เริ่มมีการพยากรณ์กันแล้วว่า พิษร้ายของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะมีผลต่ออัตราโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้อย่างไร
บางสำนักคาดว่าอาจจะลดลงเหลือ 4.5% จากอัตราเฉลี่ยทั้งปีของปีก่อน 6%
หากเป็นเช่นนั้นจริงคงมีผลกว้างไกลไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
เพราะในระยะหลังนี้จีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของไทย อีกทั้งหากเศรษฐกิจของจีนหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้หลังไวรัสอู่ฮั่นจะผ่อนเบาลงแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะออกนอกประเทศ (รวมถึงไทย) ก็จะลดน้อยลงแน่นอน
เพราะหากจีนจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน และหนึ่งในมาตรการที่จะทำได้คือการให้คนจีนเที่ยวในประเทศ ไม่ส่งเสริมให้เดินทางไปข้างนอก
นั่นคือผลกระทบทั้งด้านส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอย่างห้ามไม่ได้
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ไทยเราเองจะต้องเริ่มปรับการคิดคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศของปีนี้ โดยพร้อมจะเผชิญกับความเป็นจริงว่า
ปีนี้อาการหนักแน่
แต่การจะประคองให้ผ่านพ้นปีนี้โดยบาดเจ็บน้อยที่สุดนั้นจะต้องเริ่มวางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ
พูดง่ายๆ คือเมื่อมี War Room ตั้งรับโรคร้ายจากข้างนอกแล้ว ก็ต้องมี War Room ทางเศรษฐกิจเพื่อประเมิน วิเคราะห์ และวางแผนเพื่อว่าเมื่อเข้าสู่โหมดของการฟื้นไข้แล้ว เราจะได้สามารถลุกขึ้นเดินหน้าอย่างคึกคักได้ทันที
เพราะหากเราไม่ตระเตรียมอะไรไว้ตอนนี้ พอสร่างไข้ก็ยังงัวเงีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่รู้จะวิ่งไปในทิศทางไหน
ความไม่แน่นอนมีสูงมาก เพราะยังไม่รู้ว่าการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นตัวนี้จะถึงจุดสูงสุดก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาจะต้องใช้เวลานานเท่าใด
ย้อนกลับไปสมัยการระบาดของ SARS เมื่อปี 2003 จะเห็นว่ากว่าซาร์สจะซาลงก็ต้องรอถึง 9 เดือนเป็นอย่างน้อย
วันนี้เรามีภูมิต้านทานพอที่จะตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ยาวนานถึงสามไตรมาสได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบตั้งแต่วันนี้
คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกวันก่อนว่าขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ด้วยการนำผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในขณะนี้ มาประเมินร่วมกันเพื่อวางทิศทางประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
คุณดอนบอกว่า "จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจีดีพีรวมของประเทศไทยในปี 2563 จะโตได้ที่ 2.8% แต่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และต่อเนื่องถึงภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากไทยมีการส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนด้วย ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2563 จึงจะมีการพิจารณาปรับลดตัวเลขจีดีพีอีกครั้ง"
ในการประเมินเบื้องต้นนั้นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกอาจจะโตได้เพียง 2%
นั่นคือการยึดตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ยังไม่ปรับลด
แต่หากปรับลดลงตามปัจจัยลบหลายๆ เรื่อง ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะปรับลดลงลึกกว่าเดิมอีก
คุณดอนแจ้งว่าภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนธันวาคม และไตรมาส 4 ของปี 2562 คาดว่าจะโตที่ 2.5%
ส่วนทั้งปี 2562 คาดว่าจะโตเท่ากันที่ 2.5%
แต่แกก็ยอมรับว่าอาจมีความเสี่ยงที่ตัวเลขทั้งปี 2562 อาจโตไม่ถึง 2.5%
สาเหตุก็ค่อนข้างจะชัดเจนว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ยังอยู่ในโหมดชะลอตัวต่อเนื่องเพราะการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่งการบริโภคของภาคเอกชนก็ชะลอตัวอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2562
ปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้และความเชื่อมั่นยังอ่อนแอ และมาตรการภาครัฐเพื่อหวังช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วนก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางบวกเท่าใดนัก
ไม่แต่เท่านั้นการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นเช่นกัน
ที่มาซ้ำเติมก็คือการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่อง เหตุเพราะผลกระทบจากการล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้
ภาคการท่องเที่ยวปีที่ผ่านมาอาจจะขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตต่ำ เพราะเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปี 2562 นั่นเอง
นี่ย่อมหมายความว่าเรามีแค่วอร์รูมสำหรับต่อสู้ไวรัสอู่ฮั่นไม่พอแล้ว ต้องมีวอร์รูมที่วางแผนและลงมาปฏิบัติเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจที่เราเห็นอยู่วันนี้แล้ว!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |