โกงลามถึงบนดอย! ใช้ชื่อขรก.เบิกแทน


เพิ่มเพื่อน    

   โกงถ้วนหน้า ทุจริตถึงดีเอ็นเอ ล่าสุดลามถึงดอย ป.ป.ท.ลงพื้นที่เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่อม งบประมาณตามโครงการพระราชดำริ 24 ล้าน ไม่ถึงมือชาวเขา แต่ถูกเบิกจ่ายในชื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่นแทน ด้าน "ลุงตู่"   ขู่ตรวจสอบพบติดคุกหมด 
    เมื่อวันที่ 22 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยมี พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วย พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ งบปี 2560 จำนวน 67 ล้านบาท
    โดยชุดปฏิบัติการจากสำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 5 ได้สอบถ้อยคำหัวหน้าเขต อำเภอแม่ริม แม่แตง และเชียงดาว ที่ปรากฏลายมือชื่อปรากฏว่าเป็นผู้รับมอบเงินอุดหนุนมาจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ โดยหัวหน้าเขตอำเภอแม่ริม รับ 2,877,000 บาท, หัวหน้าเขตอำเภอแม่แตง รับ 5,075,000 บาท และหัวหน้าเขตอำเภอเชียงดาว รับ 6,120,000 บาท เพื่อนำมามอบให้กับชาวบ้านในเขตรับผิดชอบ 
    อย่างไรก็ตาม หัวหน้าเขตทั้ง 3 เขต ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องตรงกันว่า ไม่เคยได้รับเงินดังกล่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบเอกสารพบว่า ในปีงบประมาณ 2560 เขตรับผิดชอบอำเภอจอมทอง มีการเบิกจ่ายงบประมาณสูงสุดถึง 11.25 ล้านบาท
    พล.ต.อ.จรัมพรเปิดเผยว่า จากข้อมูล ป.ป.ท. สอบถามชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏรายชื่อผู้รับเงินสงเคราะห์ 36 ราย เป็นบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์ 31 ราย สัญชาติไทย 5 ราย โดยชาวบ้านสัญชาติไทยทั้ง 5 รายไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ และกลุ่มชาติพันธุ์ 18 รายไม่ได้รับเงินสงเคราะห์เช่นกัน นอกจากนี้ ชาวบ้านหมู่ที่ 8 จำนวน 36 ราย ซึ่งมีชื่อกำนันตำบลกึ๊ดช้าง เป็นผู้ได้รับเงินสงเคราะห์ด้วย แต่เมื่อถามกำนันได้ยืนยันว่า ตนเอง และลูกบ้านไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าวเลย
    "เราลงพื้นที่ตรวจสอบไม่เว้นแม้แต่โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ ที่รับงบประมาณ 24 ล้านบาท ซึ่งจากการสุ่มตรวจเพียง 1 ตำบล คือ ตำบลแม่ทา ทั้งหมด 537 รายนั้น ไม่ได้รับเงินแม้แต่รายเดียว แต่กลับถูกนำรายชื่อไปเบิกจ่ายทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่น ก็ถูกนำรายชื่อไปเบิกด้วย" พล.ต.อ.จรัมพรกล่าว
      ทางด้าน พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการทุจริตงบประมาณศูนย์คนไร้ที่พึ่ง 76 จังหวัด ที่ตรวจพบทุจริตไปแล้ว 49 จังหวัด เหลือเพียง 42 จังหวัด ซึ่งวันนี้อาจจะเข้าบางส่วน โดย 7 จังหวัดได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว 34 ราย ส่วนนิคมสร้างตัวเองนั้นได้มีการสุ่มตรวจไปแล้ว 4 แห่ง
         "ส่วนนิคมอุดรฯ ขอนแก่น สตูล และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการทุจริตลักษณะเดียวกัน คือมีการนำเอกสารมาลงรายละเอียดโดยที่เจ้าตัวไม่รู้บ้าง เจ้าตัวลงชื่อไว้แต่ไม่กรอกรายละเอียด แล้วนำไปเบิกเงิน แต่เจ้าตัวไม่รับหรือได้รับบางส่วน ดังนั้น ขณะนี้ต้องรอข้อเท็จจริงและมีการสอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะนำเจ้าหน้าที่ ปปง.เข้ามาตรวจสอบด้านการเงินของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย"
    ทั้งนี้ งบประมาณประเภทอุดหนุนเฉพาะกิจของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อปี 2560 นั้น ได้รับงบประมาณทั้งหมด 66,609,000 บาท โดยมีการจัดสรรแบ่งพื้นที่ออกไปทั้งหมด 15 เขต มีอำเภอฝาง, อำเภอพร้าว, อำเภอเวียงแหง, อำเภอเชียงดาว, อำเภอแม่อาย, อำเภอแม่แตง, อำเภอแม่วาง, อำเภอจอมทอง, อำเภอแม่ริม, อำเภอไชยปราการ,  อำเภอสะเมิง, อำเภออมก๋อย และอำเภอแม่แจ่ม            จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบถามชาวบ้าน โดยเฉพาะหมู่ 8 ผาปู่จอม ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่นั้น 37 รายพบว่าไม่มีชาวบ้านได้รับเงินเลย แต่กลับมีการนำเอกสารไปเบิกเงิน ส่วนชาวบ้านหมู่ 1 บ้านผาแดงนั้น 36 รายได้รับเงินรายละ 1,000 บาท แต่กลับนำรายชื่อไปเขียนในใบสำคัญรับเงินคนละ 3,000 บาท นอกจากนี้บางรายไม่รู้หนังสือกลับมีการเซ็นชื่อแทน
        นางเนตรนภา เจริญทิพย์ อายุ 39 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ผาปู่จอม ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกนำรายชื่อไปเบิกเงินบอกว่า รู้สึกโกรธมากที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่นำชื่อตนไปเบิกเงิน และเขียนรายได้ต่อปีให้กับตนเพียงเดือนละ 1,800 บาท นอกจากนี้ ในเอกสารยังกรอกว่าตนเป็นชนเผ่าล่าหู่ ทั้งๆ ที่ตนเป็นคนไทย
         นายชัย แซ่ย่าง หัวหน้าศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจากเขตอำเภอแม่ริม และเขตต่างๆ ที่เดินทางมาให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าทางศูนย์แต่ละศูนย์จะได้รับเงินหลักล้าน เนื่องจากการไปเซ็นเบิกจ่ายเงินแต่ละครั้งนั้นจะได้รับเงินมาเป็นซอง และนำมาแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ตามจำนวนที่หัวหน้าให้มาเท่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบพบว่าศูนย์พัฒนาบนพื้นที่สูงเขตอำเภอจอมทองได้รับงบประมาณปี 2560 มากที่สุดถึง 11.24 ล้านบาท
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวขณะตรวจราชการที่จังหวัดหนองบัวลำภูว่า เรื่องทุจริตอย่าให้เกิดขึ้น เราต้องสนใจสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ส่วนเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่ เช่น โครงการเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรณีอื่นๆ ติดคุกหมด รวมถึงโทษทางวินัย อาญา และแพ่ง กฎหมายมีอยู่แล้ว รัฐบาลนี้เข้ามาทำไม่ได้เร็วนัก เพราะต้องให้ความเป็นธรรม ไม่ใช้อำนาจพิเศษลงโทษเขา ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
    “เรื่องการทุจริตที่เกิดจากต่างคนต่างยอม มีคนได้ประโยชน์เสียประโยชน์ เสียเพื่อต้องการได้ประโยชน์นี่คือกลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มที่สองเพราะความไม่รู้สิทธิ์ของตนเอง ไม่รักษาสิทธิ์ เช่น งบคนไร้ที่พึ่งที่ประชาชนไม่รู้ว่าได้เท่าไหร่ ดังนั้นต้องฟังบ้าง วันนี้มีบัตรสิทธิของคนรายได้น้อย หลายคนบอกทำทำไมบัตร เสียเวลา เอาเงินมาให้เลยดีกว่า แล้วมันจะได้ซื้อของอย่างนี้หรือไม่ พ่อบ้านฟังไว้นะ อยากได้เป็นจำนวนเงิน แต่แม่บ้านบอกถ้าให้แบบนั้นเขาไม่ได้ เดี๋ยวจะไปใช้เฮฮาเสียมากกว่า วันนี้ต้องการให้ครอบครัวมีข้าวกิน มีของอุปโภคภายในบ้าน พ่อบ้านก็เอาหน่อยน่ะ มีคนเสนอบอกอันนี้ให้โอนบัญชีเมีย สามีก็บอกกลัวเมียเอาไปเล่นหวยอีก” นายกฯ กล่าว
         ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ว่าหลังจากที่ พส.ได้จัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ฯ ของหน่วยงานในสังกัดพส. 56 แห่ง และสัปดาห์นี้ได้จัดทีมลงตรวจเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัดคือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ตรัง และนิคมสร้างตนเองตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่ามีมูลทุจริตหรือไม่ 
    ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงรวมทั้งหมดแล้ว 7 แห่ง คือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา สุราษฎร์ธานี และโครงการหมู่บ้านสันกำแพง จ. เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบยังพบ 6 ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 1 นิคมสร้างตนเองที่ไม่มีการทุจริตคือสมุทรสงคราม สิงห์บุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สกลนคร แพร่ และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จ.สกลนคร
    นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้เสนอนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ขอเพิ่มกรรมการอีก 2 ตำแหน่ง เนื่องจากเอกสารที่ต้องตรวจสอบมีจำนวนมาก และมีความซับซ้อน ซึ่งปลัด ศธ.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว และจากการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังพบว่าที่มีหลักฐานการโอนเงินชัดเจนคือปี 2552 และปี 2554-2561 ส่วนที่เหลืออีก 3 ปีคือ 2550, 2551 และ 2553 ที่เคยมีการระบุว่าไม่พบหลักฐานนั้น ตนได้ตรวจสอบรายงานการประชุม พอจะเห็นร่องรอย จึงได้ขอความร่วมมือจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ให้ช่วยตรวจสอบในพื้นที่ เพื่อยืนยันว่าพื้นที่แต่ละแห่งได้รับการโอนเงินให้จำนวนเท่าไร และไม่ได้เงินจำนวนเท่าไร ขณะเดียวกันในส่วนของการตรวจสอบบัญชีผู้รับเงินจากเอกสารการดำเนินการกองทุน ตนคิดว่าน่าจะมีมากกว่า 22 บัญชี และจำนวนเงินนั้นยังตอบไม่ได้ว่ามีการยักยอก 88 ล้านบาทจริงหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"