การเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงวัยแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ “มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย” ร่วมกับ “สถาบันคีนันแห่งเอเชีย” สานต่อโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข” (Pfizer Healthy Aging Society) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ระดมนักวิชาการและนักปฏิบัติการด้านสุขภาพระดับประเทศร่วมให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อนำไปสู่ “กายฟิต-จิตดี-มีออม”
(ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล)
เริ่มจาก ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขและคุณภาพชีวิต ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม จะรอให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ ใน พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งผู้สูงวัยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมสู่สูงวัยล่วงหน้า โดยความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสู่สูงวัยนั้นสะท้อนให้เห็นได้จากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) แต่จากการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฉบับนี้ซึ่งประเมินโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ กล่าวคือ การดำเนินการสัมฤทธิผลไปได้เพียงร้อยละ 28.6 เท่านั้น
“มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกช่วงวัยของชีวิต และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมในการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียดำเนินโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข” (Pfizer Healthy Aging Society) รณรงค์เตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุที่เน้นการทำงานแบบต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ (Good Health and Well-Being) โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการคือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ความรู้ความเข้าใจเชิงสุขภาพ สำหรับกลุ่มเป้าหมายซึ่งคือประชากรกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ ให้เป็นผู้นำและบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพเชิงบวก สร้างรูปแบบการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน และสามารถประยุกต์และปรับใช้กับบริบทของสังคมไทยได้
ภาพรวมของการดำเนินโครงการจะเชื่อมโยงการทำงานทั้งระดับประเทศและชุมชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุข ประชากรก่อนวัยสูงอายุ และวัยสูงอายุ ในด้านความรู้เรื่องสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การรณรงค์ (Promotional Campaigns) การสร้างความตระหนักในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพดี และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และวิถีชีวิต รวมทั้งการติดตาม ประเมินผลโครงการ และการถอดบทเรียนไปใช้
“ทั้งนี้ เรามองว่าหากรอให้ถึงอายุ 60 ปีอาจจะไม่ทันสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณ ดังนั้นการเริ่มหันมาดูแลตัวเองในทุกมิติ ภายใต้หลักการ “กายฟิต จิตดี มีออม” ตั้งแต่วัย 45ปี จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองโดยไม่เป็นภาระของสังคม แต่ขณะเดียวกันยังสามารถนำสิ่งที่ได้จากการลงมือทำจริงนั้นไปช่วยเหลือสังคม หรือบอกต่อคนวัยเดียวกันได้ค่ะ”
(อาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์)
ด้านอาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษาโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข กล่าวว่า “โครงการนี้ดำเนินงานในระยะแรกสำเร็จไปแล้ว จากความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยสามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2
“การที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่มีคุณภาพได้นั้น จะต้องไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) ประชากรของประเทศควรได้รับการเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนสูงวัย (Pre-senior) หรือตั้งแต่อายุ 45 ขึ้นไป ให้มีความพร้อมตั้งแต่ด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่จากการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรก่อนสูงอายุ ของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค NCDs เพราะร้อยละ 86 ชอบกินเนื้อติดมันและเครื่องใน ร้อยละ 51 ติดเครื่องดื่มรสหวาน ในขณะที่ร้อยละ 74 ขาดความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 52 ขาดความรู้เรื่องโรคหัวใจ และมีร้อยละ 30 ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว เป็นต้น จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ตระหนักได้ว่า ความรู้เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกคนเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จึงออกแบบโครงการให้เป็น Knowledge-based project สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่อายุระหว่าง 45-59 ปี”
(สุภาพร มหาพลตระกูล)
ขณะที่นางสุภาพร มหาพลตระกูล ผู้จัดการโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข จากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข ที่ จ.อุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญ โดยมีกลุ่ม Change Agents ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาเข้าร่วมอบรมกว่า 120 คน อาทิ บุคลากรด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรด้านการศึกษาที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานพัฒนาชุมชน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน และมีอิทธิพลทางความคิดต่อชุมชน ผู้เข้าอบรมทั้งหมดได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมและสุขภาพทางการเงิน เพื่อสร้างเสริมทัศนคติและปรับพฤติกรรมสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมที่จะสูงวัยอย่างอยู่ดีมีสุข โดยคาดหวังให้เกิดการส่งผ่านความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปสู่ชุมชนของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ”
(ณัฐธภัสสร วงศาสุข)
ปิดท้ายกันที่ ณัฐธภัสสร วงศาสุข ผู้อำนวยการ รพ.สต.ตำบลเพียเก้า ผู้ที่เข้าร่วมการอบรม บอกว่า “ความรู้ที่ได้ในวันนี้ชอบเรื่องการเตรียมตัวการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อย่างเรื่องของการออมเงิน เพราะตอนนี้อายุ 52 ปีแล้ว เหลืออีก 8 ปีจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เมื่อพี่อายุ 60 ปี เราต้องมีเงินพร้อมในการดูแลตัวเอง ที่ผ่านมาพี่เก็บสะสมโดยหักเงินเดือนเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์เดือนละ 5 พันบาท ตอนนี้ได้ 2 ล้านบาทแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็ออมโดยวิธีการซื้อที่ดินเอาไว้ให้ลูก ส่วนเงินที่เก็บก็เอาไว้เพื่อตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนด้านร่างกายหรือสุขภาพ พี่จะทำตามหลัก 3 อ. 2 ส. โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาหาร อารมณ์ ออกกำลัง ส่วน 2 ส. คือ ไม่สูบบุรี่ และสุรา ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ก็คิดว่ามีประโยชน์ โดยจะใช้ดูแลคุณแม่วัย 82 ปี และบอกต่อกับคนในชุมชนที่พี่ดูแลพวกเขาค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |