มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติผู้สร้างนิยายชิ้นเอก "เจ้าจันท์ผมหอม"
ในบรรดานวนิยายของนักเขียนล้านนา เจริญ มาลาโรจน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา "มาลา คำจันทร์" ที่นักอ่านหลงใหลด้วยมีเสน่ห์จับใจทั้งเนื้อหาและกลวิธีการเขียนอันละเมียดละไม ต้องยกให้ผลงานชิ้นเอกเรื่อง "เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน" ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.2534
ผู้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนของตัวเอกคือ เจ้าจันท์ซึ่งเป็นเจ้านางในประวัติศาสตร์ทางล้านนา ที่เผชิญอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การล่าอาณานิคมและการรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งเดียวกับสยามประเทศ เจ้านางผู้มีความรู้สึกและความปรารถนาที่ขัดแย้งกันอยู่ในใจตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อถึงจุดหมายปลายทางเจ้าจันทร์จึงประจักษ์ถึงสัจธรรมของชีวิต เห็นความแตกต่างระหว่างความจริงแท้กับภาพมายา ก่อนการตัดสินใจครั้งสุดท้าย
ภายในเรื่องนี้มาลา คำจันทร์ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลในประวัติศาสตร์และสถานที่ต่างๆ มากมายนำมาปรุงแต่งเป็นนิยายชื่อดัง ทำให้นักอ่านและนักเขียนอยากจะไปเยี่ยมชมสถานที่จริงสักครั้ง และเพื่อต่อยอดการเรียนรู้วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ เจาะลึกกลวิธีการประพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จัดกิจกรรม "ตามรอยวรรณกรรม เจ้าจันท์ผมหอม" ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1-2 ก.พ.นี้ โดยเปิดกิจกรรมกันที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ล้อมวงเสวนากับมาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2556 ผู้ประพันธ์ เจ้าจันท์ผมหอมอย่างออกรส
อนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า กิจกรรม "ตามรอยวรรณกรรมเจ้าจันท์ผมหอม" ที่จัดขึ้นนี้เป็นกิจกรรมการต่อยอดการเรียนรู้กลวิธีการประพันธ์ การสร้างแรงบันดาลใจการเก็บข้อมูล และวิธีการนำเสนอผ่านการเดินทางและการร่วมเสวนากับศิลปินแห่งชาติผู้ประพันธ์เรื่องเจ้าจันท์ผมหอม วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ แนวคิดและวิถีชีวิตของชาวล้านนาและสยามประเทศในอดีตได้อย่างดียิ่ง ทั้งยังได้รับรางวัลซีไรต์อีกด้วยเหมาะแก่การนำมาเป็นต้นแบบการเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 40 คน ประกอบด้วยผู้เข้ารับการอบรมด้านวรรณศิลป์ในโครงการเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมโครงการลายลักษณ์วรรณศิลป์ และนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาใน จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ตลอดปี 2563 จะมีโครงการตามรอยวรรณกรรมศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ไป 4 ภาคของไทย กิจกรรมครั้งต่อไปจะ "ตามรอยผีเสื้อและดอกไม้" ผลงานของ "มกุฎ อรดี" ที่ จ.สงขลา
"ตามรอยเจ้าจันท์ผมหอม เป็นการนำคนรักงานเขียนมาพบศิลปินแห่งชาติเจ้าของผลงาน เรียนรู้วิธีการเขียน การสร้างแรงบันดาลใจ การเก็บข้อมูลและวิธีการนำเสนอ ก่อนจะเกิดเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก ไม่เพียงแค่เรื่องเจ้าจันท์ผมหอม แต่ยังรวมถึงงานเขียนอีกมากมาย เช่น หุบเขากินคน, กงฟ้าลี้, หมู่บ้านอาบจันทร์, เด็กบ้านดอย, สร้อยสุคนธา, ไฟพรางเทียน, เขี้ยวเสือไฟ จะช่วยปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดสร้างงานเขียน หลังจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องสร้างสรรค์ผลงาน 1 เรื่องด้วย" อนุกูลกล่าว
นิทรรศการผลงานวรรณกรรมมาลาคำจันทร์
เจริญ มาลาโรจน์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า การเป็นนักเขียนถ้าย้อนไปถึงแรงบันดาลใจ ตนได้ยินแม่กล่อมน้องด้วยเพลงกล่อมลูก รู้สึกคุ้นและจับได้ถึงเนื้อหาสาระ เด็กในพื้นที่ห่างไกลไม่มีสิ่งบันเทิงไม่มีทีวี อยู่ในหมู่บ้านชนบทที่แวดล้อมด้วยไร่นาป่าเขา สิ่งบันเทิงยุคนั้นคือเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ นิทานรอบกองไฟ ซึ่งมีเรื่องเล่ามากมายทั้งผีสาง ประวัติศาสตร์ที่ล้วนเป็นงานวรรณกรรม จนเมื่ออยู่ชั้นประถมปีที่ 4 มีวิชาเรียงความ ย่อความ รวมถึงวิชาคัดไทย ซึ่งน่าเสียดายปัจจุบันถูกตัดทิ้งไป ตนได้แต่งนิทาน ครูบอกเธอมีแววเป็นนักเขียน พออายุ 12 ปีเรียนชั้น ป.6 ฟังละครวิทยุ เช่น แก้วฟ้า เล่าเรื่องผีซึมซับรับรู้นำมาเขียนเรื่องผีนางพราย จำได้ว่าเขียนไม่จบ และยังมีเรื่องผีล้านนาที่ยายเล่าให้ฟัง นี่คือวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ปลูกฝังเรามา ตนเติบโตมากับวรรณกรรมเก่าล้านนา มศ.3 ก็เขียนนิราศได้ตามขนบนิราศทั่วไป มีบทกลอนลงนิตยสารแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และรู้สึกว่าตนไม่ถนัดโคลงกลอน จึงมาเขียนหนังสือจริงจัง มีงานเขียนเรื่องสั้นชื่อ "เจ้าที่" ใช้นามปากกา "มาลา คำจันทร์" ได้รางวัลช่อการะเกด ทำให้เกิดแรงฮึดทำงานเขียน ใช้ชื่อมาลา คำจันทร์มาโดยตลอด เขียนทั้งนิยาย สารคดี แต่มาสำเร็จจริงๆ จากงานเขียนเรื่องสั้นเรื่อง "หมู่บ้านอาบจันทร์" ตอนนั้นเป็นครูบนดอยสอนชาวปกาเกอะญอ ได้รางวัลดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทำให้สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่อง "เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน" ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2534
พระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมีหน้าพระตำหนักดาราภิรมย์
แรงบันดาลใจการสร้าง "เจ้าจันท์ผมหอม" ที่มากิจกรรมตามรอยครั้งนี้ มาลา คำจันทร์เล่าว่า หลังลาออกจากราชการครูปี 2525 ได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ ม.ศิลปากร ระหว่างนั้นก็เขียนหนังสือลงนิตยสารฟ้าเมืองไทยและทำงานบริษัท เคล็ดไทย จำกัด ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ลังกาสิบโหวรรณกรรมเก่าแก่ไทยลื้อ ต้องลุยสืบค้นข้อมูล จบปี 2529 เป็นอาจารย์อยู่ ม.หอการค้าไทย สิ่งที่ติดอยู่ในหัวคือผู้หญิงหายไปไหนในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ผู้หญิงแบกประวัติศาสตร์ไว้กว่าครึ่งหนึ่ง
"อ่านเจอประวัติศาสตร์ไทลื้อเจ้าจันทะยอดฟ้าเป็นเจ้านางไทลื้อ เคยตัดผมบูชาพระธาตุที่สิบสองปันนา บวกกับเพลงมะเมียะสาวพม่าที่รักกับเจ้าชายเชียงใหม่เมื่อต้องลาจากก็สยายผมเช็ดพระบาท รวมถึงพระประวัติเจ้าดารารัศมี ทรงสยายผมลงมาเช็ดพระบาทรัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีมีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม ถวายตัวเป็นเจ้าจอมก่อนขึ้นเป็นพระราชชายา เช่นเดียวกับในนิยายเจ้าจันท์ผมหอม เจ้าจันท์เป็นเจ้าหญิงที่สวยแต่เกิดในสังคมล้านนาที่ระบบเจ้ากำลังจะล่มสลาย รักใคร่กับเจ้าหล้าอินทะเจ้าเมืองที่ตกอับ แต่มีอีกตัวละครมาเกี่ยวพันคือพ่อเลี้ยง เป็นเรื่องราวความรักส่วนตัวกับหน้าที่เป็นหน้าที่เพื่อพ่อแม่และบ้านเมือง หลังจากที่ปูผมลอดพระธาตุอินทร์แขวนไม่ได้ เธอยอมแต่งงานกับพ่อเลี้ยงไม่ใช่เพราะรัก แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ แก่นความคิดผสมผสานทั้งประวัติศาสตร์การเมือง ใช้เวลาราวหนึ่งปีปั้นเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา" มาลา คำจันทร์เล่า
พระธาตุอินทร์แขวนจำลองณวัดพระธาตุม่อนจิ่งอ.เชียงดาวอีกสถานที่ตามรอย
ศิลปินแห่งชาติกล่าวว่า พลังของวรรณกรรมปรากฏออกมาเอง ตนไม่ได้คิดถึงเรื่องอนิจจังสัจธรรมชีวิตอย่างที่คณะกรรมการซีไรต์ประกาศยกย่อง อีกประการหนึ่งนิยายเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมเพราะไม่มีใครนำนิราศมาใช้ในนิยาย และการใช้สำนวนที่ไม่เป็นไปตามโครงสร้างไวยากรณ์ไทยและมีกลิ่นอายล้านนา พลังเหล่านี้ทำให้ชนะใจกรรมการซีไรต์ พอใจกับเรื่องเจ้าจันท์ทั้งการสร้างตัวละครและการเดินเรื่อง ภูมิใจกับทุกเรื่องที่เขียน ทุกเรื่องที่ผ่านมือรักเหมือนลูก งานเขียนแต่ละเรื่องมีแบบมีแผน บางเรื่องไม่พิมพ์เป็นเล่มเพราะไม่สมบูรณ์ แต่งานที่ปล่อยออกไปเต็มที่ทุกเล่มเป็นเรื่องสังคม นักอ่านฝากให้ทำให้เต็มที่มีความเป็นตัวเรา ไม่ต้องหวังผลรางวัลหรือให้ใครมาดันก้น เพราะงานวรรณศิลป์คนอ่านเป็นผู้ตัดสิน
ส่วนเส้นทางตามรอยวรรณกรรมเจ้าจันท์ผมหอม เริ่มกันที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม ที่ทรงปลูกพระตำหนักด้วยพระองค์เอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมสิ่งของอันเกี่ยวเนื่องกับเจ้าดารารัศมีเครื่องเรือน ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ตกแต่งห้องต่างๆ ใกล้เคียงอดีตจากพระตำหนักเก่าแก่ ผู้ร่วมกิจกรรมได้ชมบริเวณสวนเจ้าสบายนำต้นไม้ที่ทรงปลูกมาปลูกหลายชนิด โดยเฉพาะกุหลาบจุฬาลงกรณ์-กุหลาบสมัยเก่าดอกใหญ่ส่งกลิ่นหอม พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์
เรื่องเจ้าจันทร์ผมหอมตัวละครเอกเจ้าหญิงล้านนาเดินทางไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน เป็นพระธาตุประจำปีเกิดในเขตพม่าใกล้เมืองเชียงใหม่ ด้วยตั้งใจจะตัดผมหอมบูชาพระธาตุด้วยพ่อแม่บนไว้ตอนเจ้าจันท์ล้มป่วยตอนเด็ก
ในตอนจบของเรื่องเมื่อถึงพระธาตุเธอตั้งจิตบนพระธาตุอีกครั้ง ถ้าปูผมลอดพระธาตุได้จะกลับไปหาชายคนรัก หากไม่ได้จะแต่งกับพ่อเลี้ยง เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาบรรยากาศฉากในเรื่องกิจกรรมตามรอยนี้ มาลา คำจันทร์นำทีมพาขึ้นดอยไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ณ วัดพระธาตุม่อจิ่ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นับเป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจให้เหล่านักเขียนมือสมัครเล่นที่ร่วมกิจกรรม ได้ศึกษาเรียนรู้การเก็บข้อมูลและกลวิธีการเขียนวรรณกรรมที่วัดแห่งนี้อีกด้วย
หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม นางสาววรรณภา สินศรชัย สาวตรัง วัย 20 ปี ผ่านการลับคมกับโครงการ "ลักษณ์วรรณศิลป์" ครั้งที่ 5 กล่าวว่า เคยอ่านเจ้าจันท์ผมหอม รู้สึกว่าผู้เขียนนำเสนอมุมมองแตกต่างจากนิยายซีไรต์เรื่องอื่น สอดแทรกความเชื่อเรื่องการปูผมลอดพระธาตุ แม้จะรู้ว่าความจริงทำไม่ได้ แต่กลวิธีการเขียนโน้มน้าวให้ผู้อ่านลุ้นตาม แถมภาษาที่ใช้ก็สวยงามมีสัมผัสในตัวภาษา และนำเสนอนิราศแบบใหม่ที่ไม่พบในวรรณกรรมทั่วไป
"สนุกและตื่นเต้นได้ขึ้นเหนือตามรอยเจ้าจันท์ผมหอมที่เชียงใหม่ มานั่งฟังแรงบันดาลใจการสร้างเรื่องจากศิลปินแห่งชาติ มาลา คำจันทร์ ตัวจริง ได้สัมผัสวัฒนธรรมล้านนาที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ใกล้ชิดจากที่เคยเห็นในทีวีหรืออ่านหนังสือ ประทับใจมากได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เจ้าดารารัศมี ฟังบรรยายพระราชประวัติทึ่งกับเจ้านางพระองค์นี้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแม้จะแต่งงานตามหน้าที่เพื่อให้ล้านนามั่นคง แต่ก็ทรงรักรัชกาลที่ 5 ชีวิตทุกคนคือวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง การได้ซึมซับวัฒนธรรมล้านนาและไปตามรอยตามสถานที่ต่างๆ ได้แรงบันดาลใจกลับไปเขียนบทกวี" วรรณภากล่าว
มาลาคำจันทร์นำคณะตามรอยวรรณกรรมเจ้าจันท์ผมหอมที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์
เย็นวันเดียวกัน หนุ่มสาวนักเขียนคลื่นลูกใหม่ยังได้ร่วมกิจกรรมมากมายที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา รู้จักกาดสืบสานคัวฮัก ร่วมประดิษฐ์งานจากผ้าพื้นเมือง การวาดภาพเพนต์ลาย ปั้นดิน การร้อยสร้อยจากวัสดุธรรมชาติ อีกทั้งมีกลุ่มชาติพันธุ์สาธิตปักผ้าตามภูมิปัญญา นอกจากนี้มีการแสดงพื้นเมืองรำพื้นเมืองฟ้อนล้านนาสุดอ่อนช้อย และการแสดงสะล้อซอซึงเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ วันรุ่งขึ้นเติมเต็มความรู้ประวัติศาสตร์ล้านนาด้วยการไปเที่ยวชมหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ แต่ละห้องเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายสิ่งของจัดแสดงและวรรณกรรมสำคัญๆ ถือเป็นต้นทุนทางความคิดที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพตามความถนัดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |