วิกฤติแห่งการบริหารวิกฤติ!


เพิ่มเพื่อน    

          เปิดมาปีใหม่เราเจอกับปัญหาสารพัดสารพันทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนเรียกได้ว่าเราอยู่ในสภาพ Perfect Storm

                เพราะพายุถาโถมมาจากทุกทิศทุกทาง

                ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่น PM2.5

                ภัยแล้งหนักหน่วง

                งบประมาณปีใหม่ชะงัก

                บาทแข็งโป๊ก

                สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

                และล่าสุดการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

                นี่เพิ่งเดือนมกราคมของปีเท่านั้นก็ต้องเผชิญกับ "ความท้าทาย" อันหนักหนาสากรรจ์เช่นนี้แล้ว

                ภูมิต้านทานของประเทศเองก็ไม่ใคร่จะแข็งแรงเท่าไหร่นัก เจอกับพายุหนักมาจากหลายทิศทางอย่างนี้เท่ากับพิสูจน์ความสามารถของผู้บริหารประเทศ ที่ยังอยู่ในภาวะที่มีคำถามว่าจะตั้งหลักรับวิกฤติได้ทันท่วงทีหรือไม่

                อาการที่เห็น ณ วันนี้ก็ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง เพราะมีปัญหาตั้งแต่ความไม่ชัดเจนของทิศทางการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง

                ความยากที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ความสลับซับซ้อนของปัญหาแต่ละเรื่องที่ไม่เคยมีตัวอย่างเป็นคำตอบสำเร็จรูปให้เลียนแบบเหมือนแต่ก่อน

                ผู้บริหารตระหนักหรือไม่ว่าทุกปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ล้วนแล้วแต่มีปัจจัยใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนทั้งสิ้น

                ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเมืองของมหาอำนาจปรับเปลี่ยนอย่างหนัก

                ปัจจัยเทคโนโลยีที่เพิ่มความยากสำหรับผู้นำที่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ป่วน" หรือ  disruption อีกทั้งไม่ยอมรับความจริงว่าเมื่อตนไม่เข้าใจแล้วก็ยังไม่เรียนรู้ และไม่เปิดทางให้คนที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาร่วมวงการระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา

                อุปสรรคที่ร้ายแรงอีกข้อหนึ่งคือ การขาดการ "บูรณาการ" และความเป็น "เอกภาพ" ของการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาทางแก้ที่มีประสิทธิภาพ

                เรื่อง PM2.5 และภัยแล้งเป็นเพียงสองตัวอย่างชัดๆ ที่สะท้อนว่า ระบบการบริหารประเทศและระบบราชการของไทยวันนี้ล้าหลังคร่ำครึเกินกว่าที่จะตั้งรับกับวิกฤติของยุคสมัยแห่งวิบัติระดับโลกเรื่องโลกร้อน โรคระบาด และความขัดแย้งทางการเมืองและการค้าอย่างที่เราประสบอยู่วันนี้ได้อีกต่อได้

                หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำมีไม่ต่ำกว่า 36 หน่วยงาน ที่กระจายตัวอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย

                กลไกรัฐที่ว่าด้วยการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมีอยู่ในหน่วยงานรัฐเกินกว่าสิบหน่วย

                แต่ละหน่วยงานก็มีเป้าหมาย วิธีคิด งบประมาณ และทัศนคติต่อปัญหาและทางแก้ไปกันคนละทาง ทั้งๆ ที่ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่มีการ "กลายพันธุ์" อย่างต่อเนื่อง สูตรการแก้ปัญหาเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

                แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผู้บริหารกรมกองทั้งหลายตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีลงไปถึงพนักงานระดับท้องถิ่นไม่ได้มองปัญหาในทางเดียวกัน อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ ดั้งเดิมก็ยังทำให้การคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานั้นถูกสกัดกั้นตั้งแต่ต้นทาง

                รัฐมนตรีต่างกระทรวงไม่บูรณาการกันอย่างแท้จริง (ปากว่าประชุมร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติต่างฝ่ายต่างมีแนวทางของตัวเอง) ยิ่งมีเรื่อง "งบประมาณใครงบประมาณมัน" เป็นตัวกำหนดแผนงานและความเร่งด่วนของกิจกรรมแต่ละหน่วยงานด้วยแล้ว การแก้ปัญหาก็พบกับทางตันอย่างที่เราเห็นกันอยู่วันนี้

                หน่วยงานหลักที่แก้ปัญหาเหล่านี้มีหน้าที่หลักเพียงแค่รวบรวมข้อมูลและประสานงาน แต่ไม่มีอำนาจสั่งการเพราะต้องรอให้รัฐมนตรีตัดสิน และเมื่อรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงวาง "ลำดับความสำคัญ"  ของแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เราจึงมีคำถามตลอดเวลาว่า

                "ใครกำลังทำอะไรอยู่"

                เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติ" โดยให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ และไปๆ มาๆ นายกฯ ก็ต้องเป็นประธานในคณะกรรมการระดับชาติทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

                เพราะนายกฯ ก็ต้องให้รัฐมนตรีทั้งหลายเสนอทางออก เมื่อรัฐมนตรีและลูกทีมไม่สุมหัวคุยกันอย่างจริงจัง นายกฯ ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากจะบ่นเสียงดังๆ เกือบจะเป็นรายการประจำวันว่า ประชาชนไม่เข้าใจ ประชาชนใจร้อน ประชาชนไม่ร่วมมือและไม่เชื่อถือรัฐบาล

                จึงกลายเป็น "วิกฤติแห่งการบริหารวิกฤติ". 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"