รพ.พระปกเกล้า ต้นแบบปฏิรูปพลังงานสะอาด


เพิ่มเพื่อน    

ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคารอายุรศาสตร์ของ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 
 

 

     โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว เป็นเพียงโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ในปัจจุบันโรงพยาบาลพระปกเกล้าถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขยายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 755 เตียง แต่ในความเป็นจริงมีคนไข้ต้องดูแลมากถึง 900 เตียง ประกอบด้วยอาคารรักษาพยาบาลทั้งหมด 43 หลัง ผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการวันละ 1,903 ราย ผู้ป่วยในนอนเฉลี่ย 671 รายต่อวัน และเปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการให้บริการทั้งชาวไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา
    ภาระค่าไฟฟ้าของ รพ.พระปกเกล้า ปี 2561 สูงถึง 38 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยเดือนละ 3.2 ล้านบาท เพื่อประหยัดงบประมาณ โรงพยาบาลแห่งนี้พยายามรณรงค์และเดินหน้ามาตรการประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หรือระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารให้กับโรงพยาบาลผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ ซึ่งทำหน้าที่ระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาด้วยความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคม 
    หลังจากลงมือทำจริงในพื้นที่ ล่าสุด กองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซร่วมเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7 ของประเทศไทย รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานพิธี 
    ด้วยการระดมทุนจากประชาชน ทำให้กองทุนสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล โดยเริ่มต้นที่ขนาด 30 กิโลวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลปีละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของภาคตะวันออก และหากมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย จะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว สามารถนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าได้ไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป นอกจากนี้ ยังลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวการก่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ อันตรายต่อชีวิต  

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.พระปกเกล้า 


    นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการ รพ.พระปกเกล้า กล่าวว่า รพ.พระปกเกล้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น จากข้อมูลในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 38 ล้านบาทเศษ ตกเฉลี่ยเดือนละ 3.2 ล้านบาท และอีกไม่นานโรงพยาบาลจะเปิดให้บริการอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง เป็นอาคาร 10 ชั้น คาดว่าจะมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี การระดมทุนของกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปหรือระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ทำให้ รพ.พระปกเกล้าเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7 ที่มาจากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์
    พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ในฐานะประธานกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดรับบริจาคผ่านบัญชีชื่อ “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” มาตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 จนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารของโรงพยาบาลแล้ว 7 แห่ง รวม รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรีแห่งนี้ด้วย สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร รพ.พระปกเกล้านี้ ตั้งแต่วันที่ 4–6 ม.ค.2563 รวมระยะเวลา 3 วัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้  โดยใช้แผงโซลาร์ชนิดโมโน ขนาด 405 วัตต์ จำนวน 90 แผง พร้อมอินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงตามที่กองทุนแสงอาทิตย์กำหนด ได้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 36.45 กิโลวัตต์ ใช้งบประมาณตาม
สัญญาว่าจ้างทั้งสิ้น 1,050,000 บาท หรือเฉลี่ยวัตต์ละ 28.8 บาท 
    ประธานกองทุนแสงอาทิตย์กล่าวต่อว่า ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดนี้จะช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และยาวนานถึง 25 ปี ตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าทั้งหมดของโรงพยาบาล แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจะสานต่อเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นต่อไป และหากโรงพยาบาลมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย จะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว สามารถจะนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าได้ไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป อย่างที่ได้เห็นผลมาแล้วจาก 6 โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 
    ด้าน จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย ไม่ใช่เพราะขาดศักยภาพ แต่มาจากการปิดกั้นทางนโยบาย โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อการนำมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน หรือ net metering มาใช้ เป็นระบบหักลบกลบหน่วย โดยไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์รูฟสามารถนำมาตอบสนองการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน โหลดไฟฟ้าได้ทันที ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินเก็บเป็นเครดิตนำมาใช้หักลบกลบหน่วยได้ในรอบบิลถัดไป และมีมูลค่าเท่ากับราคาขายปลีก 
    "ไทยไม่มีการผลักดันให้มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์บ้านผลิตไฟฟ้าในระดับบ้านเรือน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน และสามารถขายไฟฟ้าเข้าสายส่งหลักในราคาที่เป็นธรรม ขณะนี้ประชาชนยังคงร่วมลงชื่อกว่า 5,000 รายชื่อแล้ว ร่วมผลักดันให้คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.)นำมาตรการหักลบกลบหน่วยมาใช้ภายในปีนี้ ส่วนแผนนำร่องรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนยังมีการจำกัดโควตา" จริยา กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในประเทศไทย

 

เครดิตภาพถ่ายโดย เริงชัย คงเมือง/กรีนพีซ


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"