ญี่ปุ่นส่งเรือพิฆาต 1 ลำไปปฏิบัติภารกิจรวบรวมข่าวกรองและปกป้องเรือสินค้าของญี่ปุ่นในตะวันออกกลางเมื่อวันอาทิตย์ แต่จะไม่เข้าร่วมกองเรือที่สหรัฐเป็นผู้นำหรือกองกำลังผสมนานาชาติในภูมิภาคนั้น เพื่อไม่ให้กระทบสัมพันธ์กับอิหร่านหรือประเทศอื่นในภูมิภาค
เรือพิฆาตทากานามิ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ออกจากฐานทัพเรือโยโกสุกะเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าวในพิธีปล่อยเรือที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะ ทางใต้ของกรุงโตเกียว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าการรักษาความปลอดภัยของเรือที่มีความเชื่อมโยงกับญี่ปุ่นนั้นเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลนี้
"เรือญี่ปุ่นนับพันนับหมื่นลำใช้น่านน้ำแถบนั้นทุกๆ ปี รวมถึงเรือที่บรรทุกน้ำมันของญี่ปุ่น 9 ใน 10 ซึ่งเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของญี่ปุ่น" ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวต่อลูกเรือของเรือทากานามิในพิธี ที่มีสมาชิกในครอบครัวของลูกเรือราว 500 คนและตัวแทนจากสหรัฐ, หลายประเทศในยุโรป และตะวันออกกลาง เข้าร่วมด้วย
เรือพิฆาตน้ำหนัก 4,650 ตันลำนี้จะไปสมทบกับเครื่องบินลาดตระเวนตรวจการณ์ของญี่ปุ่น 2 ลำ ที่ปฏิบัติการในภูมิภาคนั้นอยู่แล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้ แต่ไม่ได้เข้าร่วมกับกองเรือของปฏิบัติการเซ็นติเนลที่สหรัฐเป็นผู้นำในภารกิจปกป้องเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคนั้น หรือกองเรือของกองกำลังผสมประเทศอื่นๆ ที่นั่น
รัฐบาลอาเบะกล่าวไว้ด้วยว่า รัฐบาลเตรียมจะมอบอำนาจในการใช้กำลังเพื่อปกป้องเรือของญี่ปุ่นหากตกอยู่ในอันตราย การตัดสินใจนี้เป็นประเด็นถกเถียงเนื่องจากรัฐธรรมนูญรักสันติของญี่ปุ่นห้ามการใช้กำลังทางหทารในสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 อย่างญี่ปุ่นมีปัญหาขาดแคลนพลังงานและต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่รุ่มรวยพลังงานในภูมิภาคนั้น ซึ่งรวมถึงอิหร่าน
การเลือกปฏิบัติภารกิจทางทะเลอย่างเป็นเอกเทศของญี่ปุ่นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและรักษาความสัมพันธ์ที่จำเป็นนี้ไว้ ก่อนจะส่งเรือพิฆาตไปที่นั่น อาเบะเคยวิ่งรอกในภูมิภาคนั้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อพบกับผู้นำซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน
ปีที่แล้ว อาเบะยังได้พบกับผู้นำอิหร่านหลายราย รวมถึงอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี เพื่อพยายามผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นทั้งคู่
ภูมิภาคตะวันออกกลางร้อนระอุขึ้นเพราะความขัดแย้งสืบเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่อิหร่านทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจ เพื่อจำกัดโครงการนิวเคลียร์แลกกับการยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ทรัมป์เริ่มรื้อฟื้นการคว่ำบาตรอิหร่านเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อเกิดเหตุวางระเบิดโจมตีเรือพาณิชย์หลายครั้งในช่องแคบฮอร์มุซและน่านน้ำใกล้เคียง สหรัฐก็กล่าวโทษว่าเป็นฝีมืออิหร่าน ซึ่งอิหร่านยืนกรานปฏิเสธ เรือลำหนึ่งที่โดนโจมตีคือเรือโคกุกะเคอเรเจิสของญี่ปุ่น
ภารกิจของเรือคากานามิ ซึ่งมีลูกเรือ 200 นายและเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ นอกจากการลาดตระเวนรวบรวมข่าวที่อ่าวโอมานแล้ว ยังครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของทะเลอาหรับและอ่าวเอเดน แต่จะไม่เข้าไปภายในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างอิหร่านกับคาบสมุทรอาหรับ
นาวาเอกโยสุเกะ อินาบะ ผู้บังคับการภารกิจนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเรือออกจากท่าว่า เรือสินค้าของญี่ปุ่นโดนโจมตีเมื่อเดือนมิถุนายน และประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มการลาดตระเวน ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงต้องดำเนินการรวบรวมข่าวกรองที่นั่นด้วยเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |