นายจุติ รมว.พม. (ที่ 2 จากซ้าย) มอบบ้านพอเพียงชนบทหลังแรกที่ จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี / ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พม.ประเดิมมอบบ้านพอเพียงให้ผู้ด้อยโอกาสที่จังหวัดอุบลราชธานีและระยองในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ตามโครงการ ‘มอบของขวัญปีใหม่จากใจรัฐบาลโดย พม.’ จำนวน 11,500 ครัวเรือน โดยสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนครอบครัวที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านชำรุดทรุดโทรมให้มีความมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทของ พอช.ที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ส่วนเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกโครงการในปีนี้ 21,115 ครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 1,708 ล้านบาท
ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้ทุกหน่วยงานดำเนินโครงการ ‘มอบของขวัญปีใหม่จากใจรัฐบาล’ ให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เนื่องในโอกาสปีใหม่ พ.ศ.2563 ซึ่งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้จัดเตรียมของขวัญด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ จำนวน 11,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นการสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม มีสภาพไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย เช่น หลังคารั่ว เสาเรือนผุ บันไดโยกคลอน พื้นบ้าน ฝาบ้าน ห้องน้ำ ห้องครัวชำรุด ฯลฯ ได้ซ่อมแซมบ้านเรือนให้มีความมั่นคง แข็งแรง มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 19,000 บาท
ล่าสุดวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้บริหารกระทรวง พม. ได้เดินทางมาที่บ้านโนนสร้างคำ ตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ‘บ้านพอเพียงชนบท’ หลังแรกในจังหวัดอุบลราชธานี (จากทั้งหมด 213 หลัง) ให้แก่ครอบครัวผู้ด้อยโอกาส โดยมีนายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่า จ.อุบลราชธานี นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และชาวบ้านตำบลไร่ใต้ประมาณ 300 คนให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ครอบครัวนางหนูจันทร์ เกาะแก้ว อายุ 54 ปี ชาวบ้านตำบลไร่ใต้ มีฐานะยากจน สภาพบ้านเดิมเป็นบ้านไม้ทรุดโทรมผุพัง โดยชาวชุมชนและทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 จ.อุบลราชธานีช่วยกันสร้างบ้านใหม่ ขนาด 4X6 ตารางเมตร โครงสร้างเป็นปูนและไม้ ก่อด้วยอิฐบล็อค เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 25-30 มกราคม ใช้เวลาก่อสร้าง 6 วัน ใช้งบประมาณจาก พอช. 19,000 บาท และงบสมทบจากขบวนองค์กรชุมชนและจังหวัดอุบลฯ ประมาณ 10,000 บาท
สภาพบ้านเดิมก่อนสร้างและหลังก่อสร้างเสร็จ
ทั้งนี้นางหนูจันทร์และสามีมีอาชีพปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 3 ไร่ แต่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ไม่มีรายได้ ต้องรับจ้างทำงานทั่วไป แต่มีงานไม่มากนัก เนื่องจากทั้งคู่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยนางหนูจันทร์ป่วยเป็นโรค ไตและความดันโลหิตสูง ส่วนสามีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.กล่าวว่า โครงการบ้านพอเพียงชนบทที่จังหวัดอุบลราชธานีขับเคลื่อนโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมาจากการคัดเลือกของชุมชน โดยราชการไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ใช้การประชาคมของชุมชนในการคัดเลือกครอบครัวที่มีความเดือดร้อนให้ได้รับการซ่อมสร้างบ้าน จึงถือเป็นรากฝอยของประชาธิปไตย โดยในขณะนี้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วกว่า 7,700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสภาองค์กรชุมชนฯ จะต้องนำเรื่องบ้านพอเพียงไปขับเคลื่อนต่อไป และต้องแสดงให้เห็นถึงพลังของสภาองค์กรชุมชนเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้รับรู้
“โครงการบ้านพอเพียงชนบทความจริง พอช.ควรจะทำได้ถึง 400,000 หลังทั่วประเทศ แต่ได้รับงบประมาณน้อยไม่ถึง หลังละ 20,000 บาท จึงต้องใช้การบูรณาการของทุกภาคส่วน เพราะวัสดุและค่าแรงสูงขึ้น ผมจึงได้เรียนกับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทหารช่างมาช่วยเหลือสร้างซ่อมบ้านให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งท่านก็ยินดี สั่งการให้ทหารช่างมาช่วย ทำให้ลดงบประมาณด้านค่าแรงลงได้ และวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งจะต้องทำในจุดอื่นๆ ต่อไป” รมว.พม.กล่าว
นอกจากนี้ในวันดังกล่าว รัฐมนตรี พม.ได้มอบป้ายโครงการบ้านพอเพียงชนบท ปี 2563 ที่จะดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 213 หลังคาเรือน งบประมาณรวม 4,047,000 บาท ให้แก่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี มอบงบประมาณซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ จำนวน 5 หลัง งบประมาณรวม 128,000 บาท มอบงบประมาณซ่อมแซมบ้านผู้พิการ จำนวน 2 หลัง งบประมาณรวม 40,000 บาท มอบงบประมาณปรับสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุ “ส่งความสุข ลดทุกข์ปรับโถ” (ปรับปรุงห้องสุขา) 1 หลัง งบประมาณ 5,000 บาท และมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัว จำนวน 8 ครอบครัว งบประมาณรวม 24,000 บาท
รมว.พม. (ที่ 4 จากขวา) มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียง จ.อุบลราชธานี รวม 213 หลัง
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรี พม.จะเดินทางไปที่ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อเป็นประธานใน งาน ‘Kick Off มหกรรมบ้านพอเพียง : ซ่อมบ้าน สร้างโอกาส ส่งความสุข ปี 2563’ โดยการซ่อมสร้างบ้าน 10 หลังแรก (จากทั้งหมด 1,525 หลังใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก) และมอบบ้านพอเพียงหลังแรกที่สร้างบ้านใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุครอบครัวนายอัมรินทร์ อุ่นเรือน ซึ่งมีฐานะยากจน บ้านเดิมเป็นเพิงก่อสร้างด้วยเศษไม้ หลังคาสังกะสี สภาพผุผังทรุดโทรม ถูกปลวกทำลาย โดยชาวชุมชน และช่างอาสาช่วยกันสร้างบ้านใหม่ ขนาด 5X7 ตารางเมตร ชั้นเดียว ก่อสร้างด้วยอิฐบล็อค ใช้งบประมาณจาก พอช. ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท 18,000 บาท พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดระยอง (พมจ.ระยอง) 40,000 บาท งบจากศูนย์คนไร้ที่พึ่ง 3,000 บาท และโถส้วมจากบริษัทสุภัทราแลนด์
นายอัมรินทร์มีอายุ 62 ปี อาศัยอยู่กับภรรยา มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างเก็บน้ำยาง มีรายได้วันละประมาณ 150 บาท ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของน้องสาวมานานกว่า 20 ปี ในช่วงปลายปี 2562 นายอัมรินทร์และภรรยาประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ไหปลาร้า ทำให้ทำงานหนักไม่ได้ ประกอบกับมีผู้จ้างงานน้อย จึงไม่มีรายได้ เมื่อมีโครงการบ้านพอเพียงชนบท คณะกรรมการในตำบล ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านและ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ได้มาสำรวจครอบครัวผู้เดือดร้อน และเสนอให้มีการซ่อมสร้างบ้านให้แก่นายอัมรินทร์ แต่เนื่องจากสภาพบ้านเดิมผุผังทรุดโทรม ไม่สามารถรื้อซ่อมแซมได้ จะต้องสร้างบ้านใหม่โดยการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหลายฝ่าย
“ผมรู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบมาให้ ขอบคุณคนที่มาช่วยสร้างบ้านด้วย เพราะลำพังผมกับเมียก็ไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาสร้างใหม่ เพราะมีรายได้พอกินไปวันๆ เท่านั้น” นายอัมรินทร์บอกความรู้สึก
สภาพบ้านนายอัมรินทร์ก่อนสร้างและหลังสร้าง
นอกจากนี้รัฐมนตรี พม.จะมอบงบประมาณบ้านพอเพียง ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ปี 2563 จำนวน 1,525 หลัง งบประมาณรวม 27,360,000 บาท มอบบ้านพอเพียงจังหวัดระยองที่สร้างเสร็จแล้วปี 2562 จำนวน 212 หลัง มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ช่างชุมชน หน่วยงาน ร้านค้าที่ให้การสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท รวมทั้งมอบของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุจังหวัดระยอง “ส่งความสุข ลดทุกข์ปรับโถ” (ซ่อมห้องสุขา) โดยภาคเอกชนจังหวัดระยอง และมอบงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง จำนวน 4 ล้านบาทจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองให้แก่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.ระยอง
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการโดย พอช.ว่า ในปี 2563 พอช. มีแผนงานสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวม 21,115 ครัวเรือน รวมงบประมาณ 1,708 ล้านบาทเศษ
แยกเป็น 1.โครงการบ้านมั่นคง จำนวน 5,500 ครัวเรือน 2.โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน) จำนวน 11,500 ครัวเรือน 3.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 3,115 ครัวเรือน และ 4.ที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ ไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการโดย พอช. มีเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”
“ส่วนกระบวนการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงนั้น จะให้องค์กรชุมชนที่มีการจัดตั้งอยู่ในพื้นที่แล้ว เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการตำบล เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน โดยมีทีมช่างชุมชนช่วยสำรวจ คำนวณวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน นำข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนมาจัดเวทีประชาคมให้ชาวชุมชนช่วยกันรับรองสิทธิ เพื่อให้ได้ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนจริง จากนั้นชุมชนจะเสนอโครงการมายัง พอช. เพื่ออนุมัติโครงการและงบประมาณ” ผอ.พอช. พอช.ชี้แจงกระบวนการ
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. (ที่ 2 จากขวา) และ รมว. พม.( ที่ 3 จากขวา)
ส่วนการซ่อมสร้างบ้านเรือนนั้น ชุมชนและครัวเรือนที่เดือดร้อนจะช่วยกันซ่อมสร้าง โดยนำงบประมาณที่ได้รับมาจัดซื้อวัสดุพร้อมกันในปริมาณมาก ทำให้ได้ส่วนลด ใช้แรงงานจิตอาสา เช่น หน่วยทหารในพื้นที่ และช่างชุมชน ทำให้ซ่อมสร้างได้เร็วและประหยัดงบประมาณ ในกรณีที่สภาพบ้านทรุดโทรมและผุพังมาก ไม่สามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมได้ จำเป็นต้องสร้างบ้านใหม่ ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล รวมทั้งภาคเอกชนจะช่วยกันสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5-7 วันจนได้บ้านหลังใหม่ ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน
นายสมชาติกล่าวด้วยว่า โครงการบ้านพอเพียงชนบทจำนวน 11,500 หลังทั่วประเทศ ขณะนี้กำลังดำเนินการในทุกภูมิภาค แยกเป็น 1.ภาคเหนือ จำนวน 2,200 ครัวเรือน 2.ภาคอีสาน 2,700 ครัวเรือน 3.ภาคกลางและตะวันตก 2,200 ครัวเรือน 4. กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก 2,200 ครัวเรือน และ 5.ภาคใต้ 2,200 ครัวเรือน งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 218,500,000 บาท
ทั้งนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายทั้งหมด 352,000 ครัวเรือน ปัจจุบัน (มกราคม 2563) ดำเนินการซ่อมสร้างแล้วเสร็จ รวม 39,194 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2,391 ตำบล ใช้งบประมาณ 713 ล้านบาทเศษ ส่วนในปี 2563 มีเป้าหมาย 11,500 ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 218.5 ล้านบาท ตามแผนงานจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าหมายจำนวน 49,326 ครัวเรือน
“โครงการบ้านพอเพียงชนบท แม้ พอช.จะใช้งบประมาณสนับสนุนไม่มากนัก แต่ประเด็นสำคัญก็คือการใช้บ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนา เพื่อให้คนในชุมชนและทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้คนจนเข้าถึงบริการทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบทยังนำไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องสวัสดิการชุมชน การสร้างอาชีพ ธุรกิจชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ชาวบ้านได้รวมพลังองค์กรชุมชนและภาคีต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต” ผอ.พอช.กล่าวย้ำ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |