คนซ้ายคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ชื่อ สตีเฟน มนูชิน อายุ 57
คนขวาชื่อ เกรตา ทุนเบิร์ก เยาวชนสวีเดน แกนนำการรณรงค์ต่อต้านโลกร้อนระดับโลก ปีนี้เธออายุ 17
ทั้งสองเพิ่งแลกหมัดผ่านสื่อกันอย่างร้อนแรง แม้จะไม่ได้เจอหน้ากันตรงๆ ที่การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
แต่กลายเป็นการ "ปะทะระหว่างคนสองรุ่น" หรือ Clash of Generations อย่างชัดแจ้ง
เพราะเกรตาประกาศว่าผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับโลกที่มารวมตัวกัน ณ ที่ประชุมใหญ่ประจำปียังล้มเหลวในการทำเรื่องสู้โลกร้อนอย่างจริงจัง
เธอกล่าวหาว่าคนมีอำนาจและมีสตางค์ทั้งหลายดีแต่พูด ไม่ทำจริงจัง
ในคำปราศรัยที่ดาวอส เกรตาเรียกร้องให้ผู้นำโลกและนักธุรกิจกับมหาเศรษฐีทั้งหลาย จงลงมือเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสาเหตุแห่งวิกฤติโลกร้อน "ทันที"
เพราะที่ผ่านมามีแต่คำสัญญาจากรัฐบาลและผู้นำองค์กร แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย
วันต่อมารัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นในทำนองดูถูกเกรตา ว่าเธอเป็นเพียงเด็กไร้เดียงสา มีแต่ความรู้สึก แต่ไม่มีความรู้เพียงพอ
"เธอเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์หรือ? เธอคือใคร? ผมงงอยู่นะ" นายมนูชินตอบนักข่าวเมื่อถูกถามถึงเสียงเรียกร้องของเกรตาที่เวทีนานาชาติ
ว่าแล้วรัฐมนตรีคลังมะกันก็บอกต่อว่า
"ผมขอให้เธอไปทำปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ก่อน แล้วจึงมาให้คำแนะนำผู้นำโลกทั้งหลาย"
แน่นอนว่าเมื่อผู้ใหญ่พูดจาเหยียดหยามเด็กที่เป็นที่ยอมรับของหลายๆ วงการในโลกจนได้รับเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์ล่าสุด ก็ต้องเป็นเรื่องเป็นราวทันที
นายมนูชินออกมาแก้ตัวเป็นพัลวันในวันต่อมาว่า "ผมพูดหยอกเล่น ไม่ใช่เรื่องจริงจัง"
แต่เขาก็ยังพยายามจะพูดจาเสียดสีเกรตา คล้ายๆ กับจะบอกว่าเธอเป็นเพียง "เด็กเมื่อวานซืน" เท่านั้น
"หลังจากที่เธอได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เธอก็จะสามารถมาอธิบายให้พวกเราฟังได้ว่าเธอต้องการจะบอกอะไรผู้ใหญ่อย่างพวกเรา"
พูดอย่างนี้แปลว่าไม่สนใจจะฟังเนื้อหาข้อเสนอของเยาวชนคนนี้ ที่สามารถปลุกกระแสนักเรียนนักศึกษาเกือบทั่วโลกให้ลุกขึ้นมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ทั่วโลกเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมเสียที
เธอพูดในปาฐกถาวันนั้นว่า
"ผู้ใหญ่วันนี้กำลังสร้างวิกฤติให้คนรุ่นของข้าพเจ้า ดิฉันอยากรู้ว่าคุณจะบอกลูกๆ ของคุณอย่างไร ว่าคุณได้ล้มเหลวในเรื่องนี้ และปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับความวุ่นวายด้านสภาวะแวดล้อมของอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกคุณทำขึ้นโดยที่ไม่ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น"
พอนักข่าวถามเกรตาว่ารู้สึกอย่างไรกับคำส่อเสียดของรัฐมนตรีสหรัฐฯ คนนี้ เธอบอกว่า "เราไม่อาจจะสนใจกับเรื่องอย่างนี้ และถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามของท่านก็ไม่มีผลต่อดิฉันและนักเคลื่อนไหวทั้งหลายที่ถูกวิพากษ์อย่างนี้อยู่เป็นประจำ"
เกรตาเป็นเด็กฉลาด มีความมุ่งมั่น และได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนอย่างรอบด้าน
เธอเริ่มต้นด้วยการประกาศชักชวนเพื่อนนักเรียนเดินออกจากห้องเรียนทุกวันศุกร์ ไปยืนหน้ารัฐสภาสวีเดนเพื่อประท้วงผู้นำทางการเมืองระดับชาติที่ยังไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที
การรณรงค์แนวนี้ขยายวงไปอีกหลายประเทศ สร้างความตระหนักให้คนรุ่นหลังเกี่ยวกับปัญหามลพิษโลกร้อนที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้นตลอดเวลา
เธอโต้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ด้วยการบอกว่า
"ดิฉันคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีปริญญาทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็ควรจะรู้ว่า งบที่ใช้ในการลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศกับเงินอุดหนุนและลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมันต่างกันราวฟ้ากับดิน"
เกรตาท้าทายเหล่าบรรดาผู้นำโลกที่ยังไม่เชื่อในเรื่องโลกร้อนว่า
"งั้นคุณก็ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม หรือไม่คุณก็ต้องหาทางอธิบายให้คนรุ่นต่อไปว่าพวกคุณกำลังส่งผ่านหายนะของโลกไปถึงคนรุ่นพวกเขาอย่างไร"
รัฐมนตรีคนนี้บอกว่าเขาก็ชอบขับรถไฟฟ้าเทสลา แต่ไม่มีใครสนใจว่าไฟฟ้าที่ใช้นั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร และมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับระบบการเก็บไฟฟ้าและแบตเตอรี่อย่างไร
ใครจัดเวทีให้รัฐมนตรีวัย 57 กับเยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 17 ถกแถลงเรื่องโลกร้อนจะเป็นพระคุณยิ่ง!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |