นับจากนี้ กระบวนการไต่สวน-สู้คดี เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเรื่อง เสียบบัตรแทนกัน ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ระหว่างการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็เข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ที่พบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จนนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน จนสุดท้ายที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 29 ม.ค. ก็มีคำสั่งรับคำร้องที่ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า กรณีมีข้อร้องเรียนเรื่องตรวจสอบพบว่ามีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี วาระ 2 เรียงรายมาตรา
โดยศาล รธน.มีคำสั่งให้ผู้ร้อง ที่ก็คือ ส.ส.รัฐบาล ที่มีวิปรัฐบาลเป็นโต้โผใหญ่ในการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.รัฐบาล และกลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่นำโดยกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย และผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.รัฐบาล ที่มีข้อร้องเรียนและมีภาพข่าวในทำนองว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย, น.ส.ภิม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 4 ก.พ.
จะพบว่า กรอบเวลาการพิจารณาสำนวนคดีเสียบบัตรแทนกันดังกล่าวของศาล รธน. ได้วางกรอบเวลาไว้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งแตกต่างจากคดีอื่นๆ
มองได้ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ศาล รธน.ก็รู้ดีว่าการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เลยเวลาที่ควรจะมีการประกาศใช้กฎหมายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 มาเนิ่นนานหลายเดือนแล้ว ดังนั้นศาล รธน.จึงต้องวินิจฉัยสำนวนคดีเรื่องนี้ให้รู้ดำรู้แดงโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ความล่าช้าในการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบ 2563 เกิดผลกระทบในวงกว้างไปมากกว่านี้ ยิ่งหากสุดท้ายถ้าผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีความเห็นให้ร่าง พ.ร.บ.งบเป็นโมฆะ! แล้วรัฐบาลต้องไปหาทางออกแก้ปัญหา ก็จะยิ่งทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบยิ่งล่าช้าออกไปอีก เพราะเหตุนี้ศาล รธน.จึงต้องเร่งชี้ขาด ทำคำวินิจฉัยออกมาโดยเร็ว
มีความเป็นไปได้สูงที่สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคดีร่าง พ.ร.บ.งบแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 วัน นับแต่ศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนจะถึงขั้นตุลาการศาล รธน.ต้องเปิดห้องไต่สวนคดี เรียกฝ่ายต่างๆ มาเบิกความชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตุลาการศาล รธน.จะประชุมพิจารณากันอีกครั้ง หลังได้รับเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อมูลต่างๆ จากบุคคลที่ศาล รธน.สั่งให้ส่งเอกสารชี้แจง ที่หากเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาล รธน.เห็นว่า ข้อมูล-ข้อเท็จจริง เป็นที่ประจักษ์ชัด ก็อาจนัดลงมติตัดสินคดีได้เลย แต่หากเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่าง ตุลาการต้องการฟังคำเบิกความที่ชัดๆ จากผู้เกี่ยวข้อง ที่อาจไม่ได้อยู่ในบุคคลที่ศาลสั่งให้ส่งเอกสารชี้แจง เช่น ต้องการซักถาม นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดประเด็นดังกล่าว จนนำมาสู่การยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ก็อาจเรียกตัวนิพิฏฐ์มาเบิกความ หรือไม่แน่ตุลาการศาล รธน.อาจต้องการฟังคำเบิกความของเลขาธิการสภาฯ ถึงกระบวนการขั้นตอนการลงมติออกเสียงของ ส.ส.ในห้องประชุม ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และสภาฯ มีกระบวนการตรวจสอบอย่างไรว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน โดยเฉพาะศาลอาจต้องการฟังข้อเท็จจริงเรื่อง ช่องเสียบบัตรลงคะแนน ของ ส.ส.ในห้องประชุม ที่มีช่องเสียบบัตรน้อยกว่าจำนวน ส.ส. หาก ส.ส.เข้าประชุมกันจำนวนมากจนต้องใช้วิธียื่นบัตรให้ ส.ส.ช่วยกันกดให้ ศาลอาจต้องการรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ว่าสภาฯ จะมีการตรวจสอบอย่างไร ว่ามีการฝากบัตรให้กดลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.ในห้องประชุม เพื่อที่การฟังความรอบด้านดังกล่าวจะได้นำไปสู่การวินิจฉัยคดีที่ถูกต้องต่อไป
มองได้ว่า หากศาล รธน.ใช้วิธีการเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคดี แล้วเรียกฝ่ายต่างๆ มาเบิกความ มาให้ศาลไต่สวน ก็คาดว่ากระบวนการพิจารณาก็อาจต้องใช้เวลานานขึ้น แต่ประเมินดูแล้ว การที่ศาล รธน.รับคำร้อง 29 ม.ค. แล้วสั่งให้ฝ่ายผู้ร้อง-ส.ส.ที่ตกเป็นข่าวว่าเสียบบัตรแทนกัน เร่งส่งเอกสารคำชี้แจงให้สภาฯ ภายในวันที่ 4 ก.พ. ก็เป็นสัญญาณชัดแล้วว่า ศาล รธน.ใส่ speed เต็มที่แล้ว ดังนั้นหากสุดท้ายศาลจำเป็นต้องเปิดห้องพิจารณาคดี เรียกทุกฝ่ายที่ศาลเห็นว่าเมื่อฟังคำเบิกความแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก็เชื่อได้ว่าหากศาล รธน.เปิดห้องไต่สวนคดี ก็คงใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานนักก็รู้ผลคำวินิจฉัยได้ทันที ซึ่งเผลอๆ อาจไม่เกินกลางเดือน ก.พ.นี้ก็รู้ผลแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเตรียมทางออกไว้แล้วหลายทาง หากสุดท้ายผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาว่า ร่าง พ.ร.บ.งบเป็นโมฆะ โดยบางทางออกก็เป็นแนวทางที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะกล้าทำ
ขณะเดียวกันระหว่างนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน กำลังลุ้นผลการสู้คดีในชั้นศาล รธน. ในเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบ แต่ในทางการเมืองก็ยังมีการ “แฉ” เรื่องการเสียบบัตรแทนกันออกมาอีกเป็นระลอก ไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะจากคนการเมืองของ 2 พรรคคู่แข่งในพื้นที่พัทลุงและภาคใต้ คือประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ม.ค.63 สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน โดยเป็นบัตรของ ส.ส.พัทลุง เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาฯ ในวันที่ 10 ม.ค.2563 ในระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ ซึ่งแม้สุพัชรีพยายามแถลงแบบเลี่ยงๆ ไม่เปิดหน้าชนเต็มตัว แต่ก็รู้กันว่า ส.ส.พัทลุงเขต 1 ภูมิใจไทย ก็คือ ภูมิศิษฏ์ คงมี ที่เอาชนะ สุพัชรี ธรรมเพชร ไปได้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั่นเอง
ว่าไปแล้วการตรวจสอบเรื่องพฤติกรรมฉาวเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ถือเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยต่อจากนี้จะทำให้ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านตระหนักรู้หน้าที่ของตัวเองมากขึ้น เพราะหากการเข้าประชุมสภาฯ-ลงมติในห้องประชุมสภาฯ ถ้า ส.ส.ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง และยังมีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน นักการเมืองที่มีพฤติการณ์เช่นนี้ก็ไม่สมควรอยู่เป็น ส.ส.ให้เปลืองข้าวสุกรัฐสภาอีกต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |