เผยภัยแล้ง20จว. สั่งเร่งขุดแหล่งน้ำ


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กป้อม” รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง เร่งส่งน้ำช่วย ปชช.ในหมู่บ้าน ยันไม่มีทอดทิ้ง บกปภ.ช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เน้นย้ำทุกหน่วยทำงานในมิติเชิงพื้นที่ บูรณาการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ ปภ.ประกาศเขตภัยแล้ง 20 จังหวัด ส่วนโคราชตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจฯ คาดเมษายนนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งมากถึง 26 อำเภอ
    เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในช่วงท้ายของการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยกำชับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดหาและส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือประชานในระดับหมู่บ้านในทันที และให้ดำเนินการตามแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเสริมว่า ให้ สนทช.สรุปแผนการที่จะทำในปีนี้ที่มีงบประมาณแล้ว ติดขัดตรงไหนให้รายงานให้ทราบ รวมถึงการขุดลอกคูคลองทุกจุด จะมีการรายงานเรื่องนี้อย่างชัดเจนในสัปดาห์หน้า ยืนยันว่าไม่ได้ละทิ้งปัญหาภัยแล้ง ทั้งนายกฯ และ ครม.มีความเป็นห่วงประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
    วันเดียวกัน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, นายจรัลธาดา กรรณสูต, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์, นายอำพน กิตติอำพน และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รวมถึง พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต เลขานุการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พล.อ.ต.โชคดี สมจิตต์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
    โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุม และมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด
    พล.อ.อนุพงษ์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้บูรณาการทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง โดยมีกลุ่มการทำงานแยกเป็น 3 ด้าน ครอบคลุมทั้งกลุ่มพยากรณ์ คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ดูแลภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อวางแผนการใช้น้ำทุกประเภท และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
    โดยบูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.พื้นที่ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 2.พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนรองรับ ทั้งการเติมน้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา การเจาะบ่อบาดาล การเติมน้ำใส่ภาชนะรองรับน้ำกลางของหมู่บ้าน ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ได้มีการบริหารจัดการตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการเน้นย้ำไม่ให้เกิดกรณีพื้นที่ขาดแคลนน้ำและพืชยืนต้นตายอย่างเด็ดขาด
    “การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยระยะเร่งด่วน ได้เน้นย้ำให้จัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากทุกหน่วยงานผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน และจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่” มท.1 กล่าว
    นายฉัตรชัยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการตามแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการ “ขุดดินแลกน้ำ” ใช้วัสดุมูลดินที่ได้จากการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ และเป็นการขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ศึกษาแนวทางการดำเนินการตามนโยบายการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
    สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลัง เครื่องมือและอุปกรณ์จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยทหารและฝ่ายพลเรือน อาทิ รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำ เครื่องจักรและเครื่องขุด เครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ รวมกว่า 4,200 รายการ โดยกำหนดให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับภาคและเขตจังหวัด
    ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมเครื่องจักรกลให้พร้อมออกปฏิบัติงานทันทีที่ได้รับการร้องขอจากจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ หากมีพื้นที่เสี่ยงเกิดสาธารณภัยให้ปฏิบัติการเชิงรุก นำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหา
    นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ
    นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 599 ตำบล 5,125 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ รวม 35 อำเภอ 166 ตำบล 1,200 หมู่บ้าน
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวม 44 อำเภอ 284 ตำบล 2,722 หมู่บ้าน ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 30 อำเภอ 149 ตำบล 1,203 หมู่บ้าน
    ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุใช้การได้ 279 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของความจุใช้การของอ่างรวมกัน (ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุดในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์รวมกันประมาณ 295.39 ล้าน ลบ.ม.) จากปริมาณน้ำใช้การได้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อผลิตประปา จำเป็นต้องหาแนวทางในการสำรองน้ำไว้เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย
    ส่วนปริมาณน้ำอ่างห้วยจระเข้มากและอ่างห้วยตลาด จังหวัดบุรีรัมย์ มีน้ำรวม 2.028 ล้าน ลบ.ม. และจากการประชุมร่วมพิจารณาสถานการณ์น้ำในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างสำนักชลประทานที่ 8 และการประปาส่วนภูมิภาคเขต 8 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคยืนยันว่า น้ำในอ่างทั้ง 2 แห่งจะสามารถรองรับการผลิตประปาได้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมที่จะดูแลเกษตรกร เช่น พื้นที่ที่มีน้ำเหลือจะมีการส่งเสริมปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การเจาะบ่อบาดาล ช่วยเหลือพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ ส่วนด้านการปศุสัตว์จะมีโครงการเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ โดยหาแหล่งทุนและรับประกันราคาขาย ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ก็จะมีนโยบายการจ้างแรงงานภาคเกษตรกรรมประมาณกว่า 40,000 คน ในระยะเวลา 2-6 เดือน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงแล้งนี้ไปได้
    ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 8 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ประชุมหัวหน้าส่วน ผู้อำนวยการอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่งของ จ.นครราชสีมา เข้าร่วมประชุมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำอย่างพร้อมเพียง พร้อมแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 พร้อมปล่อยคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง
    นายเกียรติศักดิ์เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 8 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 71 แห่ง โดยแผนการจัดสรรน้ำในปี 2562/2563 ขณะนี้ในพื้นที่มีปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำรวมทั้งหมด 601 ล้าน ลบ.ม. และมีความต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดทั้งฤดูแล้ง 412 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังถือว่ามีปริมาณน้ำใช้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานต้องงดทำนาปรังทั้งหมด และสามารถเพียงแค่ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเท่านั้น
    นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ระบุว่า ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วจำนวน 8 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ ประกอบด้วย โนนสูง จักราช ปักธงชัย เทพารักษ์ โชคชัย โนนไทย แก้งสนามนาง และสีคิ้ว มีพื้นที่ประสบภัย 54 ตำบล 547 หมู่บ้าน โดยทางชลประทานคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 จังหวัดนครราชสีมาจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งมากถึง 26 อำเภอ 129 ตำบล 541 หมู่บ้าน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"