ยกเครื่องระบบราชการไทย: ใครจะอุ้มช้างออกไปนอกห้อง?


เพิ่มเพื่อน    

 

          ข่าวที่น่าสนใจในภาวะที่ไทยต้อง disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูก disrupt นั้นมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.

                มีรายงานข่าวว่า ก.พ.กำลังเตรียมยกเครื่องระบบราชการไทย 1.33 ล้านคนรับมือโลกเปลี่ยน

                ถ้าเป็นจริงก็จะเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะทุกครั้งที่เราพูดถึงการปรับตัวของประเทศไทย จะมีคำถามทันทีว่าเราจะกล้ายกเครื่องระบบราชการไทยจริง ๆ หรือ

                ถ้าทำแล้วใครจะทำ...นักการเมืองกล้าพอที่จะเขย่าระบบราชการจริงหรือ ในเมื่อพวกเขาก็ใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือในการทำงานของตัวเอง

                ข่าวบอกว่าโจทย์ใหญ่ในการปรับเปลี่ยน ก.พ.ครั้งนี้เน้นไปที่การ "เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดงบรายจ่าย"

อีกทั้งยังจะเปลี่ยนกระบวนการสรรหาใหม่ ให้ทันกับยุคสมัยดิจิทัลที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจจะทำงานเป็นข้าราชการเมืองก่อน

                เห็นบอกว่าจะมีการตั้ง HR LAB ที่จะเริ่มด้วยการให้ ก.พ.ร.กับสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลังทำโครงการนำร่อง

                หนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" อ้างคำให้สัมภาษณ์ของหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.กำลังเตรียมปรับโครงสร้างของข้าราชการพลเรือนซึ่งมีทั้งหมด 1.33 ล้านคน โดยเฉพาะในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงราว 3.9 แสนคน

                ท่านยอมรับว่าการทำงานของข้าราชการถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น สำนักงาน ก.พ.จึงตั้งโจทย์ศึกษาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

                1) จำนวนข้าราชการ และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญได้มีการทำงานเต็มประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ และปัญหาเร่งด่วนที่แท้จริงคืออะไร ระหว่างปริมาณหรือคุณภาพ

                2) เป้าหมายการลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลของภาครัฐให้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่าย จากปัจจุบันอยู่ที่ 37% ของงบประมาณรายจ่าย โดยใช้คนทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจากการประเมินต้นทุนของข้าราชการตั้งแต่เข้าทำงานวันแรกจนถึงวันที่เสียชีวิตจะอยู่ที่ราว 28 ล้านบาท/คน

                และประเด็นที่ 3) จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาทำงานข้าราชการมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่สนใจเข้ามาทำงานราชการ เนื่องจากระบบราชการไทยมีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมีเงื่อนไข ขณะที่การทำงานของคนรุ่นใหม่ชอบอิสระ และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพคน คุณภาพงาน และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นความท้าทายของระบบราชการไทย และเป็นโจทย์ที่ ก.พ.จะกำหนดออกมาเป็นแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนต่อไป

                "คีย์เวิร์ดสำคัญคือ ปริมาณและคุณภาพของคนที่ไม่สอดรับกัน ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าปัญหาของระบบราชการไทยคืออะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก เปรียบเทียบปัญหาคือช้าง และทุกวันนี้ช้างก็ยังยืนอยู่ในห้อง และเราเองก็อุ้มช้างออกนอกห้องไม่ได้ ดังนั้นหากไม่ทำในวันนี้ระบบราชการจะเป็นแบบนี้ตลอด ก.พ.ในฐานะฝ่าย HR ของรัฐบาลจึงต้องหาวิธีทำให้ขนาดกำลังคน ต้นทุน และประสิทธิภาพของคนอยู่ในระดับที่เหมาะสมไปพร้อมๆ กับการตอบโจทย์ที่ว่าจะสร้างเสริมนโยบายรัฐเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 และทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีรู้สึกดีต่อระบบราชการไทยอีกครั้ง"

                นอกจากนี้ ก.พ.ยังมีความกังวลในประเด็นจำนวนผู้เกษียณอายุราชการ และการรับข้าราชการใหม่  "ไม่สมดุล" อีกทั้งสัดส่วนการลาออกก็เพิ่มขึ้น ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนในระบบราชการอยู่ที่ 40-45 ปี หมายความว่าในทุกๆ 15 ปีจะมีข้าราชการจำนวนมากต้องเกษียณอายุ แต่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพข้าราชการเหมือนในอดีต เพราะต้องการงานที่เป็นอิสระ งานที่สร้างแรงบันดาลใจ ขณะที่ผลตอบแทนหรือเงินเดือนไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากนัก ฉะนั้นอนาคตของตลาดงานจะถูกแทนที่ด้วยรูปแบบ "ฟรีแลนซ์" มากขึ้น ที่สำคัญคนรุ่นใหม่ต้องการเห็นความสำเร็จเร็ว ขณะที่ระบบราชการไทยยังใช้วิธีการ "ไต่เต้า" ซึ่งใช้เวลาการทำงานนานกว่าจะเติบโตในอาชีพข้าราชการ หรือบางทีอาจต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ตรงนี้จึงไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

                ผมชอบที่ท่านเปรียบเปรยให้เห็นภาพของปัญหาว่า

                ระบบราชการเหมือนมีช้างอยู่กลางห้อง ใครจะเป็นคนอุ้มช้างออกไปนอกห้องได้?

                พรุ่งนี้มาว่ากันเรื่องข้อเสนอทางออกของ ก.พ.ครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"