28 ม.ค. 2563 นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง เร่งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเสร็จและสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ. 2563
ทั้งนี้ ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่จะออกมา ประกอบด้วย มาตการชิมช้อปใช้ เฟส 4 ซึ่งจะเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยเป้าหมายหลักคือประชาชนและร้านค้าในประเทศ ซึ่งจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนทั้งรายเก่าและรายใหม่ แต่วิธีดำเนินการจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แตกต่างไปจากเดิม และจะเกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนจะมีการแจกเงินหรือใหม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมาตรการจะเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน โดยจะมีการประเมินผลมาตราการชิมช้อปใช้ เฟส 3 ในวันที่ 31 ม.ค. นี้ โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ์ 12.6 ล้านคน ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1.7 แสนร้านค้า มีผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 1 วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และช่องที่ 2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ สศค. ได้คิดมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย และสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะเดียวกันจะมีมาตรการในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น โดยจะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการปรับปรุงที่พัก แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงอาจจะให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า
"มาตรการกระตุ้นการบริโภค เป็นมาตรการใหม่ โดยมาตรการชิมช้อปใช้ 4 เป็นการปรับใหม่หมดให้ดีกว่าเดิม โดยคนที่ได้สิทธิ์อยู่แล้วจะได้สิทธิ์เหมือนเดิม และจะมีการลงทะเบียนเพิ่มทั้งประชาชนและร้านค้า ส่วนเรื่องการแจกเงินต้องรอดูก่อน โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องของงบที่จะใช้ในมาตรการ เพราะรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่แบบสุรุ่ยสุร่ายหรือหว่านจ่าย ซึ่งในส่วนนี้เบื้องต้นสามารถนำเงินจากงบกลางปี 2563 มาใช้ได้ก่อน เช่น หากมีความต้องการใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็สามารถขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เพื่อนำมาใช้ก่อน โดยปัจจุบันยังเหลือเงินจากมาตรการชิมช้อปใช้ที่ดำเนินการมาแล้ว 5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท" นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นยาแรนงเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ในช่วงที่ประเทศต้องการการลงทุนที่ต่อเนื่อง ในภาวะที่เอกชนไม่มั่นใจ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตราการในการจูงใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ประกอบด้วย 1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563
2. มาตราการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็ฯของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำเข้าเท่านั้น โดยระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ 3. มาตรการสินเชื่อเพื่อการนลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักร หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1-2 ที่ 2% และปีที่ 3-5 ที่ 4% วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงินดำเนินการ 5 พันล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 2563
"รัฐบาลเห็นสถานการณ์ ติดตามและมีการพิจารณาออกมาตรการที่จำเป็น โดยมาตรการการสนับสนุนการลงทุนในประเทศ มีเป้าหมายชัดเจน หวังผลได้ โดยคาดว่ามาตรการจะส่งผลให้เกิดการนลงทุนกว่า 1.1 แสนล้าน จะสูญเสียรายได้จากภาษี ประมาณ 8.6 พันล้านบาท แต่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มได้ 0.25% แต่ภาพรวมของจีดีพีในปี 2563 ยังต้องรอประเมินก่อน เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลงมา ดังนั้นคลังต้องประเมินตัวเลขให้อยู่ในภาพความเป็นจริง ต้องยอมรับว่ามีทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามหาทางบริหารจัดการ แต่ขณะเดียวกันปัจจัยบวกก็ยังมี" นายอุตตม กล่าว
สำหรับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น มองว่าจะส่งผลดีกับภาคการส่งออกอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก ทั้งอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังอ่อนอยู่ ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทอย่างเดียว แต่ก็มีสัญญาณที่ดี จากสหรัฐและจีนที่ตกลงกันได้ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดเข้ามา ซึ่งในส่วนของไทยยืนยันว่าควบคุมได้ แม้ว่าจะเจอเคสใหม่ก็ตาม และ ครม. ยังไม่มีมติห้ามคนจีนเข้าประเทศ โดยทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้ช่วยกันดูแล สื่อสารให้มากและชัดเจนที่สุดทั้งในเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการและดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เชื่อว่าจะเกิดแค่ช่วงสั้น 2 สัปดาห์ ความรุนแรงยังเทียบเท่าช่วงที่เกิดไวรัสซาร์ส ไม่ได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.3% แต่เชื่อว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |