เบื้องลึกสอบเสียบบัตรแทนกัน
พร้อมทิ้งเก้าอี้รอง หน.ปชป.
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมา รับคำร้องปมปัญหา ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกันในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยหลังจากนี้ต้องรอดูว่าสุดท้ายศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัยว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง จนส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นโมฆะทั้งฉบับหรือไม่ ขณะเดียวกันการออกมาเปิดเผยเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในห้องประชุมสภายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทำหน้าที่ของ ส.ส.ให้สังคมได้รับรู้
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาเปิดประเด็นเรื่อง ส.ส.รัฐบาล พรรคภูมิใจไทย คือ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาตอนโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ จนสุดท้ายมีการส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย เปิดเผยเบื้องลึกปมตรวจสอบการเสียบบัตรแทนกันดังกล่าวโดยละเอียด ตลอดจนการให้ความเห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหาทางการเมืองและข้อกฎหมาย หากสุดท้ายศาล รธน.วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
-ก่อนที่จะออกมาแถลงข่าวเปิดประเด็น เรื่องข้อสงสัยการเสียบบัตรแทนกันได้แจ้งหรือถามความเห็นผู้ใหญ่ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหรือไม่?
มี 2 คน ช่วงนั้นผมพยายามติดต่อคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค แต่ตอนนั้นหัวหน้าพรรค ปชป.เดินทางไปประเทศอินเดีย เลยติดต่อไม่ได้ แต่ผมก็ฝากรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่เป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป. ว่าผมจะแถลงข่าวเรื่องนี้ เพราะข้อเท็จจริงอยู่ในมือผมแล้ว ผมหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเขาสามารถติดต่อคุณจุรินทร์ได้ ก็ช่วยแจ้งให้คุณจุรินทร์ทราบด้วย
คนที่สองที่ผมขอความเห็นก่อนก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็แจ้งไปว่าผมมีข้อเท็จจริงแบบนี้ คุณอภิสิทธิ์ก็ขอผมว่าอย่าแถลงเลย หากจะแถลงก็ให้คนอื่นแถลง โดยนำข้อมูลในมือผมไปให้คนอื่นแถลงแทน ท่านก็อธิบายเหตุผลต่างๆ ที่บอกว่าทำไมผมไม่ควรแถลงเอง ต่อมาวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม ก่อนที่ผมจะแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม ผมก็ลังเลใจ ผมก็โทรศัพท์ไปถามคุณอภิสิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เขาก็บอกว่ายังมีความเห็นเหมือนเดิมว่าผมไม่ควรแถลงเอง ควรให้คนอื่นแถลง แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็บอกว่าแต่สุดท้ายผมจะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่ผม คุณอภิสิทธิ์ก็เตือนผม 2 ครั้ง ผมก็บอกว่าข้อมูลของผม ผมเกรงว่าคนอื่นจะทำให้เสียของ
"ผมเลยตัดสินใจแถลง เพราะผมคิดว่าถึงแม้จะให้คนอื่นไปแถลงเรื่องนี้แทนผม ผมก็เชื่อว่าคนอื่นเขาก็ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้ผมไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย คนก็ต้องเชื่อว่าข้อมูลนี้มาจากผม ผมก็เลยคิดว่า เมื่อคนอื่นจะเชื่อแบบนั้น ผมแถลงเองดีกว่า"
-มีข่าวแกนนำพรรคภูมิใจไทยอยากให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มาคุยด้วยในเรื่องนี้?
ก็ไม่เป็นไร คุยได้ แต่ว่าโดยหลักการนี้ผมเชื่อว่าทุกคนต่างเข้าใจ และผมพยายามอย่างมากในการจำกัดขอบเขต ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างผมกับ ส.ส.ในพื้นที่เท่านั้นเอง มันไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล จำกัดขอบเขตระหว่างผมกับคุณนาที ผมกับคุณฉลอง ไม่ใช่เรื่องระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่เรื่องระหว่างประชาธิปัตย์กับรัฐบาล
ถามย้ำว่า กรณีนี้บางคนไปมองว่ามีความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล นิพิฏฐ์-รอง หน.พรรค ปชป. ย้ำว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะเมื่อผมจำกัดวงไว้ตามนี้ แล้วต่างเข้าใจเหตุผลกันแล้ว หากคนยังไม่เข้าใจกันอีก ผมก็ว่าแบบนี้ก็ไม่มีเหตุผลแล้ว อย่าลืมว่าตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผมในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้านก็ออกมาคัดค้าน ไปร่วมลงชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และผมยังไปเป็นพยานในห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญด้วยที่มีไม่กี่คน แล้วเรื่องนี้มีข้อมูลอยู่ในมือผม แล้วจะให้ผมทำอย่างไร ผมว่าก็ต้องเข้าใจผม
-ถ้ามีคนในพรรคประชาธิปัตย์มาขอ มาสั่งเบรก ก็จะไม่ยอม?
ถ้ามันลุกลามไปจนถึงขนาดว่า เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็คิดอยู่ในใจแล้วว่า ผมจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาธิปัตย์ แต่ผมก็ยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ไปไหนหรอก ยกเว้นเขาขับออก ผมกำลังตัดสินใจอยู่ ถ้ามีการทำเรื่องให้ลุกลามว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ทำให้รัฐบาลปั่นป่วน ผมก็จะลาออกให้ ถ้าสถานการณ์ไปถึงขนาดนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครพูดว่าเป็นเรื่องระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย หรือเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปัตย์เสียหาย ทำให้มีปัญหาในการร่วมรัฐบาล ถ้าอย่างนั้นผมจะลาออกให้
-ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มักพูดเรื่องการตรวจสอบการทุจริต การใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ ดังนั้นพรรคก็ควรสนับสนุนบทบาทของตัวคุณนิพิฏฐ์ในเรื่องนี้?
ผมคิดว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่กล้าพูด ก็ไม่ควรมาคัดค้านผม ใครไม่กล้าก็อยู่เฉยๆ ไปแอบๆ ดู ไปแอบๆ ฟัง ว่าเขาทำอะไรกัน ไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรกัน กินกาแฟเสร็จก็กลับบ้าน ถ้าไม่กล้า แต่ว่านี่คือหลักการของประชาธิปัตย์ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องการเสียบบัตรไว้ว่า เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เรื่องนี้มันชัด เป็นการทุจริต เมื่อทุจริตต่อหน้าที่ แล้วผมมีข้อมูล ผมจะไม่ทำได้อย่างไร
"จริงอยู่เขาเป็นคู่ต่อสู้ผมในพื้นที่ แต่กลับกันหากผมชนะเขา แล้วผมทำแบบเขา นายฉลองจะทำแบบผมไหม ผมว่าเขาก็ทำเหมือนกัน เขาก็ต้องร้องผมเช่นกัน แล้วประชาชน ประเทศนี้ ต้องการการตรวจสอบหรือไม่ หรือว่าประเทศนี้ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบกันแล้ว หรือว่ารัฐบาล เป็นรัฐบาลอยู่ด้วยกัน แต่รัฐบาลทำผิด แล้วเราไปเห็นด้วยหมด เราไม่คัดค้าน ไม่ตรวจสอบกันเลย จะเอาแบบนั้นกันหรือ ถ้าเอาแบบนั้นก็บอกผมมา"
ที่มาข้อมูล ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
จากนั้น นิพิฏฐ์ กล่าวลงรายละเอียดถึงที่มาที่ไปในการตรวจสอบเรื่องนี้ว่า เรื่องเกิดจากวันเสาร์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ที่เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยวันดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 วันดังกล่าวผมก็อยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ก็ไปงานวันเด็ก วันนั้นช่วงบ่ายๆ ก็มีคนมาบอกผม มานั่งคุยกัน เขาก็บอกผมว่า เมื่อช่วงเช้านายฉลองไปเป็นประธานงานวันเด็กอยู่ที่เทศบาลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ ผมฟังแล้วก็เฉยๆ เพราะคิดว่าเขาอาจจะลา เพราะ ส.ส.สามารถลาการประชุมสภาได้ ไม่ได้ติดใจอะไร ต่อมาก็มีประชาชนในพื้นที่มาพบผม เขาก็เล่าให้ฟังว่านายฉลองไปงานวันเด็กที่ อบต.ชะมวง อำเภอควนขนุน เขาบอกว่าเขาเห็นนายฉลองไปในงาน
พอประชาชนบอกมาแบบนั้น เลยเท่ากับมี 2 ข้อมูล ก็คือที่เทศบาลอ่างทองกับที่ อบต.ชะมวง อำเภอควนขนุน ที่นายฉลองไปเป็นประธานงานวันเด็ก ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้ติดใจอะไร แต่หลังจากนั้นผมขึ้นมาที่รัฐสภาเพื่อร่วมประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่ผมเป็นกรรมาธิการอยู่ ก็เห็นว่าเมื่อมารัฐสภาแล้ว ก็เลยสอบถามเจ้าหน้าที่ของสภาว่า ในวันที่ 11 มกราคมดังกล่าว นายฉลองได้ลาการประชุมหรือว่าได้กดบัตรออกเสียงลงคะแนนหรือไม่ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเปิดเผย ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่านายฉลองกดออกเสียงทุกมาตรา ในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563
...แสดงว่าเขาไม่ได้ลาการประชุม แต่บัตรแสดงว่ามีการกดออกเสียง แต่ตัวของเขาไม่อยู่ที่รัฐสภา ผมก็มั่นใจตอนนั้น 80 เปอร์เซ็นต์แล้วว่ามีการฝากบัตร แต่เพื่อให้มั่นใจมากขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็ไปตรวจสอบเส้นทางการบินว่านายฉลองเดินทางกลับไปพัทลุงวันที่เท่าไหร่ เดินทางด้วยสายการบินอะไร ก็ปรากฏว่าในคืนวันที่ 10 มกราคม เวลาประมาณ 20.30 น. เขาเดินทางกลับด้วยสายการบินนกแอร์ จากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบินหาดใหญ่ จากนั้นผมก็เช็กต่อไปว่า แล้วนายฉลองเดินทางกลับวันไหน ก็พบว่าวันที่ 11 มกราคม และวันที่ 12 มกราคม ก็ไม่พบว่าเขาเดินทางอะไร โดยเขาเดินทางกลับวันที่ 13 มกราคม เวลา 11.30 น. โดยขึ้นเครื่องที่สนามบินนครศรีธรรมราชมาลงที่สนามบินดอนเมือง
“มันก็ชัดว่า หนึ่งตัวเขาไม่อยู่ที่รัฐสภา และเดินทางกลับพื้นที่พัทลุง และมีการโหวตในสภาฯ พอหลักฐานชัดแบบนี้ ผมก็เลยตัดสินใจแถลงข่าวว่า การพิจารณาของสภาที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีปัญหา เพราะมีการกดบัตรแทนกัน"
...ตอนที่ผมแถลง ผมไม่ได้บอกว่าเขารู้เห็นเป็นใจ เรายืนยันแค่ว่าบัตรของนายฉลอง มีคนนำไปกด ส่วนนายฉลองจะรู้เห็นเป็นใจหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนเขาจะไปสอบ แต่ผมก็ทิ้งท้ายว่าปกติการกดบัตรในสภา หากสภามีการปิดประชุม ถ้ามีสมาชิก ลืมบัตรไว้ในห้องประชุม โดยเสียบบัตรคาไว้ เจ้าหน้าที่เขาจะดึงบัตรออกหมด แล้วเช้าวันรุ่งขึ้น หรือเมื่อมีการเปิดประชุมสภาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสมาชิกรู้ว่าตัวเองลืมบัตรไว้ในห้องประชุม เขาก็จะไปเบิกบัตรคืนจากเจ้าหน้าที่ของสภา
ผมก็สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของสภาอีกว่า นายฉลองได้มีการฝากบัตรไว้ หรือเจ้าหน้าที่สภาฯ เก็บบัตรของนายฉลองไว้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ของสภาก็บอกว่า ไม่ได้มีการเก็บบัตรไว้ เมื่อไม่ได้เก็บ ก็แสดงว่าบัตรของนายฉลองมีคนถอดบัตรออกจากช่องแล้วนำกลับไป แล้ววันรุ่งขึ้นคนที่ถอดบัตรออกไป ก็นำบัตรกลับมาเสียบอีกครั้ง มันก็ชัดว่าเจตนา เขาไม่ได้มีการลืมบัตรไว้ แต่เขาใช้คนอื่นกดบัตรลงคะแนนให้ แล้วคนนั้น พอวันรุ่งขึ้นที่มีการประชุมต่อ เขาก็นำบัตรไปกดใหม่ ผมก็เลยแถลงข่าว
นิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีของนางนาที ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำพรรคภูมิใจไทยก็เช่นกัน ผมได้ข้อมูลหลังจากกรณีของนายฉลองอีก เพราะมีคนแคปหน้าจอโทรศัพท์ของเลขานุการ ผวจ.พัทลุง เป็นปลัดอำเภอ คนนี้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า วันที่ 11 มกราคมถึง 16 มกราคม เขาได้เดินทางไปประเทศจีนกับคุณนาที มีรูปลงด้วย ผมก็สันนิษฐานตอนแรกว่า นางนาทีน่าจะลาการประชุมเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ก็ลาได้ ตอนแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร จนต่อมาเริ่มเอะใจว่าเขาฝากบัตรด้วยหรือไม่ หลังจากนั้นอีกสัก 2-3 วัน ผมก็ไปตรวจสอบว่าบัตรของนางนาทีมีการกดบัตรออกเสียงในห้องประชุมหรือไม่ ปรากฏว่าบัตรของคุณนาทีมีการโหวต
..ผมก็เช็กละเอียดไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง-ขาออก ซึ่งกรณีของคุณนาที เราเช็กยากกว่านายฉลอง เพราะการเดินทางภายในประเทศไม่ต้องผ่านด่าน ตม. แต่ไปต่างประเทศต้องผ่านด่าน ตม. ผมก็ขอให้พรรคพวกช่วยตรวจสอบให้ โดยบอกว่าพอทีทราบว่านางนาทีไปจีน แต่ไม่รู้ว่าไปด้วยสายการบินอะไร เดินทางไปเวลาไหน เขาก็ขอชื่อ นามสกุล ผมก็แจ้งไป
ต่อมาก็ตรวจสอบแล้วพบว่า นางนาทีเดินทางไปจีนด้วยสายการบิน Thaismile โดยผ่านด่าน ตม.ขาออก ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 15.28 นาที มีรูปเรียบร้อย เพราะเวลาผ่าน ตม.เขาจะถ่ายรูปเราไว้ จากนั้นผมก็ไปเช็กต่อว่าแล้วเขากดบัตรออกเสียงในห้องประชุมสภาฯ หรือไม่ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ก็ปรากฏว่า จากข้อมูลที่ผ่านด่าน ตม. เวลา 15.28 น. แต่เวลา 15.46 น. หลังจากนั้นอีก 18 นาที ตรวจสอบพบว่าบัตรของนางนาทียังออกเสียงโหวตอยู่ที่สภาฯ แต่หลังจาก 15.46 น. เขาไม่ได้โหวตแล้ว แต่หลังจากผ่านด่าน ตม.ไปแล้วเขายังโหวตอยู่ ผมก็ไล่ตรวจสอบต่อไปว่า ก่อนที่เขาจะผ่านด่าน ตม. เวลา 15.28 น. ผมก็ไล่ตรวจสอบละเอียด โดยไล่ย้อนหลังเวลาไปเรื่อยๆ ไล่ไป 10 นาที 20 นาที 30 นาที ก็พบว่าเขายังกดบัตรออกเสียงอยู่ตลอด ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะหากเดินทางออกจากรัฐสภา แล้วไปขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผมให้เวลาแบบ VIP อย่างคุณนาทีเลย ก็ 1 ชั่วโมง ซึ่ง 1 ชั่วโมงก็ถือว่าจวนเจียนมากแล้ว เพราะต้องไปเช็กอิน ต้องผ่านการตรวจ ต้องผ่านด่าน ตม.
"ผมให้ย้อนหลัง 1 ชั่วโมงก่อนที่เขาจะปรากฏตัวที่ด่าน ตม. คือย้อนหลังไปที่เวลา 14.28 น. เขาก็ต้องโหวตอีก 4-5 มาตรา ซึ่งผมว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว ช่วง 40 นาทีนั้น เขาจะกดบัตรออกเสียงในห้องประชุมได้อย่างไร เพราะตัวเขาต้องเดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ผมก็สรุปว่า กรณีของคุณนาที ตอนที่เขาออกมาจากรัฐสภา โดยนั่งรถยนต์ออกมา บัตรของเขากลับยังโหวตอยู่ และเวลาที่เขาผ่านด่าน ตม. บัตรของเขาก็ยังโหวตอยู่ แสดงว่าบัตรของเขามีคนนำไปใช้"
...ผมไม่ได้บอกว่าคุณนาทีรู้เห็นเป็นใจ เพียงแต่บัตรของคุณนาทีมีคนนำไปโหวตแทน ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมีปัญหาขึ้นมา
นิพิฏฐ์ ให้ความเห็นว่า การเสียบบัตรแทนกันต้องพิจารณาความผิดหลักๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.งบฯ เมื่อพบว่ามี ส.ส.กดบัตรแทนกัน จะมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ผู้แทนราษฎรกดได้เสียงเดียว โดยถ้าพบว่า ส.ส.ไปกดบัตร 2 ใบ 3 ใบ ก็จะทำให้การลงมติในร่างพระราชบัญญัติในที่ประชุมสภามีปัญหาขัดกับรัฐธรรมนูญ
“เรื่องนี้แยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.หากมี ส.ส.กดบัตร 2 ครั้ง คือกดของตัวเองและกดบัตรของคนอื่น ก็อาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ 2.เรื่องความผิดทางอาญา จะเกิดขึ้นกรณี หาก ส.ส.เจ้าของบัตรลงคะแนน ฝากบัตรของตัวเองให้คนอื่นกดแทนให้ เท่ากับ ส.ส.คนดังกล่าวคือตัวการ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และยังผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย โดยต้องมีข้อเท็จจริงว่า ส.ส.เจ้าของบัตรรู้เห็นเป็นใจ นำบัตรของตัวเองให้คนอื่นกดแทนให้หรือไม่ หากพบว่าเจ้าของบัตรลืมจริงๆ ทางอาญาก็อาจไม่ผิด แต่ตัวกฎหมายที่มีการออกเสียงก็ยังคงมีปัญหาเช่นเดิม“
...ยกตัวอย่างให้เห็น เช่น ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมสภา แล้วผมมีความจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ ผมเดินออกจากห้องประชุมสภาเป็นเวลา 5 นาทีเพื่อไปเข้าห้องน้ำ ในช่วงดังกล่าวเกิดห้องประชุมมีการให้ ส.ส.กดลงมติในมาตราใดมาตราหนึ่งของกฎหมาย แล้วเพื่อน ส.ส.ของผมเห็นว่าผมไม่ได้นั่งอยู่ในห้องประชุม แล้วกดบัตรออกเสียงให้ผม ลักษณะแบบนี้การออกเสียงดังกล่าวอาจมีปัญหา ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันที เพราะเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าผมจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส่วนผมในฐานะเจ้าของบัตร จะมีความผิดหรือไม่ ก็อาจจะไม่ เพราะผมไม่ได้มอบให้ใครมากดบัตรออกเสียงแทนผม ผมไปห้องน้ำแล้วผมกลับมาไม่ทัน ลักษณะแบบนี้ เขาปฏิเสธความรับผิดทางอาญาได้ แต่ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกฎหมายก็เสียไปเหมือนกัน
...กรณีของนายฉลองกับนางนาที หากเราจะพิจารณาเรื่องความรับผิดทางอาญาก็ต้องดูว่าทั้ง 2 คนรู้เห็นเป็นใจให้คนอื่นนำบัตรของตัวเองไปให้คนอื่นกดบัตรแทนให้หรือไม่ ที่ผ่านมาคุณนาทีเขาก็เงียบ ไม่ได้ออกมาพูดอะไร แต่ของนายฉลองเขารับว่า บัตรของเขามีคนนำไปกดให้ โดยเขาลืม แต่ก็อยู่ที่ศาลจะพิจารณา ศาลจะเชื่อหรือไม่ว่าคุณฉลองลืมบัตรไว้ แล้วมีคนนำไปกด เพราะตั้ง 20-30 มาตรา หากศาลเชื่อก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว แต่ถ้าศาลไม่เชื่อ ศาลมองว่าคุณฉลองรู้ด้วย คุณฉลองก็อาจมีความผิดทางอาญา
นิพิฏฐ์ กล่าวว่า หลังจากนี้เมื่อศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบการไต่สวน ทำให้ศาลสามารถค้นหาความจริงได้กว้างขวางมาก ศาลก็อาจจะพิจารณาเอง เช่น หากศาลเห็นว่าผมมีข้อมูล ศาลก็อาจจะเรียกผมไปเบิกความ แต่คำร้องเรื่องนี้ ผมไม่ได้เป็นพยานอะไร ผมเพียงแถลงข่าวอย่างเดียว
ส่วนที่เคยให้ความเห็นว่า ทั้งนายฉลองและนางนาทีควรรับสารภาพเพื่อไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เป็นโมฆะทั้งฉบับ ก็เพราะไม่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สิ้นสภาพไปเพราะเป็นโมฆะ ซึ่งจริงๆ ผมเห็นด้วยกับที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาให้ความเห็นว่า กรณีล่าสุดกับกรณีก่อนหน้านี้ คือกรณีของนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ซึ่งผมก็เห็นว่ามันแตกต่างกันจริงๆ
...ข้อเท็จจริงในคดีคำร้องของนายนริศร ข้อเท็จจริงคือเขาได้ให้การว่าเขาไม่ได้กดบัตรแทน ส.ส.คนใด แต่ในภาพที่ปรากฏทุกบัตรเป็นของเขา คือ ส.ส.โดยปกติจะมีบัตรสามใบ คือ หนึ่ง-บัตรประจำตัว ส.ส.ที่จะมีรูป ส.ส.คนนั้นๆ อยู่ในบัตรด้วย สอง-บัตรลงคะแนน สาม-บัตรสำรองลงคะแนน ทำให้ ส.ส.คนหนึ่งจะถือบัตรไว้ติดตัวสามใบ แต่ศาลเห็นว่าบัตรตามภาพที่คุณนริศรถืออยู่เป็นบัตรลงคะแนน ไม่ใช่บัตรประจำตัว ส.ส. เพราะศาลพิจารณาแล้วศาลเห็นว่า บัตรที่นายนริศรถืออยู่ตามภาพดังกล่าวไม่มีรูป ส.ส.จึงเป็นบัตรลงคะแนน แล้วที่นายนริศรอ้างว่าบัตรลงคะแนนของเขามักมีปัญหาเวลากด เช่นกดแล้วมัน error เลยต้องถือบัตรสำรองไว้ ซึ่งศาลไม่เชื่อว่าเขาจะถือบัตรทั้งตัวจริงและบัตรสำรองไว้
เพราะวิธีการของสภาก็คือ หากถึงเวลาต้องกดบัตรแสดงตัว แล้ว ส.ส.ลืมบัตรไว้ไม่ได้นำติดตัวมาด้วย จะต้องไปเบิกบัตรสำรอง แล้วเมื่อเบิกแล้ว ส.ส.คนนั้นต้องเซ็นชื่อด้วยเวลานำมา และข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ แม้ต่อให้กดทั้งบัตรจริงของ ส.ส.และบัตรสำรองที่เบิกมา แต่ผลการออกเสียงจะขึ้นมาแค่อันเดียวเท่านั้น แม้ต่อให้ ส.ส.คนนั้นเสียบบัตรทั้งบัตรจริงและบัตรสำรอง ทำให้คดีนั้นศาลไม่เชื่อว่านายนริศรกดบัตรของตัวเอง แต่เขากดบัตรของคนอื่นด้วย จึงไม่มีทางอื่นนอกจากให้เป็นโมฆะ
กรณีนี้จะต่างกับกรณีของนายฉลอง เพราะนายฉลองเขารับว่าไม่ได้กดบัตร แต่คนอื่นกดแทน เมื่อคุณฉลองบอกว่ามีคนกดแทน ข้อเท็จจริงก็ชัดแล้วว่าบัตรของนายฉลองมีคนอื่นนำไปกด ที่ผมอยากให้คุณฉลองรับออกมาก็เพื่อจะได้รู้ความจริงต่อไปว่า แล้วนายฉลองไม่ได้กดออกเสียงตั้งแต่มาตราไหน ของร่าง พ.ร.บ.งบฯ แล้วเพื่อน ส.ส.ของเขาที่กดแทนให้เขากดออกเสียงในมาตราไหน เช่นสมมุติว่าเขารับว่าเขาไปอยู่ที่พัทลุง เขาไม่ได้กดออกเสียงร่าง พ.ร.บ.งบฯ ตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 20 ถ้าแบบนี้ มาตรา 10 ถึงมาตรา 20 จะมีปัญหา ซึ่งต่างจากเคสของนายนริศรที่อ้างต่อศาลว่าเขากดเองหมด ศาลก็เห็นว่าเมื่อคุณนริศรกดบัตรของคนอื่น แล้วไม่ปรากฏว่ากดบัตรของคนอื่นในมาตราใดบ้าง แบบนั้นก็เลยเป็นโมฆะหมด
นิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาก็คือ เมื่อข้อเท็จจริงชัดแล้วว่านายฉลองไม่ได้กดบัตรตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 20 ผมคิดในทางกฎหมายว่าก็อาจมีทางออกก็คือ ก็ให้ลบคะแนนของนายฉลองออกตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 20 ในผลการออกเสียงของที่ประชุมสภา ตอนโหวตร่าง พ.ร.บ.งบ วาระสองตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 20 ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้หรือไม่ผมยังไม่รู้ เพราะมันก็ยังไม่เคยมีกรณีแบบนี้ แต่ว่าในรัฐธรรมนูญเองก็มีบทบัญญัติในมาตรา 148 วรรคสุดท้าย ที่ให้แยกส่วนในส่วนที่ไม่สมบูรณ์ออกจากส่วนที่สมบูรณ์ได้ ถ้าความไม่สมบูรณ์นั้นมันไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นโมฆะ
ด้วยเหตุนี้กรณีเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 จึงแตกต่างจากกรณีการเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท (นริศร ทองธิราช) ข้อเท็จจริงแม้ใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกัน ส่วนหากนายฉลองทำตามที่เสนอที่ให้สารภาพ แล้วเขาจะโดนคดีอาญาหรือไม่ ก็ต้องดูว่าคนที่มากดบัตรแทนเขา ตัวนายฉลองรู้ด้วยหรือไม่ เช่นนำบัตรไปให้เขากดให้หรือไม่ เช่นหากนายฉลองเกิดลืมบัตรไว้จริงๆ โดยเขาไม่ได้ตั้งใจจะกดออกเสียงอยู่แล้ว ไม่ประชุมแล้ว กลับบ้านเลยวันนั้น แต่ว่าบัตรแสดงตนก็เสียบคาไว้ โดยไม่ได้นึกว่าเพื่อน ส.ส.จะมากด แบบนี้นายฉลองก็อาจไม่มีความผิด แต่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ก็จะมีปัญหาแล้วอาจต้องตกไป ส่วนหากนายฉลองรับสารภาพ แล้วจะต้องไต่สวนว่าแล้วส.ส.คนไหนกดบัตรให้นายฉลอง ก็อยู่ที่ว่ามันจะไปถึงตรงนั้นหรือไม่ แต่ผมเคยอ่านที่นายฉลองให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนั้นผ่านไป 2-3 วันเขามาที่รัฐสภา ก็มีเพื่อน ส.ส.นำบัตรมาคืนให้เขา
...แบบนี้ก็มัดเลยว่า แล้ว ส.ส.คนนั้นคือใครที่นำบัตรมาคืนให้เขา เพราะเท่ากับคนที่นำบัตรมาคืน คนนั้นคือคนที่นำบัตรของนายฉลองไปกด ซึ่งก็ต้องเป็นแบบนั้น เพราะหากนายฉลองลืมบัตรไว้ในห้องประชุมสภา เจ้าหน้าที่ของสภาที่จะมาตรวจหลังประชุมก็ต้องเก็บบัตรไว้ แล้วต้องนำบัตรของนายฉลองคืนกลับให้นายฉลอง แต่นายฉลองรับเองว่าเพื่อนคืนให้ แล้วในการตรวจสอบของสภา เจ้าหน้าที่ของสภาก็บอกว่าไม่ได้มีการเก็บบัตรนายฉลองไว้ คนที่เก็บบัตรจึงเป็นเพื่อน ส.ส.ของนายฉลอง ก็อยู่ที่นายฉลองแล้วว่าเขาจะซัดทอดไปหรือไม่ ก็เหมือนกับมือปืนรับจ้างไปยิงคนตายโดยมีการไตร่ตรองไว้ก่อน แล้วมือปืนรับสารภาพว่ายิงจริง แต่มือปืนไม่ยอมซัดทอดว่าใครจ้างวาน กรณีแบบนี้เราก็เห็นเยอะแยะไป คุณฉลองก็อาจสู้แบบนี้
...ผมจึงเสนอให้เขาคืนของกลาง คือเงินในร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.2 ล้านล้านบาทเสียเถอะ อย่าให้เป็นโมฆะเลย โดยที่นายฉลองก็ออกมายอมรับว่าบัตรลงคะแนนของตนเองได้ถูกกดอื่นกดให้ตั้งแต่มาตราไหนถึงมาตราไหน
ทางออกหากร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
นิพิฏฐ์ ยืนยันว่าเรื่องนี้มีทางออก แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้วินิจฉัยตามที่ผมบอกก็ได้ เพราะเป็นเรื่องปัญหาของข้อกฎหมายที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่มันก็มีทางออกเพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่มีใครคัดค้าน ไม่เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ตอนนั้นฝ่ายค้านคัดค้านหนัก ผมยังไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ
...หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ การดำเนินการก็อาจทำได้สามวิธี 1.ก็ต้องกลับมาเริ่มกระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กันใหม่ โดยนำเสนอเข้าสภาวาระ 1 ใหม่จนถึงวาระ 3 ทางออกที่ 2 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ มีความไม่สมบูรณ์บางมาตรา ศาลก็อาจตีกลับแล้วส่งมายังสภาให้ดำเนินการทำมาตราที่มีความไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ ก็แล้วแต่ศาลจะหาทางออก 3.หากศาล รธน.วินิจฉัยให้เป็นโมฆะ รัฐบาลก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้ เช่น ศาล รธน.ใช้เวลาพิจารณา 15 วันหลังรับคำร้อง แล้วมีคำวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ วันรุ่งขึ้นรัฐบาลก็อาจออกเป็นพระราชกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ได้ แล้วก็นำพระราชกำหนดดังกล่าวกลับมาให้สภาเห็นชอบอีกครั้ง
-หากศาล รธน.วินิจฉัยให้เป็นโมฆะทั้งฉบับ สามารถใช้วิธีการนำกลับมาพิจารณาใหม่แบบสามวาระรวด ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาได้หรือไม่?
ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน การตั้ง กมธ.เต็มสภา เพราะก็เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เคยผ่านการพิจารณาของสภามาแล้ว โดยประชุมแล้ววาระหนึ่ง รับหลักการวาระสอง ก็ใช้กรรมาธิการเต็มสภา แต่ก็ต้องไม่มีการให้ ส.ส.มาอภิปรายรายมาตราตามร่างดังกล่าว เพราะหากมี ส.ส.อภิปรายขอเสนอตัดงบบางมาตรา ก็อาจมีปัญหาในการพิจารณาขึ้นมาอีก
ดังนั้นหากจะใช้วิธีการนี้ ก่อนการพิจารณาก็ต้องมีฉันทามติร่วมกันว่าจะพิจารณาสามวาระรวด ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา แต่ไม่มีการอภิปรายเพราะได้ผ่านการพิจารณาของสภามาก่อนแล้ว แบบนี้ก็อาจได้โดยรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็ต้องคุยกัน
เรื่องนี้ไม่ถึงทางตัน คนที่กังวลก็อาจเพราะไม่รู้ก็เลยอาจถูกชี้นำ กลุ่มนี้ก็อาจคิดไปว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะจะส่งผลต่างๆ เช่นทำให้ข้าราชการไม่ได้รับเงินเดือน ทั้งที่ในความเป็นจริงร่าง พ.ร.บ.งบฯ โดยปกติจะต้องเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 แต่วันนี้ข้าราชการประจำก็ยังมีเงินเดือนเข้าตามปกติ หรือมีคนไม่สบายไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็ยังรักษาคนไข้อยู่ ตำรวจก็ยังจับโจรปล้นร้านทองอยู่ เช่นเดียวกับเบี้ยผู้สูงอายุที่เงินก็ยังเข้าตามปกติ และอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจกังวลก็คือ พวกกลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ พวกนี้ก็กลัว เช่นผู้ที่ประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่นรถไฟฟ้าสายต่างๆ ก็อาจกังวลเงินจะออกช้า เรื่องนี้ก็ยังมีทางออก-ไม่ยาก ผมว่ารัฐบาลเขาเตรียมมาตรการไว้หมดแล้ว
เราถามอดีต ส.ส. 8 สมัยว่า การที่สภายุคนี้ยังมี ส.ส.ฝากบัตรเสียบแทนกันในห้องประชุม มองว่าเป็นอย่างไร นิพิฏฐ์ มองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ความรับผิดชอบของ ส.ส. มันมีมานานแล้วเรื่องพวกนี้ แต่เมื่อเราจับได้ เรามีข้อเท็จจริง เราก็ต้องบอก ก็เหมือนการลักทรัพย์มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายบอกว่าห้ามลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีการลักทรัพย์กันอยู่ เรื่องการกดบัตรแทนกันต่างก็รู้ว่าทำไม่ได้ แต่ ส.ส.ก็ยังทำกันอยู่ ส.ส.ก็คือคน อยู่ที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน
ส่วนกรณีฝ่ายค้านบอกว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา รองหัวหน้าพรรค ปชป. สวนความคิดทางการเมืองดังกล่าวของฝ่ายค้าน โดยบอกว่าเป็นตรรกะที่ผิด เพราะอย่างเรื่องการยุบสภาจะเกิดขึ้นกรณีรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นสภาลงมติคว่ำร่างกฎหมายของรัฐบาล แล้วรัฐบาลเลยตัดสินใจยุบสภาเพราะเป็นร่างกฎหมายสำคัญ จึงยุบสภาเพื่อให้ประชาชนพิสูจน์ว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ หรือว่าลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่กรณีดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำตัวเอง
เลิกไพรมารีโหวตเลือก หน.ปชป.
ต้นตอทำพรรคแตกแยก
กับประเด็นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ เวลานี้ถูกมองว่าอยู่ในสภาพผึ้งแตกรัง-เลือดไหลออก ทั้งที่ยังไม่มีสัญญาณการเลือกตั้ง หลังอดีตแกนนำพรรค, อดีต ส.ส., อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทยอยลาออกจากพรรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้กับกรณีอดีต 3 แคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากพรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และกรณ์ จาติกวณิช โดยมีกระแสข่าวด้วยว่าหากสัญญาณเลือกตั้งมาถึงเมื่อใดอาจมีคนของพรรค ปชป.ทยอยลาออกเพิ่มขึ้นอีก
นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า หลังจากนี้การลาออกของคนในพรรคน่าจะหยุดแล้ว และจากนี้เป็นจังหวะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องหาคนใหม่เข้ามาแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคก็คุยกันอยู่เรื่อย การเมืองพัฒนาการไปเร็วมาก ความเห็นคนก็หลากหลายมาก เราก็ต้องปรับตัว ส่วนที่คนมองว่าพรรคมีคลื่นใต้น้ำอะไรต่างๆ มองว่ามันเกือบจะหมดแล้ว ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเจริญเติบโตใหม่อีกครั้งแล้ว
เมื่อถามว่า การลาออกของคนที่เคยเป็นแคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค ปชป.มีผลกระทบอะไรกับพรรคตามมาหรือไม่ นิพิฏฐ์ ให้ความเห็นว่า กรณีอย่างคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผมว่าไม่มีผลกระทบ พูดตรงไปตรงมา เพราะเขาไม่ได้ทำกิจกรรมกับพรรคประชาธิปัตย์มานานมากแล้ว เขามาทำกิจกรรมกับพรรคครั้งสุดท้ายก็ตอนมาสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหาร สี่ปีกว่า เขาไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วพอแพ้ก็ลาออกไป จึงไม่ส่งผลกระทบ แต่สำหรับกรณีของกรณ์ จาติกวณิช ที่ลาออกไป ผมยอมรับความจริงว่ากระทบกับพรรคประชาธิปัตย์เยอะ เพราะเขาเป็นคนเก่งคนหนึ่งของพรรค เป็นหัวก้าวหน้าและนักธุรกิจอะไรต่างๆ ก็ชื่นชมเขา
-การที่พรรคใช้ระบบเลือกหัวหน้าพรรค เช่นใช้ระบบไพรมารีโหวตที่ให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศร่วมโหวตเลือกหัวหน้าพรรค แต่สุดท้ายทำให้คนที่เคยลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคทยอยลาออก วิธีการดังกล่าวควรต้องทบทวนหรือไม่
ผมว่าต้องทบทวน ต้องทบทวนจริงๆ เพราะมันเป็นประชาธิปไตยเกินไปแล้วเราจะตามไม่ทัน สมาชิกพรรคเองก็ตามไม่ทัน ถามว่าหลักการดังกล่าวประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ เขาใช้วิธีการแบบนี้หรือไม่ ก็พบว่าต่างก็ใช้ แล้วเลือกเสร็จคนที่แพ้ก็มาช่วยคนที่ชนะ แต่ของเรามันยัง มันไปไม่ถึงแบบนั้น ผมว่ามันมีผลเสียมากกว่า มันแตกแยกจริงๆ แตกแยก
นิพิฏฐ์ บอกว่าเขาเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของผู้อาวุโสในพรรค ปชป. เช่นนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่เสนอไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ให้พรรค ปชป.ต้องมีการกระจายอำนาจ แบ่งงานกันทำ เพราะต้องมีการแบ่งหน้าที่กันในพรรค เพราะคนคนเดียวบริหารไม่ได้ต้องแบ่งหน้าที่กัน อย่างในภาคเหนือ อีสาน รองหัวหน้าพรรค ปชป.คงดูแลไม่ได้ทั้งหมด เป็นไปไม่ได้เลย รองหัวหน้าภาคอีสานจะไปดูแลหมดทั้งภาคได้ อย่างผมเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ดูแล 14 จังหวัดที่เป็นฐานของประชาธิปัตย์ ผมก็ยังดูแลไม่ได้ ยืนยันว่าพรรค ปชป.จะต้องมีการปรับตลอด จะไปรอปรับช่วงใกล้ๆ เลือกตั้งย่อมไม่ได้ อย่างน้อยการหาคนใหม่ คนหัวก้าวหน้าเข้ามาเสริม อันนี้เป็นสิ่งที่พรรคต้องทำตลอด ผมเคยพูดตั้งแต่ตอนก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่าหากใครเข้ามาประชาธิปัตย์ตอนนั้นจะเติบโตได้เร็ว ถ้าเข้ามาช่วยพรรคตั้งแต่ตอนช่วงนี้ เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.สัก 200 คน แล้วมีใครเข้ามาเติมเสียงให้เป็น 201 เสียง กับตอนนี้ที่พรรคมี 50 คน แล้วมาช่วยตอนนี้ โดยเขามีศักยภาพ จะเติบโตได้เร็วเลย
แก้ รธน.ไม่แตะประเด็นสร้างแรงต้าน
ปิดท้ายที่ประเด็นเรื่อง แก้ไข รธน. ในฐานะที่ นิพิฏฐ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเขาให้ความเห็นไว้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีมติกันแล้วว่าจะต้องทำรายงานผลการศึกษาของกรรมาธิการออกมาให้ทันตามกรอบเวลาที่สภาให้ไว้ คือไม่เกิน 120 วันนับจากมีมติตั้งกรรมาธิการ โดยจะไม่มีการขยายเวลา
...ผมเชื่อว่าจะมีการแก้ไข รธน.เกิดขึ้น แต่กระบวนการแก้ไขจะออกมาอย่างไรกำลังดูกันอยู่ จะแก้ไขมาตรา 256 แล้วให้มีสภาร่าง รธน. หรือจะแก้ไข รธน.รายมาตราต้องมาดูกัน แต่เชื่อว่ามีการแก้ไข รธน.แน่นอนเพราะ กมธ.ทุกคนเห็นตรงกัน ก็มองว่ารัฐบาลเขาก็จริงใจในเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ดูความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เกือบทุกพรรคการเมืองต่างก็เห็นด้วยให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ส่วนมันจะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ห้าสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
"จุดที่จะทำให้เกิดวิกฤติ ทำให้การแก้ไข รธน.เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับสภาพ โดยอย่าไปแตะตรงนั้น เอาส่วนที่มันจะทำให้เกิดการแก้ไข รธน.ได้พอ เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน การตรวจสอบ การดำเนินคดีอาญาของนักการเมือง เรื่ององค์กรอิสระ"
เมื่อถามย้ำว่า หากมีการสับขาหลอกเช่นรัฐบาลก็แสดงท่าทีเอาด้วยให้มีการแก้ไข รธน. แต่แกนนำรัฐบาลส่งสัญญาณถึงสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องร่วมออกเสียงในการแก้ไข รธน.ด้วย ไม่ให้สนับสนุนการแก้ไขรธน. นิพิฏฐ์ ตอบว่า เราก็อย่าไปแตะในส่วนที่เขาไม่เห็นด้วย ยังไง 120 วันก็คงได้ข้อสรุป ส่วนที่ว่า เมื่อ กมธ.ส่งรายงานข้อเสนอไปแล้วทางที่ประชุมสภาจะไม่เอาด้วย คงเป็นไปไม่ได้เพราะ กมธ.ก็มาจากทุกพรรค และเมื่อรายงานของ กมธ. สภาเห็นด้วย ก็ต้องส่งไปยังรัฐบาลให้รับไปปฏิบัติ เช่น กมธ.มีข้อเสนอและข้อสังเกตในรายงาน กมธ. 1 2 3 เรื่องไหนปฏิบัติได้ก็รับไปปฏิบัติ ซึ่งก็อาจไม่ได้เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ก็ได้ แต่อาจจะเสนอให้แก้ไขบางมาตราในรัฐธรรมนูญ เพราะบางคนก็กลัวว่าหากไปแตะแก้ไขมาตรา 256 แล้วมันจะเลยเถิดไปเยอะ เขาก็กลัวอยู่ ก็ต้องรับฟังเขา บางคนก็เสนอว่าให้เอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขก่อน เช่นให้แก้ไขสัก 10 มาตราก่อน กมธ.ก็กำลังดูกันอยู่ ผมจึงเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ด้วย เราจึงยังคิดไปในทางบวกว่า รัฐบาลจะเห็นชอบด้วยกับที่คณะกรรมาธิการมีมติออกมา.
คิดอยู่ในใจแล้วว่าจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรค ปชป. ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อไม่ให้มีปัญหา...ถ้าสถานการณ์ไปถึงขนาดนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครพูดว่าเป็นเรื่องระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย หรือเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปัตย์เสียหาย ทำให้มีปัญหาในการร่วมรัฐบาล ถ้าอย่างนั้นจะลาออก...หรือว่าประเทศนี้ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบกันแล้ว หรือว่าเป็นรัฐบาลอยู่ด้วยกัน แต่รัฐบาลทำผิดแล้วเราไปเห็นด้วยหมด ไม่คัดค้าน ไม่ตรวจสอบ จะเอาแบบนั้นกันหรือ ถ้าเอาแบบนั้นก็บอกมา
หากศาล รธน.วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ การดำเนินการก็อาจทำได้ 3 วิธี 1.กลับมาเริ่มกระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ใหม่ 2.หากศาลวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ มีความไม่สมบูรณ์บางมาตรา ศาลก็อาจตีกลับแล้วส่งมายังสภาให้ดำเนินการทำมาตราที่มีความไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ 3.หากศาลวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ รัฐบาลก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้...ส่วนหากจะใช้วิธีให้สภาพิจารณา 3 วาระรวด...ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน การตั้ง กมธ.เต็มสภาเพราะเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เคยผ่านการพิจารณาของสภามาแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |