝ่ายหนึ่งก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                แต่ที่หมดลงทันทีคือตัวแทนของอังกฤษในองค์กรของสหภาพยุโรปทั้งหลายจะหมดสภาพทันที ไม่ว่าจะเป็น European Council, European Parliament ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งคณะฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป

                นั่นหมายความว่าอังกฤษหมดสิทธิ์ในการร่วมคิดร่วมกำหนดชะตากรรมของสหภาพยุโรป

                ในทางกลับกันสหภาพยุโรปก็ไม่สามารถบังคับให้อังกฤษต้องทำตามมติของอียูได้อีกต่อไปเช่นกัน

                มีคำถามว่า จากนี้ไปคนอังกฤษและคนอียูเดินทางไปมาหาสู่กันจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่

                คำตอบคือ ระเบียบการเดินทางเข้า-ออกระหว่างกันก็ยังเหมือนเดิมจนถึงสิ้นปีนี้...จนกว่าจะเจรจาตกลงกันได้ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากที่จะไม่คุ้นชินในระยะแรก

                คำถามต่อมาก็คือว่า สิทธิพลเมืองของคนอังกฤษกับอียู่ในเรื่องการอาศัยและทำงานจะเป็นอย่างไร

                คำตอบคือ ทุกอย่างยังได้รับความคุ้มครองเหมือนเดิม...ยกเว้นเสียแต่ว่าใครที่เดินทางออกนอกพื้นที่นั้นๆ เกิน 5 ปีติดต่อกันจึงจะเข้าข่ายกติกาใหม่

                ที่น่าสนใจคือ การที่อังกฤษเดินออกจากบ้านหลังใหญ่ที่ชื่ออียูนั้นจะต้องจ่ายค่าเสียหายด้วย

                ตกลงกันว่าอังกฤษจะต้องจ่ายเงินให้สหภาพยุโรปเพื่อสลัดตัวเองออกจากความร่วมมือประมาณ 32.8-39 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.3 ถึง 1.5 ล้านล้านบาท)

                และมีภาระต้องทยอยจ่ายเงินไปจนถึงปี 2059 

                คนอังกฤษบ่นดังๆ ว่า “ค่าอิสรภาพทำไมถึงแพงอย่างนี้?”

                สหภาพยุโรปต้องยืนยัน “ค่าปรับ” สำหรับการหย่าร้างก็เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างให้สมาชิกอีก 27 ประเทศที่อาจจะคิดโบกมืออำลาเหมือนกันถ้าการเลิกรากันทำได้ง่ายๆ

.               หัวข้อใหญ่ๆ ที่ต้องเจรจาลงรายละเอียดมีมากมายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบศุลกากรระหว่างกันที่เรียกว่า FTA Custom Unions หรือ Single Market (ตลาดเดียวของอียู)

                และยังต้องคุยกันเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย, การแบ่งปันข้อมูลและความมั่นคง, มาตรฐานการบินและความปลอดภัย, การประมงข้ามเขตกันและกัน รวมไปถึงเรื่องการไฟฟ้า, แก๊ส และการออกใบอนุญาตต่อกัน

                ที่น่าจะอ่อนไหวที่สุดในเรื่องที่กระทบการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายคนคือ จะเอายังไงกับความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรกับประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของอียู

                มีความกลัวกันว่าถ้าไม่บริหารความสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ดี ความรุนแรงอย่างที่เคยเป็นปัญหาหนักหน่วงในอดีตอาจจะกลับมาหลอกหลอนหรือไม่

                ที่เป็นข่าวตลอดคือ ข้อเสนอทางออกที่เรียกว่า BackStop

                แนวคิดนี้คือการเสนอว่าขอให้ไม่มีด่านระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับประเทศไอร์แลนด์ไปก่อน

                จากนั้นก็ลากเส้นเขตแดนเสมือนกั้นระหว่างเกาะอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ สินค้าไหนออกจากเกาะอังกฤษก็ต้องเสียภาษี

                แต่หากสินค้าใดบริโภคในไอร์แลนด์เหนือ ไม่ได้ข้ามไปประเทศไอร์แลนด์ ก็ใช้วิธีเอาเงินภาษีมาเคลียร์กันภายหลัง

                ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในหลายมิติ

                คนไทยต้องคอยติดตามผลการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร, ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับอังกฤษ และข้อตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่ขณะนี้กำลังพูดจาลงรายละเอียดอยู่

                ทุกอย่างกำลังปรับเปลี่ยน ไม่มีอะไรอยู่นิ่งได้ ไทยต้องตามให้ทันเพื่อรักษาสถานภาพของการ “ขี่อยู่บนยอดคลื่น” ตลอดเวลา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"