เปิดแผนฝ่ายค้านซักฟอก 3 ป. หวังลากถึงยุค คสช. เพราะยึดโยงอำนาจ "ภราดร" คาดหวังสูง อ้างผู้รักประชาธิปไตยต้องการให้ตัวผู้นำสืบทอดอำนาจพบกับจุดจบโดยหลุดออกจากตำแหน่งไปโดยเร็ว เพื่อไทยเปิดตัว ส.ส.ปากกล้ารุมกินโต๊ะ "บิ๊กตู่" ขณะที่ "วิษณุ" ไม่รู้สึกอะไรธรรมดา เฉยๆ
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นตีความกฎหมายโดยไม่ยึดหลักการและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องของอภินิหาร เพื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ว่าไม่ได้รู้สึกอะไร ธรรมดา เฉยๆ และที่ผ่านมาก็ได้ทำการบ้านเพื่อตอบคำถามให้ได้
"ข้อกล่าวหาดังกล่าวเขาบอกมาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรในเรื่องการอภิปราย แม้จะไม่เคยถูกอภิปราย แต่เคยอยู่ในบรรยากาศการอภิปรายหลายครั้งแล้ว ตอนเป็นเลขาฯ คณะรัฐมนตรี ผมก็เคยถูกใช้ให้เตรียมข้อมูล ดังนั้นไม่มีปัญหาอะไร"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านบอกว่าไปชี้นำกระบวนการยุติธรรมแรงไปหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า เมื่อเขาเข้าใจเช่นนั้น ก็ต้องพูดอย่างนั้น เราก็มีหน้าที่ตอบไปว่าชี้นำหรือไม่ชี้นำ อาจเป็นไปว่าไม่ได้ชี้นำ หรือชี้แต่ไม่ได้นำ ที่ชี้ก็เพราะสื่อถาม
ถามว่า ประเด็นฟิลลิป มอร์ริส ยังอยู่ในการอภิปรายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อเขาบอกมาก่อนว่ามีก็ต้องเชื่อเขา ส่วนการเตรียมข้อมูลนั้นก็มี มันเป็นความจริง แต่เหตุการณ์มันผ่านมาจนลืมไปแล้ว เมื่อมีการจะถามก็ไปเรียกเอกสารมาดู ก็ต่อเรื่องติด ซึ่งต้องให้ความกระจ่างกับผู้ถามและประชาชน ส่วนที่บอกว่าทำให้เกิดการเสียหายด้านการเงิน ฝ่ายค้านก็บอกมาแล้วว่าเกี่ยวกับการแก้กฎหมายศุลกากร ซึ่งตนไม่ได้เป็นคนแก้ ไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง มั่นใจว่าชี้แจงได้ แต่ผู้ถามและประชาชนจะเชื่อหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ซักว่าเตรียมรับบรรยากาศที่ฝ่ายค้านอาจจะยั่วให้โมโหไว้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า เราเคยเห็นการอภิปรายกันมาแล้ว แต่ตนไม่ใช่คนมุทะลุอะไร ก็ไม่เป็นไร บางทีชี้กันไปโต้กันมาก็เอาชนะด้วยคารมและคะแนน แต่ประชาชนอาจไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ต้องเอาให้ประชาชนให้ได้ประโยชน์
ถามว่าการเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้ไม่มีส.ส.ในมือ หวั่นในเรื่องเสียงไว้วางใจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เฉยๆ ไม่มีปัญหาอะไร
แล้วแต่จะเมตตา
เมื่อถามอีกว่า ต้องไปขอความร่วมมือพรรคร่วมหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวติดตลกว่า แล้วแต่จะเมตตา
ซักอีกว่า ในส่วนของนายกฯ ท่านจะช่วยชี้แจงได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ถ้าประเด็นมันเกี่ยวและพาดพิงก็ได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวไม่พาดพิงก็ไม่ควร ทำให้เสียเวลาสภาเปล่าๆ และบางเรื่องที่เกี่ยวและพาดพิงและนายกฯ ไม่รู้ มีหลายเรื่องที่ดูในญัตติแล้วนายกฯ อาจไม่รู้เรื่อง คนที่รู้เรื่องเขาพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว ส่วนถ้าเขาอภิปรายเรื่องเก่านั้น ก็อยู่ที่ประธานสภาฯ ถ้าอนุญาตให้ผู้ตอบตอบ เราก็ต้องตอบ เราต้องเคารพประธานในการคุมเกม
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า คงเตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ที่ตนได้ทำไป โดยคงต้องพร้อมที่จะชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
เมื่อถามอีกว่า มีประเด็นอะไรที่รู้สึกกังวลใจหรือคิดว่าต้องเตรียมข้อมูลเป็นพิเศษ พล.อ.อนุพงษ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีไม่มีชื่อถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า แค่เรื่องโรคปอดอักเสบจากไวรัสอู่ฮั่นก็ทำให้ตนคิดอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็รักชาติบ้านเมืองกันทั้งนั้น ส่วนตัวก็มั่นใจว่าที่ทำงานมาทั้งหมดตั้งแต่รับตำแหน่งในรัฐบาลมา ก็ทุ่มเทและทำงานทุกอย่างเพื่อชาติและประชาชน สมมุติว่าถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องพร้อมที่จะชี้แจง
"ไม่ได้บอกว่าเครียดหรือไม่เครียด เพราะมันก็ต้องมีเครียดนิดๆ นั่นแหละ ว่าทำไมอยู่ดีๆ เราทำงานแทบตาย ทำไมถึงโดนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันก็ต้องเครียด และต้องมานั่งดูว่าตัวเองไปทำอะไรมาจนทำให้คนเกิดความสงสัย แต่ก็ต้องพร้อม แต่ยืนยันว่าในใจไม่มีเจตนาอะไรที่แอบแฝง หรือมีเจตนาทุจริตคิดคดต่อบ้านเมือง จึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ เพียงแต่จะเครียดบ้างว่าทำไมถึงโดน แต่เมื่อไม่โดนยื่นญัตติก็ขอขอบคุณทุกๆคน" นายอนุทินกล่าว
ทำงานจนป่วย
เมื่อถามว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มองการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ส่งผลอะไรต่อรัฐบาลหรือไม่ รองนายกฯ เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถชี้แจงได้ เพราะทุกคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทำงานจนป่วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา แต่ทำงานจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และเท่าที่ดูแล้วทุกคนมีความมั่นคง รวมทั้งกำลังใจดีพร้อมที่จะชี้แจง ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความตั้งใจ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถชี้แจงได้ เพราะความจริงจะชนะทุกอย่าง
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ ญัตติของฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ทั้งคณะก็ต้องดูว่าข้อมูลในการอภิปรายของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร ประเด็นอะไร ซึ่งในภาพรวมหากมีการอภิปรายพาดพิงรัฐมนตรีคนใด รัฐมนตรีคนนั้นก็สามารถใช้สิทธิชี้แจง หรือใช้สิทธิพาดพิงได้ ส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าฝ่ายค้านจะมีประเด็นใดพาดพิงหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐมนตรีทุกคนต้องติดตามการอภิปรายอย่างใกล้ชิด
เมื่อถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้รัฐมนตรีแต่ละคนเตรียมข้อมูลรวมไปถึงประเด็นอื่นที่คาดว่าอาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์กล่าวว่า ท่านนายกฯ สั่งการได้ถูกต้องแล้ว เผื่อมีประเด็นที่ฝ่ายค้านถูกพาดพิงจะได้ชี้แจงอภิปรายทำความเข้าใจแทนได้ แม้จะไม่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ตาม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจง และมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงรัฐมนตรีทุกท่านจะสามารถชี้แจงได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำงานตรงไปตรงมา ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายในเรื่องความโปร่งใสหรือความล้มเหลวในการบริหารงานนั้น ตนมองว่าเป็นเพียงแค่มุมมองของฝ่ายค้านฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมาประชาชนรู้ดีว่ารัฐบาลทำงานโปร่งใส คิดนโยบายเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเหมือนรัฐบาลในอดีต จึงถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ และไม่สับสนไปตามสิ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหา
เย้ยอย่าใช้ข้อมูลเก่า
นายธนกรหวังว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายในครั้งนี้จะไม่เป็นข้อมูลเก่าที่พี่น้องประชาชนทราบอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นกันก็ไม่ต่างอะไรกับการอภิปรายแบบขอไปที ซึ่งประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ให้สมกับที่พยายามบอกผ่านสื่อมาตลอดว่ามีข้อมูลเด็ด แต่อุบเอาไว้เป็นความลับ เพราะกลัวข้อมูลรั่วไหล ไม่เช่นนั้นจะเสียหน้า เพราะที่ผ่านมาโหมโรงเอาไว้เยอะ
"ผมเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนดี ย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้"
เขากล่าวว่า ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็น ปล่อยให้มีการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง กร่าง เถื่อน สร้างกลไกสืบทอดอำนาจ เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการกล่าวหาเกินจริง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ของคนไทยทั้งประเทศ เป็นกันเองกับชาวบ้าน จะเห็นได้ว่าลงพื้นที่ทุกครั้งชาวบ้านมากอด มาพูดคุยแบบเป็นกันเอง เป็นนายกฯ ที่ไม่สร้างภาพ ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ได้สืบทอดอำนาจ เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษากรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 3 ก.พ.เวลา 09.30 น. จะได้มีการหารือกันในเบื้องต้นว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือจะต้องทำอย่างไรต่อไป และน่าจะได้มีการหารือเรื่องของวันให้มีการอภิปรายและเรื่องของจำนวนวัน ขณะที่การเตรียมตัวเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี ส่วนต้องตั้งวอร์รูมหรือไม่ ยังไม่ได้มีการหารือกัน คงต้องนำเรื่องนี้หารือใน ครม.ก่อน
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วันนี้เรายังไม่ทราบรัฐบาลจะเลือกวันไหนที่จะให้มีการอภิปราย แต่เราจะได้เตรียมปฏิทินในใจไว้แล้วว่าต้องเตรียมทำอะไรบ้าง ถ้ารัฐบาลบอกมาว่าเอาวันไหน วิปรัฐบาลก็จะเอาตามที่รัฐบาลกำหนดเลย ส่วนที่ข่าวว่าน่าจะเป็นวันที่ 19-21 ก.พ.อภิปราย และลงมติ 22 ก.พ.นั้น ยังไม่เคยมีตกลงกันเลย เพราะหลังจากฝ่ายค้านยื่นญัตติสภาแล้ว สภาก็ต้องตรวจสอบก่อน เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วสภาก็ต้องแจ้งไปยังรัฐบาล แล้วรัฐบาลจะต้องเป็นคนกำหนดวันเอง พร้อมสะดวกให้อภิปรายวันไหน
ด่า คสช.เจอแน่
ส่วนหน้าที่ของตนก็ต้องมาเตรียมความพร้อมของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ใครต้องดูแลกันอย่างไร ปฏิบัติตามกรอบกันอย่างไร และเราต้องประสานงานกับฝ่ายรัฐบาลข้อมูลที่ต้องชี้แจงฝ่ายค้าน ถ้าเผื่อตอบไม่หมด ไม่เคลียร์ จะต้องช่วยกันทำอย่างไรบ้าง แต่มองดูแล้วเหมือนเอาเรื่องอดีตคราวก่อนโน้นเท่านั้นมาอภิปราย แทบไม่มีเรื่องงานปัจจุบันเท่าไหร่เลย ยกเว้นส่วนของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เป็นงานในปัจจุบัน ทั้งนี้ ส.ส.รัฐบาลต้องมีส่วนร่วมทั้งหมด ส่วนที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ขอถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน วันที่ 3 ก.พ.ถ้ามีโอกาสเจอ ในฐานะที่ตนเป็นประธานวิปรัฐบาล จะเชิญส่งตัวแทนมาเป็นวิปรัฐบาลได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
นายวิรัชกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นในการอภิปรายก็ต้องอยู่ในกรอบ แม้ในญัตติจะเขียนคำที่หวือหวา สร้างจินตนาการดุเดือดอย่างไร ก็ต้องรักษากฎระเบียบ โดยเฉพาะการอภิปรายที่ต้องพูดในสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น จะย้อนกลับไปในสมัยคสช.บ้างก็ทำได้ พอให้เท้าความแล้วเข้าใจ ไม่ใช่อภิปรายย้อนกลับไปในสมัย คสช.ทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ซีกรัฐบาลจำเป็นต้องลุกขึ้นประท้วง แต่หากประท้วงแล้ว เตือนแล้ว ฝ่ายค้านยังจ้องอภิปรายย้อนอดีต
"ขอบอกไว้ล่วงหน้าเลยว่า อาจมีสมาชิกซีกรัฐบาลลุกขึ้นเสนอขอปิดอภิปรายก็เป็นได้ ผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะจะเสียบรรยากาศ จึงจำเป็นต้องเตือนกันล่วงหน้า โดยยืนยันว่าเราจำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อรักษาคนของรัฐบาลตามกฎระเบียบ หากฝ่ายค้านบอกว่ามีสิทธิอภิปรายย้อนหลัง ซีกรัฐบาลก็มีสิทธิที่จะคัดค้านเช่นกัน จะมาบอกว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในรอบ 7 ปี ผมก็ต้องบอกว่าครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลในรอบ 7 ปีเช่นกัน" นายวิรัชกล่าว
"เทพไท"วิจารณ์มันปาก
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าดูรายชื่อบุคคลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเน้นการอภิปรายเฉพาะบุคคลที่เป็นแกนนำคนสำคัญของรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถ้าดูรายชื่อรัฐมนตรีจำนวน 6 คน ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านวางเป้าหมายต้องการจะอภิปราย คสช.เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพี่น้อง 3 ป. และกลุ่มบริวาร 3 คน โดยพุ่งเป้าไปที่ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเป็นมือทำงานคนสำคัญในการประสานกับกลุ่มพรรคเล็ก และกลุ่มต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลให้กับ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร
เขากล่าวว่า นายวิษณุถูกอภิปรายเพราะทำตัวเป็นทนายหน้าหอ เป็นมือกฎหมายคอยหาทางออก แก้ปัญหาข้อกฎหมายให้กับรัฐบาลแบบเลี่ยงบาลีหรือแบบศรีธนญชัยมาโดยตลอด และการจองกฐินอภิปรายนายดอน เพราะเป็นสายตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประเทศด้วยตนเอง เพื่อทำงานสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลต่อต่างประเทศ แต่ทำงานผิดพลาดหลายครั้ง
ถล่ม 3 ป.ลากถึง คสช.
นายเทพไทกล่าวว่า การอภิปรายพี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เป็นการล็อกเป้าของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ต้องการอภิปรายพาดพิงไปถึงรัฐบาลยุค คสช. เป็นการพุ่งเป้าไปยังศูนย์อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ หากสามารถสั่นคลอนศูนย์กลางอำนาจได้ ก็จะเป็นการง่ายในการโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้ในโอกาสต่อไป
ส่วนกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ในการสร้างแนวร่วมเพื่อโดดเดี่ยวกลุ่ม คสช.อย่างชัดเจน เพราะแม้แต่รัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เช่น ทีมเศรษฐกิจ กลุ่มสามมิตร รัฐมนตรีสาย กปปส. ก็ยังไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่คนเดียว
นายเทพไทกล่าวว่า จะต้องจับตาการเดินเกมการเมืองของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าหลังจากการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ระหว่างรอกำหนดวันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเดินเกมการเมือง ฉายหนังตัวอย่าง เรียกน้ำย่อย เป็นการโหมโรง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาชนและสังคมได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นแค่ราคาคุยเท่านั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การวางบุคคลสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นนายบุคคล เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดจะอภิปรายรัฐมนตรี 6 คนตามที่ยื่นญัตติแล้ว เนื้อหาการอภิปรายของแต่ละพรรคจะมาหารือกันในวันที่ 3 ก.พ. เพื่อนำประเด็นที่แต่ละพรรคจะอภิปรายมารวบรวมให้รู้ว่าเรื่องไหนซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจ จากนั้นแต่ละพรรคจะให้ผู้รับผิดชอบประเด็นอภิปรายนั้นๆ มาคุยกันเพื่อแบ่งเนื้อหาการอภิปราย หรือมอบข้อมูลให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องนั้นๆ ไปเลย เพื่อควบคุมคุณภาพให้มีจำนวนผู้อภิปรายเหมาะสมสอดคล้องกับเวลา และไม่ให้เกิดเนื้อหาซ้ำซ้อน ทำให้การอภิปรายมีความต่อเนื่องไม่น่าเบื่อ
เขากล่าวว่า เมื่อวางโครงเรื่องการอภิปรายแล้วก็จะเห็นตัวบุคคลว่าใครจะอภิปรายก่อนหลังอย่างไร เพื่อให้การอภิปรายของส.ส.ทั้ง 6 พรรคผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนที่ติดตามการอภิปรายได้รับสาระและประโยชน์มากที่สุด
รุมกินโต๊ะ "บิ๊กตู่"
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้อภิปรายในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ถูกวางตัวไว้อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม
ส่วนผู้อภิปราย พล.อ.อนุพงษ์ นายวิษณุ นายดอน มีผู้อภิปรายจากพรรคเพื่อไทย และเชื่อว่าจะมีผู้อภิปรายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมอภิปรายด้วย จึงต้องตรวจทานความซ้ำซ้อนกันก่อนที่จะวางตัวบุคคล
ขณะที่ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส คงเป็นในส่วนของพรรคร่วมที่จะรวบรวมประเด็นอภิปราย แต่ทั้งหมดนี้คงต้องหารือกันในวันที่ 3 ก.พ.ก่อน แล้วจะเริ่มมีความชัดเจนออกมาเป็นระยะ สำหรับกรอบเวลาในการอภิปรายนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่อยากให้มีการกำหนดด้วยกรอบเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นมาตรการตรวจสอบรัฐบาลขั้นสูงสุดและเนื้อหาการอภิปรายจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ จึงไม่อยากให้เอาเรื่องเวลามาปิดกั้น
เขากล่าวว่า หลังจากประธานสภาฯ ตรวจสอบญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วคาดว่าจะให้เวลา 1 สัปดาห์ถึงตอนนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านคงได้รายละเอียดผู้อภิปรายและกรอบเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอภิปราย เราคงได้หารือประธานสภาฯ เพื่อขอเวลาการอภิปรายให้สอดคล้องกับเนื้อหาให้การอภิปรายเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ (กพศ.) พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จะเห็นได้ว่ารายชื่อผู้ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด 6 คน เป็นกลุ่มคนที่ยึดโยงมาจากการยึดอำนาจ และมีการสืบทอดอำนาจต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่า คนเหล่านี้ได้ร่วมเป็นขบวนการสร้างความทุกข์ยากที่ไม่อาจจะให้อภัยได้ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง ทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ในขณะนี้ ถือเป็นตัวบอกให้รับรู้ว่าขบวนการของผู้นำสืบทอดอำนาจที่ผ่านมา ไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมือกับปัญหาในอนาคตไว้เลย
หวังถึงหลุดออกจากตำแหน่ง
“เพราะขาดวิสัยทัศน์ มีเพียงแค่ราคาคุย และการหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องเท่านั้น คาดหวังอะไรไม่ได้ จนเข้าสู่ถึงจุดวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้นำคนนี้ จนไม่อาจยอมรับให้อยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไป ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จึงต้องการให้ตัวผู้นำสืบทอดอำนาจพบกับจุดจบโดยหลุดออกจากตำแหน่งไปโดยเร็ว จึงถือเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะต้องดำเนินการให้สัมฤทธิผล เพื่อทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่บรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจที่จะรับมือแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น” พล.ท.ภราดรกล่าว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวในงานประชุมประจำปี สมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ไทย ปลายศตวรรษที่ 21 จะไปในทิศทางไหน” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะย่ำแย่ และหนักกว่าปีปี 2562 เพราะทุกเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยดับหมด ทั้งการส่งออกในปี 2563 นี้น่าจะไม่ขยายตัวจากปีที่แล้วที่ติดลบ 2.65% การท่องเที่ยว ที่เคยเป็นพระเอกมาตลอด 5 ปี แต่ปีนี้จะทรุดหนัก โดยมีโอกาสติดลบสูงจากไวรัสโคโรนา การใช้จ่ายภาครัฐ ต้องหยุดชะงักเนื่องจากการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ฝั่งรัฐบาล การบริโภคของประชาชนจะลดน้อยลงจากรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง
สำหรับด้านโลจิสติกส์ ตนยังอยากเห็นไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน รัฐควรทุ่มงบประมาณพัฒนาด้านนี้ อยากให้ศึกษาโมเดลธุรกิจของโกเจ็กและแกร็บ การลดราคาน้ำมันดีเซล 5 บาท โดยลดการเก็บภาษีสรรพสามิตการติดตามเทคโนโลยีที่ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นในภาวะปัจจุบันที่ทั้งปัญหาใหม่และปัญหาเก่าถาโถมเข้ามา รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ได้ จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังอย่าสะเปะสะปะเหมือนที่ทำมาตลอด ภาวะวิกฤติปัจจุบันต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องตัดสินใจว่าประเทศนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะถ้าเป็นเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไปไม่รอดแน่ คงเป็นกบต้มตายกันยกหม้อ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |