“International Art Exchange Show Thailand–USA 2020” "ศิลปินแห่งชาติ-อเมริกัน"โชว์ผลงาน


เพิ่มเพื่อน    

 

ศิลปินนานาชาติเวิร์กช็อปสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน
 

 

     นับเป็นโอกาสดีที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดกิจกรรม “ศิลปินแห่งชาติและนานาชาติสัญจร" กิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และผู้สนใจทั่วประเทศได้มีโอกาสใกล้ชิดเรียนรู้ศิลปะด้านต่างๆ กับศิลปินแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งปีนี้มีศิลปินแห่งชาติเข้าร่วมทั้งหมด 26 ท่าน อาทิ วนิดา พึ่งสุนทร, ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก, ศ.ดร.ปรีชา เถาทอง, ศ.เดชา วราชุน, ธงชัย รักปทุม, ศ.วิโชค มุกดามณี, ปัญญา วิจินธนสาร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, รศ.ธัญญา สังขพันธานนท์, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ชมัยภร บางคมบาง ฯลฯ
    แต่ปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา โดย สวธ.ได้ร่วมกับสภาศิลปกรรมไทย สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรมและสื่อผสม) และเครือข่ายศิลปินระหว่างประเทศ แอลเออาร์ตคอร์ เชิญศิลปินนานาชาติกว่า 10 ท่านจากประเทศสหรัฐอเมริกา โปแลนด์ อิตาลี เพื่อมาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานศิลปะกันระหว่างศิลปินเอง และเยาวชนที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งศิลปินยังได้สร้างสรรค์และนำผลงานศิลปะที่โดดเด่นกว่า 30 ผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการ “International Art Exchange Show Thailand–USA 2020” ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย จัดให้ชมจนถึงวันที่ 9 ก.พ.นี้ 

 

ผลงานของ Joanna Sokolowski ศิลปินสาวจากโปแลนด์
 


    ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และประธานสภาศิลปกรรมไทย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สภาศิลปกรรมไทย สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ สวธ. และสมาคมศิลปะแอลเออาร์ตคอร์ จัดนิทรรศการนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะระหว่างหอศิลป์ หน่วยงานด้านศิลปะระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาส ส่งเสริม และสนับสนุนศิลปินไทยสู่ระดับนานาชาติ โครงการนี้ได้ริเริ่มมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว และมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับปี 2563 นี้ คณะกรรมการสมาคมศิลปะแอลเออาร์ตคอร์ได้คัดเลือกศิลปินอเมริกาจำนวน 8 คน ศิลปินพิเศษจำนวน 2 คน จากสาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐโปแลนด์ โดยคณะศิลปินนานาชาติได้เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงปลายเดือน ม.ค.2563 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมศิลปินแห่งชาติและนานาชาติสัญจร จัดแสดงนิทรรศการร่วมกับฐาปนันดรศิลปิน นายชวน หลีกภัย ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และในเดือน มิ.ย.2563 นี้ ศิลปินไทยจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์แอลเออาร์ตคอร์ นครลอสแองเจลิส ซึ่งก็หวังว่าโครงการนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านเครือข่ายศิลปะระหว่างทั้งสองประเทศนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
    ด้าน Edem Elesh (เอเด็ม อีเล็ช) ผู้แทนเครือข่ายศิลปินระหว่างประเทศ แอลเออาร์ตคอร์ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของอาจารย์กมล และ Lydia Takeshita ไดเร็กเตอร์ของแอลเออาร์ตคอร์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางรากฐานโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปินจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขยายไปยังระดับโลก สร้างเครือข่ายศิลปินที่อยู่เหนือขอบเขตของการเมืองแต่ละประเทศ สำหรับศิลปินทั้ง 10 ท่านที่มาร่วมในครั้งนี้มี คุณ James Finnegan (เจมส์ ฟิน เนแกน) เขาเป็นผู้สร้างงานศิลปะเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก เขาเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างเสียงหัวเราะ แล้วก็มีพลังบวกให้กับคนที่ได้พูดคุยกับเขาด้วย แล้วก็มี Josh Friedman (จอร์จ เฟรดเมน) เป็นศิลปินพิเศษอีกท่านหนึ่ง เพราะเขาเคยต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายมาก่อน ตอนนี้แข็งแรงมากขึ้นจนสามารถมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ งานของเขาสื่อถึงชีวิตที่ยากลำบาก ต่อมาคือ Anna Friesen (แอนนา เฟรเซน) แล้วก็ Velda Ishizaki (เวลดา อิชิซากิ) รวมถึงคุณ Gary Kious (แกรี คีออส) เป็นอดีตรองประธานสมาคม หัวหน้า ศิลปิน ช่างภาพ และเป็นทูตศิลปะผู้ยิ่งใหญ่ เขามาร่วมงานกับประเทศไทยเป็นครั้งที่สามแล้ว ต่อมาคือ Ann Phong (แอน พอง) เป็นทั้งศิลปิน อาจารย์ แล้วก็มีไฟทุ่มเทให้กับงานศิลปะมาก คุณ Astrid Francis (แอสทริด ฟรานซิส) และคุณ Joanna Sokolowski (โจอานนา โซโกโลว์สกี) เป็นศิลปินรับเชิญครั้งแรกในฐานะเครือข่ายศิลปะแอลเออาร์ตคอร์ รู้จักกันตอนทำโครงการแลกเปลี่ยนกับประเทศไทยเมื่อปี 2561 ในฐานะผู้แทนจากประเทศโปแลนด์ เขาเป็นนักเรียนทุน Fulbright มีบุคลิกสดใสร่าเริง มีผลงานที่น่าสนใจ มีชีวิตชีวา ต่อมาได้แก่ Carla Viperelli (คาร์ลา วิเปเรลลี) เป็นศิลปินที่รู้จักในลอสแองเจลิส ร่วมทำผลงานกับเราเรื่อยมา จะเห็นว่าศิลปินทุกท่านมีประสิทธิภาพในการเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้หลากหลายวัฒนธรรม ต้องขอบคุณ ดร.กมลที่ทำงานหนักตลอดเวลา มีการวางแผน กระตือรือร้นตลอดกับโครงการให้เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับเส้นทางบนสายศิลปะของพวกเรา

 

Ann Phong กับผลงานสื่อผสมเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


    สำหรับประวัติของศิลปินนานาชาติที่เข้าร่วม คนแรก Ann Phong (แอน พอง) คือศิลปินหญิงชาวเวียดนามผู้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เคยแสดงผลงานทั้งเดี่ยวและกลุ่มมามากกว่า 70 ครั้ง ผลงานของเธอจัดแสดงอย่างกว้างขวางในลอสแองเจลิส, ซานโฮเซ, ฮุสตัน, แวนคูเวอร์, ปารีส, ไทย, โซลและญี่ปุ่น เธอเป็นจิตรกรที่สร้างผลงานหลากหลายแบบ แต่ทุกผลงานแฝงไปด้วยการสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เธอกล่าวว่า ครั้งนี้ได้นำเอาผลงานสื่อผสมที่เล่าเรื่องของธรรมชาติมาจัดแสดง เป็นงานที่อยากจะแทนเสียงของธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่สามารถพูดได้ว่ารู้สึกอย่างไร ปลาพูดไม่ได้ ดอกไม้พูดไม่ได้ ยิ่งมีภัยธรรมชาติเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีความรู้สึก ในฐานะศิลปินจึงอยากจะเป็นตัวแทนพูดหรือส่งสารออกมาแทน โดยนำเอาขยะ ของเล่นที่หาได้รอบๆ บ้านมาสร้างผลงาน แสดงให้คนเห็นว่าขยะมีอยู่ทุกที่รอบตัว เพราะรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้เราต้องช่วยเหลือธรรมชาติแล้ว ที่แอลเอพบขยะเกลื่อน เยอะมาก เลยรู้สึกอยากจะถ่ายทอดเรื่องธรรมชาติออกมาผ่านผลงาน เป็นรูปดอกไม้ รูปปลาต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงในประเทศไทยมาแล้วในโครงการอันดามัน เมื่อปี 2014 เป็นโครงการเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
    “ การมาร่วมกิจกรรมกับไทยในครั้งนี้รู้สึกว่ามีคนให้ความสนใจกับผลงานเราพอสมควร ส่วนตัวชอบที่มีคนเข้ามาถามถึงแนวคิดผลงาน โดยส่วนหนึ่งถามว่า ‘คุณเป็นผู้หญิง ทำไมถึงได้สร้างงานชิ้นใหญ่ขนาดนี้’ ซึ่งเรามองว่าศิลปะไม่มีจำกัด และผู้หญิงสามารถทำได้ ผู้หญิงมีพลังบางอย่าง ผู้หญิงมีพลังพอที่จะส่งเสียงออกไปถึงปัญหาที่กำลังเผชิญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม” Ann Phong กล่าว

 

ผลงานประติมากรรมของ อ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2558


    ขณะที่ Joanna Sokolowski (โจอานนา โซโกโลว์สกี) ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินหญิงที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เธอเป็นศิลปินพิเศษจากโปแลนด์ ถือเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ภาพวาดและประติมากรรมของเธอมักจะเป็นเรื่องราวของธรรมชาติและมนุษย์ สื่อถึงความรู้สึกภายในจิตใจ ชีวิตจิตใจ เธอผสมผสานองค์ประกอบของความสมจริงเข้ากับการแสวงหาความรู้สึกที่แสดงออกทางอารมณ์สำหรับพลังแห่งการแสดงออก อย่างผลงานล่าสุดที่นำมาจัดแสดง โจอานนากล่าวว่า งานชุดนี้ชื่อว่า ‘เมโลดี้’ สื่อถึงความสวยงามของผู้หญิง การเคลื่อนไหวของหญิงสาวในแต่ละอิริยาบถ ผสานกับสีที่ปาดเปื้อนลงในแผ่นกระดาษที่มีสีสันสดใส ซึ่งมองแล้วสวยงาม แม้ว่าภาพของหญิงสาวที่วาดลงไปจะไม่สมบูรณ์แบบเป็นร่างเต็มตัว แต่ก็ยังคงมองเห็นถึงความสวยงามของหญิงสาว ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองไทยด้วย ตนเคยมาเมืองไทยบ่อยมาก ทุกครั้งมักจะพบเห็นความมีมนุษยสัมพันธ์อันดี ความน่ารัก อัธยาศัยดีจากชาวไทย เลยทำให้ผลงานมีสีสันสดใสแทนความน่ารักของคนไทย การได้ร่วมงานครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีมากที่ตนมีโอกาสได้พบกับศิลปินไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนแนวคิดทางด้านศิลปะกันอย่างไม่มีขอบเขต 

Josh Friedmen กับผลงานของที่สร้างสรรค์จากรอยไหม้ของธูป

 

   ด้าน Josh Friedmen (จอร์จ เฟรดแมน) ได้นำผลงานศิลปะที่เกิดจากการนำธูปมาปาดป้ายบนแผ่นผ้าผืนใหญ่ หากดมกลิ่นจะได้กลิ่นไหม้ของรอยธูปที่เจาะลงไป ซึ่งงานชิ้นนี้มาจากความรู้สึกเมื่อครั้งตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งร้าย แล้วต้องทำคีโมนานถึง 700 ชม. ซึ่งตอนนั้นมันให้ความรู้สึกร้อนไหม้คล้ายถูกไฟจี้ เลยเอาความรู้สึกนั้นถ่ายทอดลงบนผืนผ้าเป็นงานชิ้นนี้ ชวนมานิทรรศการ “International Art Exchange Show Thailand–USA 2020” ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 9 ก.พ.นี้ 
 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"