สหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียูอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เวลา 5 ทุ่มวันศุกร์ที่ 31 มกราคมของอังกฤษ เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านที่สองฝ่ายต้องเจรจาเรื่องความร่วมมือหลังเบร็กซิตกันต่อทั้งด้านการค้าและความมั่นคง นายกฯ บอริส จอห์นสัน ประกาศเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของอังกฤษ
รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า เวลา 23.00 น.วันที่ 31 มกราคม 2563 ตามเวลาของอังกฤษ ตรงกับเวลาเที่ยงคืนของกรุงบรัสเซลส์ (06.00 น.ของวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ของไทย) คือเวลาที่อังกฤษสิ้นสภาพสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ตามกฎหมาย และกลายเป็นชาติแรกที่ถอนตัวออกจากประชาคมอายุ 46 ปีที่มีสมาชิก 28 ประเทศแห่งนี้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์คราวนี้เป็นผลจากการลงประชามติของผู้คนในอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 52% ต่อคัดค้าน 48% เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่เสียงส่วนใหญ่ในอังกฤษและเวลส์เห็นด้วยกับการแยกทางจากอียู แต่สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอียูต่อไป
การลงประชามติครั้งนั้น ซึ่งบอริส จอห์นสัน เป็นโต้โผรณรงค์ฝ่ายเบร็กซิต ทำให้อังกฤษแยกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน เกิดความโกลาหลวุ่นวายทางการเมืองระหว่างการจัดทำความตกลงแยกทางกับอียู และทำให้อังกฤษต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่พรรคอนุรักษนิยมภายใต้การนำของจอห์นสัน กวาดที่นั่งได้เกินครึ่งสภา ความตกลงที่รัฐบาลเจรจาต่อรองกับอียูมายาวนานหลายปีจึงสามารถผ่านมติรับรองของสภาผู้แทนราษฎร
ความตกลงเบร็กซิตที่ว่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นหนี้สินของอังกฤษในอียู, สิทธิของพลเมืองต่างชาติในอียู, สถานะของไอร์แลนด์เหนือ และการกำหนดช่วงเปลี่ยนผ่าน
นายกฯ จอห์นสันให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะนำพาอังกฤษไปสู่อนาคตที่สดใส "งานของเราในฐานะรัฐบาล และงานของผม คือการทำให้ประเทศนี้ร่วมมือกันและเดินไปข้างหน้า"
"นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้น นี่คือช่วงเวลารุ่งอรุณเริ่มฉายแสงและม่านเลิกขึ้นเพื่อเริ่มการแสดงองก์ใหม่" จอห์นสันกล่าวในสุนทรพจน์
อังกฤษไม่จัดพิธีฉลองการแยกทางอย่างเอิกเกริก เพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชนอีกเกือบครึ่งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิต และยังหวาดกลัวอนาคตที่รออยู่ข้างหน้า จอห์นสันจะจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษที่เมืองซันเดอร์แลนด์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่ประกาศผลคะแนนเบร็กซิตเมื่อปี 2559
เวลา 22.00 น.ของอังกฤษ จอห์นสันจะแถลงต่อประชาชน แล้วจากนั้นจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะทำงานที่สำนักงานนายกรัฐมนตรี ณ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิงในกรุงลอนดอน
ภายหลังการแยกตัวอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย การติดต่อเกี่ยวพันระหว่างอังกฤษกับอียูจะยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด โดยเป็นผลจากการทำข้อตกลงกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ ทำให้ชาวอังกฤษยังสามารถทำงานและทำการค้ากับชาติสมาชิกอียูได้อย่างเสรีเช่นเดิม แต่อังกฤษจะไม่ได้มีตัวแทนในสถาบันทั้งหลายของอียูอีกต่อไป
ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนนี้ อังกฤษและอียู ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องเจรจาต่อรองกันอีกเพื่อกำหนดความเป็นหุ้นส่วนกันในอนาคตที่ครอบคลุมความร่วมมือทุกด้าน ตั้งแต่การค้าไปจนถึงด้านความมั่นคง
จอห์นสันยังต้องเจรจาทำความตกลงการค้าฉบับใหม่กับสหรัฐ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้สนับสนุนเบร็กซิตตัวยง และเมื่อวันพฤหัสบดี ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวระหว่างมาเยือนลอนดอนว่า การเบร็กซิตจะสร้างประโยชน์มหาศาลแก่ทั้งอังกฤษและสหรัฐ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |