"ประยุทธ์" นั่งหัวโต๊ะประชุมตำรวจ ย้ำคนไม่ดีต้องขจัดออกไป สั่งเดินหน้าปฏิรูป ตร. นำความเห็น กก.ปฏิรูปกับข้อ กม.มาพิจารณาร่วมกัน ลั่นยึดประโยชน์ ปชช. "ก.ตร." ไฟเขียวสอบวินัยร้ายแรง "อดีต ตร.ติดตามนายกฯ ปู" พร้อมตีตกคำร้องรองฯไพรัตน์ อึ้ง! "บิ๊กช้าง" โดนเด้งเข้ากรุโผล่ร่วมวง ก.ตร.
ที่ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันที่ 29 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย การเยียวยาคืนสิทธิการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะห้วงที่มิได้ปฏิบัติราชการ พร้อมทั้งขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้แก่ พ.ต.ท.สมยศ ตรีประสิทธิ์ชัย, ตร.หารือกรณีให้สิทธิข้าราชการตำรวจที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสำนวนอัยการ และให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่นิติกร, อ.ก.ตร.ร้องทุกข์ หารือปัญหาข้อกฎหมายกรณี พ.ต.ท.วทัญญู วิทยผโลทัย อดีต ผกก.สันติบาลและอดีตนายตำรวจติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร้องทุกข์, อ.ก.ตร.ร้องทุกข์หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในการออกคำสั่ง ศปก.ตร. และอำนาจการส่งตัวข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยเรื่องทรงผมไปเข้ารับการฝึกธำรงวินัย กรณี พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รอง ผบก.อก.ภ.9 และอดีตรอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ร้องทุกข์, ตร.หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2557
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีได้สอบถามผลการปฏิบัติในคดีสำคัญทั้งหมด และรับฟังรายงานคดีสำคัญต่างๆ
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังการประชุม ก.ตร.ว่า การประชุมของ ก.ตร.เป็นเรื่องของการบริหารกิจการภายในของตำรวจ ทั้งเรื่องการลงโทษ การเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งมีการลงโทษไล่ออกปลดออกกันเยอะแยะไปหมด ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำงาน คนไม่ดีก็ต้องขจัดออกไป ซึ่งต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
"ผมได้เน้นย้ำไปเรื่องของการปฏิรูปตำรวจไปด้วย จะได้ชี้แจงทำความเข้าใจกันว่าเราทำอะไรไปบ้าง และเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง หลายอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา และก็ต้องรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง ทั้งจากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ และเอากฎหมายมาดูด้วย มีทั้งองค์กร บุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดูว่าที่ทำมาได้อะไรมาแล้วบ้างที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ และเจ้าหน้าที่จะทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน อยากฝากว่าวันนี้ประเทศชาติต้องการความรัก ความสามัคคี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ต่อมา พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ก.ตร.ว่า กรณีหารือปัญหาข้อกฎหมาย ที่พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ได้ร้องทุกข์เมื่อปี 61 ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของสันติบาล มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น น่าจะเป็นคำสั่งที่มิชอบ อนุฯ ร้องทุกข์ได้พิจารณานำเสนอ ก.ตร.แล้วส่งเรื่องให้อนุฯ กฎหมายพิจารณา วันนี้ได้ข้อสรุปจากอนุฯกฎหมายแล้ว
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ประเด็นแรกเรื่องการตั้งกรรมการสืบสวนร้ายแรงโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนทำได้หรือไม่ ซึ่งทางอนุฯ กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าสามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาตรา 84 และ 86 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2556 ข้อ 3 กรณีมีการกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัยร้ายแรง จะสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีมูลเพียงพอที่จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือไม่ ในกรณีนี้แสดงว่าผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมีความเห็นว่ามีมูล
"ประเด็นต่อมา ถ้าพิจารณาว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน ดังนั้นหากเห็นว่ามีมูลเพียงพอในข้อเท็จจริงก็สั่งการได้ โดยสรุป ก.ตร.ตอบกลับไปว่าการดำเนินการที่ตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงโดยไม่สืบสวนข้อเท็จจริงก่อนนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมาย" พล.ต.ท.ปิยะกล่าว
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ในส่วนกรณีที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ ร้องทุกข์เมื่อปี 61 ว่า พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. (ขณะดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ) ได้ออกคำสั่งให้ พ.ต.อ.ไพรัตน์มาฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. โดยร้องทุกข์มา 3 ประเด็น เรื่องแรกจเรตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร.ได้หรือไม่ ได้ข้อสรุปว่า พล.ต.อ.สุชาติไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปก.ตร. ตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ดังนั้นจึงมีอำนาจให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร.ได้
ส่วนประเด็นที่ 2 เมื่อมาอยู่ ศปก.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติสามารถส่งตัวไปฝึกธำรงวินัยได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวจเรตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติจาก ตร. ว่ากรณีถ้าเห็นว่ามีโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพก็สามารถส่งไปได้ และประเด็นที่ 3 เมื่อจเรตำรวจแห่งชาติพบการกระทำความผิดของข้าราชการตำรวจแล้วดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่นั้น กรณีกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรรมการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา เมื่อจเรตำรวจพบการกระทำผิดของข้าราชการตำรวจ ก็ส่งเรื่องไปทางต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. ที่ถูกคำสั่งย้ายขาดจากตำแหน่งเดิม ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ยังคงเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะคณะกรรมการ ก.ตร. รวมถึงป้ายชื่อที่เขียนกำกับที่นั่งก็ยังระบุว่าเป็น รอง ผบ.ตร. (สส) ด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า แม้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์จะไม่ได้รับผิดชอบหน้างานสืบสวนสอบสวนแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็น ผอ.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง และ ผอ.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |