รัฐขึงขังขู่‘ยาแรง’สกัดฝุ่น จัดระเบียบรถ-ปิดโรงงาน


เพิ่มเพื่อน    

  รัฐบาลเร่งล้อมคอกฝุ่น PM 2.5 "มท1." ขู่งัดยาแรงแก้ปัญหา แต่ต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ขณะที่ “สุริยะ” ถกกระทรวงพลังงานปรับน้ำมันรองรับยูโร 5 ลดควันดำ ขึงขังจะลุยตรวจโรงงานปล่อยควันพิษเกินค่ามาตรฐานสั่งปิดทันที

    เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อลดควันและฝุ่น PM 2.5 ว่า ขณะนี้กำลังรณรงค์กันอยู่ และประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น แต่เขายืนยันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเผา แต่เราชี้แจงว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และยืนยันว่าอำนาจการตัดสินใจยังเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใต้การให้คำแนะนำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องกำชับอะไรเป็นพิเศษ หากพบว่ามีการเผาก็ต้องดำเนินคดี เพราะผิดกฎหมาย
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า พื้นที่ภาคเหนือมักประสบปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลกระทบแก่ประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ ภายใต้แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นกลไกหลักในการบูรณาการในมิติเชิงพื้นที่ 
    พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา และเชียงราย ได้เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองอย่างเต็มกำลัง โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ พร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นมาตรการป้องกันและลดแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผาอย่างเคร่งครัด ประกาศพื้นที่และห้วงเวลาห้ามเผา จัดทำแนวกันไฟ จัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นจริงจังในการลดปริมาณและการกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่
    รมว.มหาดไทยกล่าวต่อไปว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดปรับแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ กับภาครัฐ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด
    พล.อ.อนุพงษ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ปกติเรามีมาตรการสำคัญที่จะไปลดแหล่งกำเนิดฝุ่น สาเหตุหลักมาจากการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่งแจ้ง และการก่อสร้างอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตนมองว่ายังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในเชิงรับ เช่น เรื่องการจราจรที่มีการตรวจควันดำ รถที่ไม่ผ่านการตรวจจะถูกพ่นสีไม่ให้ใช้ สมมติว่ารถผ่านการตรวจเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของ กทม.เป็นจำนวนมากจนเกิดรถติด ต่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานยังเกิดปัญหา PM 2.5 ได้อยู่ดี จึงคิดว่าในบางช่วงเวลาต้องจำกัดการใช้รถประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ให้ผ่านเข้าไปใน กทม.เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 
    "ที่ผ่านมาได้มีการประชุมให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด พิจารณาความเหมาะสมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นในเรื่องใดบ้าง รวมถึงจะต้องมีการตรวจตราสถานที่ก่อสร้างไม่ให้มีฝุ่นฟุ้ง อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการป้องกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปตรวจตรา"
    รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ส่วนที่เป็นสาเหตุหลักในปัจจุบันคือ การเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จ.ลำปาง มีการจุดไฟเผาจริง แต่ยังมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกที่ จ.น่าน แพร่ และพะเยา จากการติดตามก็พยายามจับผู้ที่จุดไฟเผา แต่สิ่งที่ยากคือ การดับไฟ เพราะบางพื้นที่เข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่า มีฝุ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องมีการประสานเพื่อนบ้าน เบื้องต้นในส่วนของการดูแลประชาชน ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนที่เจ็บป่วย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นำไม่ได้ดูแลประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความสามารถในการดูแลตัวเองได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดซื้อจัดหาเพื่อช่วยเหลือ พร้อมกับให้คำแนะนำการใช้ชีวิตเมื่อค่าฝุ่นละอองสูงขึ้น
    “จากนี้มาตรการในพื้นที่จะต้องแรงขึ้น เพราะต้นกำเนิดมาจากคนในพื้นที่เป็นคนทำ แต่จะทำอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ที่ต้องรีบหามาตรการเอง แต่ละมาตรการต้องส่งผลกระทบต่อประชาชาชนให้น้อยที่สุด แทนที่จะปิดการจราจร ห้ามรถวิ่งผ่านเลย แม้ว่าจะทำได้ไม่ยาก แต่จะกระเทือนไปถึงระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งหมด รวมถึงการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการเบี่ยงเส้นทาง ส่วนพื้นที่ใดที่มีปัญหามาก ก็ต้องจำกัดการใช้รถ แต่จะจำกัดรถประเภทใดก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
    วันเดียวกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยการปล่อยมลพิษจากรถจักรยานยนต์ที่มีจำนวนมาก จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานบังคับให้รถจักรยานยนต์ต้องเข้ามาตรฐานยูโร 4 คิดว่าจะเริ่มบังคับได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เพื่อรองรับน้ำมันมาตรฐานยุโรป (ยูโร 5) เราอยากให้ใช้มาตรฐานนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2564 แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาที่กระทรวงพลังงานยังไม่พร้อมในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตของโรงกลั่น จึงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานก่อน
    รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ส่วนการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น วันที่ 29 ม.ค.นี้ ตนจะลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจโรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีปัญหาปล่อยฝุ่นจำนวนมาก ยืนยันว่ากระทรวงมีมาตรการเด็ดขาด โดยได้สั่งการไปที่อุตสาหกรรมจังหวัดให้เข้มงวดในการควบคุมมาตรฐานกับโรงงานที่ปล่อยควันพิษเกินค่ามาตรฐาน ให้ไปพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อขอความร่วมมือ เพราะเราอยากเป็นมิตรกับภาคเอกชน แต่หากพบว่าโรงงานใดที่มีค่ามากเกินมาตรฐานจะสั่งให้ปิดโรงงานในทันที และจะอนุญาตให้เปิดเมื่อมีการแก้ไขให้ได้มาตรฐานเรียบร้อยแล้ว โดยอุตสาหกรรมจังหวัดจะติดตามควบคุมอย่างต่อเนื่อง และจะตรวจสอบในพื้นที่ภาคกลางที่ จ.สระบุรี และในภาคตะวันออกที่ จ.ระยอง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"