29ม.ค.63-ที่กระทรวงการคลัง - นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง กสศ.กับ กยศ. โดยนายสุภกร กล่าวว่า กยศ.และ กสศ. เป็นองค์กรที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่มีลักษณะและแนวทางการดำเนินงานแตกต่างกัน กยศ. มีลักษณะเป็นกองทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ มีภารกิจมุ่งเน้นให้กู้ยืมเงินแก่นักศึกษารายคนเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ขณะที่ กสศ. มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยอาจจำแนกภารกิจได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. โดยวิธีการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) และ 2.ภารกิจ “แล็ปปฏิรูป” จัดการค้นคว้าศึกษาวิจัย ทดลอง แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาตัวแบบนำไปสู่การขยายผล และเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กสศ. จะใช้วิธีการสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบโครงการให้แก่หน่วยงาน (Project-based Program) และ กสศ.จะมีการทดลองกับกลุ่มประชากรยากจนด้อยโอกาสจำนวนไม่มากนัก เช่น ทุนการศึกษาต่อสายอาชีพปีละ 2,500 คน ทุนเรียนครูที่ผูกมัดต้องไปปฏิบัติงานในโรงเรียนชนบทห่างไกลปีละ 300 คน เป็นต้น
นายสุภกร กล่าวต่อว่า แม้ กยศ. และ กสศ. จะเป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่เยาวชนจะไม่สามารถรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ไปพร้อมๆ กับการกู้ยืมเงินจาก กยศ. เพื่อใช้ในระหว่างการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกันได้ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนได้มากขึ้น และลดปัญหาการให้ทุนการศึกษาซ้ำซ้อนกัน เพราะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยอาจมีการส่งต่อการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่อไป และยังเกิดความร่วมมือทางวิชาการ การเผยแพร่ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาอบรม การฝึกอบรม การประชุม การสัมมนา และงานวิชาการอื่น ๆ ระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม กยศ. และ กสศ. ต่างดำเนินงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กันจะช่วยทำให้การดำเนินงานในภาพรวมเกิดความเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้กู้ยืม กยศ. กับผู้รับทุน กสศ. ดังกล่าว จะทำให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการได้รับ โอกาสทางการศึกษา และเป็นการใช้งบประมาณของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการศึกษาต่อไป สำหรับเรื่องข้อมูลถือเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต เพราะเด็กกลุ่มไหนที่เคยได้รับโอกาสจาก กสศ.แล้ว ก็แสดงว่าเป็นคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ดังนั้น กยศ.จะมีข้อมูลกลุ่มที่ กสศ.เคยดูแล้ว และเราก็สามารถจะดูแลต่อได้เลย โดยที่เราไม่ต้องวิเคราะห์ว่าเด็กกลุ่มนี้มีฐานะยากจนจริงหรือเปล่า และ กยศ.จะไม่ปิดกั้นหากเข้าตามเกณฑ์เงื่อนไขของ กยศ.ทั้งหมด โดย กยศ.มีงบประมาณให้กู้ประมาณปีละ 26,000 ล้านบาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |