ยกเครื่องระบบราชการ ในยุคดิจิทัล : ไม่ปรับก็ถูกปรับอยู่ดี


เพิ่มเพื่อน    

      เมื่อวานเขียนถึงโครงการ “ยกเครื่องระบบราชการไทย” ในภาวะที่ทุกวงการกำลังถูก disrupt (“ป่วน”) ที่หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ได้ประกาศเป็นแผนงานสำคัญของปีใหม่นี้

                ท่านให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรอบการปรับโครงสร้างระบบราชการที่มีบุคลากรทั้งหมด 1.33 ล้านคนดังนี้ คือ

                1) ออกแบบประเภทข้าราชการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และระบบราชการสัญญาจ้างแบบ contract base ในส่วนที่เป็นงานประจำ โดยไม่ต้องทำงานตลอดชีวิตอายุราชการ ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถทำงานได้หลากหลายตามภารกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้

                2) เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ระบบข้าราชการ ยกตัวอย่างในบางประเภทงาน นอกจากจะต้องสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐาน คือ การสอบภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. และจะต้องเพิ่มการสอบ “เฉพาะด้าน” ด้วย เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน

                ท่านบอกว่าปัจจุบันการสอบบรรจุข้าราชการจะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ไม่ว่าจะสอบเข้ามาทำงานประเภทใดก็ตาม

                และยังมองว่าการสรรหาข้าราชการเข้ามาทำงานควรใช้รูปแบบของการ “ทดลองงาน” เข้ามาปรับใช้ด้วย หากทำงานไม่ได้ในตำแหน่งแรกที่บรรจุ สามารถเปลี่ยนงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะคนที่ทำงาน

                ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลาออกโดยไม่จำเป็น ซึ่งก็เป็นลักษณะนำวิธีการทำงานของภาคเอกชนมาปรับใช้ และ

                3) การปรับอัตราโครงสร้างค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามประเภทงานและตามเนื้องาน รวมถึงในส่วนของผลตอบแทนของข้าราชการประจำ กับข้าราชการที่มีสัญญาจ้างแบบ 5-10 ปี ซึ่งมีเนื้องานที่ต่างกัน ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนก็จะต้องแตกต่างกันด้วย

                “ตอนนี้ ก.พ.อยู่ระหว่างการดีไซน์โครงสร้างข้าราชการใหม่ เพื่อให้มองสเต็ปต่อไป คือ การสรรหาคน เมื่อเราแบ่งประเภทของภาระงานชัดเจนแล้ว ก็ต้องดีไซน์ช่องทางการสรรหาให้มีมากกว่า 1 ประตู และอาจจะต้องมีประตูที่มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำสงครามแย่งชิงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในระบบราชการอีกด้วย” เลขาธิการ ก.พ.กล่าวและว่า

                เลขาฯ ก.พ. บอกด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ ก.พ.ว่า ปัจจุบันการสรรหาข้าราชการไทยมีไม่กี่ช่องทาง และไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงาน

                แม้ ก.พ.จะพยายามเปิดประตูต่างๆ มากขึ้นในการรับสมัครข้าราชการรุ่นใหม่ แต่ตราบใดที่โครงสร้างระบบราชการไม่ปรับเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่เข้ามาทำงานเป็นข้าราชการอยู่ดี โดยปีหน้าจะเริ่มดำเนินการตามผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างชัดเจน

                หม่อมหลวงพัชรภากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ก.พ.ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักงาน ก.พ.เป็น “ต้นแบบ” การหาคนเข้ามารับราชการ พร้อมจัดตั้งให้เป็น “HR LAB” หรือห้องปฏิบัติงาน เพื่อรื้อการบริหารระบบราชการงานบุคคลของประเทศ เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่เข้ามาปรับใช้

                ในโครงการนำร่องนี้ สำนักงาน ก.พ.ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน เพื่อมาช่วยกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (collaboration) ในการออกแบบวิธีการสรรหาข้าราชการ เพราะเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องนำไปใช้เทียบเคียงเพื่อนำเกณฑ์การสรรหาคนทำงานไปใช้กับหน่วยงานของตัวเองด้วย

                แต่อุปสรรคใหญ่ก็คือการปรับโครงสร้างข้าราชการมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ แต่ละกระทรวงมีกฎหมาย เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ภายใต้กำกับ จึงทำให้การปฏิรูประบบราชการค่อนข้าง “ยาก”

                นอกนจากนี้ยังมีแผนจะขยายอายุเกษียณราชการไปพร้อมๆ กันด้วย

                ก.พ.อยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นแยกเป็น 2 ส่วน คือ การต่ออายุให้กับผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ 60 ปี ทั้งที่ยังมีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกษียณ อาจจะทำให้ภาครัฐ “เสียประโยชน์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จเสนอ ครม.ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

                อีกส่วนคือ หน่วยราชการที่ต้องการและขาดแคลน แต่หาคนมาทำงานไม่ได้ สายงานหลักๆ คือ แพทย์ และนักกฎหมาย ขณะนี้ก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ สามารถสรรหาบุคลากรได้เอง เพียงแต่ให้ ก.พ.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่ออายุได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ “นักบริหาร” แต่จะเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะขั้นสูง

                ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่น่าสนใจ แต่การยกเครื่องครั้งใหญ่จะต้องคิดและทำแบบก้าวกระโดดให้พ้นจากการทำ “ทีละขั้น” และจำเป็นจะต้องระดมความเห็นของทุกฝ่าย รวมไปถึงเอกชนและผู้สันทัดกรณีในทุกสาขาวิชาชีพ

                ความท้าทายไม่ใช่เพียงที่ท่านเลขาฯ ก.พ. บอกว่า “ใครอุ้มช้างตัวนี้ออกจากห้อง?”

                แต่อาจจะต้องถามด้วยว่า “หนูตัวไหนจะเอากระดิ่งไปแขวนคอแมว”?. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"