การพัฒนาเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ทำให้เดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของผลที่จะตามมาทั้งดีและร้าย หรือผู้ที่จะได้รับการพัฒนา ประชาชนในประเทศ แนวทางการเดินหน้าและการเข้าถึง รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนาอะไรที่เป็นโครงการใหญ่ๆ ประเทศจะเร่งให้เสร็จเร็วๆ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงข้างทาง ซึ่งค่อยมาเก็บกวาดทีหลัง น้อยครั้งที่จะมีแผนรองรับผลเสียที่จะตามมา โดยเฉพาะกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหา ข้อจำกัด รวมถึงเงินที่จะต้องศูนย์เสียไปในการแก้ไขด้วย
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตและขับเคลื่อนโดยการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ประเทศไทยมีการใช้พลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาคเศรษฐกิจเสียอีก โดยพลังงานส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุด นอกจากนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำ หรือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น การลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ยังมีอยู่ให้เห็นเรื่อยๆ
การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในแบบฉบับรักษ์โลกจึงเกิดขึ้น และได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมระดับโลกด้วย โดยที่เห็นได้ชัดคือเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ภายใต้โมเดลการพัฒนาสีเขียว มีที่มาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย
โดยมีหลักการที่สำคัญคือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งน้ำ ทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับการขจัดปัญหาความยากจน โดยมีการดำเนินการเชื่อมโยงหลายมิติเข้าด้วยกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน ถ้าประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ จะสามารถยกระดับมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยให้ไปสู่มาตรฐานของโลก และสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้
ขณะเดียวกัน นางสาวกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการ ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ได้เคยกล่าวไว้ว่าโมเดลพัฒนาแบบเดิมๆ ที่เป็นสีเทามักบอกได้ว่า การเติบโตของธุรกิจจำเป็นต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงในโลกยุคใหม่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
โดยการพัฒนาตามโมเดลสีเขียว องค์กรธุรกิจจะสามารถสร้างกำไรระยะยาวแก่ธุรกิจได้ อีกทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนและสอดรับกับกระแส “การค้าสีเขียว” ในเวทีการค้าโลก โดยหัวใจสำคัญของการค้าสีเขียวคือการกำหนดกติกาและบทลงโทษสำหรับประเทศที่ผลิตสินค้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษซากของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและฉลากพลังงาน ฉลากเขียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบสีเขียวในปัจจุบันจะได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ก็ยังการันตีไม่ได้ว่าทุกแห่งจะดำเนินตาม ซึ่งถ้าจะให้เกิดขึ้นจริงจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายๆ ด้าน ให้เกิดความนิยมสร้างความต้องการให้กับตลาด สำหรับภาครัฐ ควรส่งเสริมนโยบายการเงินและการคลังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้หมายถึงเรื่องมลพิษทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เพราะมันครอบคลุมถึงผลกระทบของการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หลายครั้งที่เราจะเห็นการก่อสร้างอะไรบางอย่างซึ่งต้องมีการทำลายของเดิมทิ้งก่อน นอกจากจะสร้างผลกระทบทางด้านมลพิษแล้วยังทำให้เกิดความวุ่นวายในพื้นที่นั้นๆ กระทบความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมโดยกว้าง
ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐก็น่าจะเข้าใจและหาทางแก้ไขได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้ประเทศไทยพูดได้อย่างเต็มปากว่ามีการพัฒนาในรูปแบบสีเขียวทุกมิติอย่างแท้จริง.
ณัฐวฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |