ก็ควรแล้ว....
สมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่เหมาะจะเป็น กกต.ตั้งแต่แรก
เป็นจำอวดน่ะพอได้
จำวันที่โยนกล่องใส่บัตรลงคะแนน การันตีอายุใช้งาน ๑๐ ปี จนแตกคามือได้หรือเปล่า
นั่นล่ะ "สมชัยสไตล์"
อย่าถามหาจุดยืน
เพราะมันมีล้อเลื่อน
ขาข้างหนึ่งไปทางเก้าอี้เลขาธิการ กกต.
อีกข้างรอพรรคการเมืองทาบทามไปลงสมัคร ส.ส.
ไม่ทันข้ามคืน....คำสั่ง ม.๔๔ ที่ยกเหตุผล "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" ไปสมัครเป็นเลขาธิการ กกต. แต่ไม่ยอมลาออกจากกรรมการ กกต. มันก็ชัดเจนขึ้น
ขัดกันแห่งผลประโยชน์ซ้ำซ้อน
ก็น้อยคนที่จะมีความคิดเช่นนี้
คั่วตำแหน่งเลขาธิการ กกต.อยู่แท้ๆ
แต่รอพรรคการเมืองมาเทียบเชิญไปเป็นสมาชิกพรรค
ไม่เกรียนจริง....ทำไม่ได้
ประเด็น "สมชัย" ก็จบไป แต่ที่ไม่จบคือ "ไอ้ห้อย-ไอ้โหน" โห่กันเกรียว!
ย้อนกลับไปสัก ๔๐ ปีก่อน ยุคทีวีขาวดำ มีละครอยู่เรื่องหนึ่ง ดังกระฉูดไม่แพ้ บุพเพสันนิวาสในวันนี้ นั่นคือ "หุ่นไล่กา"
มีกะโหลก "ไอ้ห้อย-ไอ้โหน" สมุนคู่ใจของแม่มด เป็นตัวชูโรง
ซิตคอมในตำนานเรื่องนี้ มักเปิดหัวเรื่องด้วยการถกเถียงกับแม่มด เมื่อหาข้อสรุปไม่ได้ แม่มดก็เสกหุ่นไล่กาเป็นคน แล้วส่งไปยังโลกมนุษย์ พร้อมเครื่องราง ให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ไอ้ห้อย ไอ้โหน ถกเถียงกับแม่มด
เนื้อหาแต่ละตอนพลิกแพลงผูกเรื่องต่างกันไป
ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคม
จุดเด่นของละครหุ่นไล่กา คือการสะท้อนว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐมีปัญญารู้คิดผิดชอบชั่วดี แต่ก็มักพ่ายแพ้ต่อกิเลส ความโลภ โกรธ หลง
สุดท้ายมนุษย์ที่ถูกเสกทนมนุษย์จริงๆ ไม่ไหว ขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กา
ทุกตอนจะจบตามเพลงที่ว่า "ขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กา ยืนเฝ้าท้องนาสุขสบาย ไม่เอาแล้วคน ฉันทนไม่ไหว"
ฉากจบจึงนำมาซึ่งความเศร้าให้กับกะโหลกคู่ "ไอ้ห้อย-ไอ้โหน" ทุกครั้ง
ครับ....นั่นคือไอ้ห้อย ไอ้โหน ที่เข็ดขยาดกับนิสัยมนุษย์
แต่ "ไอ้ห้อย-ไอ้โหน" ยุคไทยแลนด์ ๔.๐ เปลี่ยนไปเยอะ
มัก "ห้อย-โหน" กับผลประโยชน์ ที่ตนเองได้รับ
โดยเฉพาะ พวก ห้อย-โหน การเมือง
"สมชัย ศรีสุทธิยากร" ถูกสังหารด้วย ม.๔๔ หาคนเป็นเดือดเป็นร้อนแทนไม่ค่อยได้
ต่างจากเสือดำ ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีคนออกมาช่วยสวด "เปรมชัย กรรณสูต" กันทั้งเมือง
"เสือดำ" กับ "สมชัย" ไม่มีความต่างเรื่องคุณค่าของชีวิต
สัตว์ทุกชนิด ทุกชีวิต บนโลกนี้ ล้วนมีคุณค่าในชีวิตของตนเอง
แต่....มีต่างอยู่นิดเดียว.....
คือ....แต่ละคนแต่ละตัว สร้างคุณค่าให้ชีวิตตนเองได้ต่างกัน
สำหรับมนุษย์.....ขนาดหุ่นไล่กายังไม่อยากอยู่ร่วมโลก เพราะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี มีความโลภ โกรธ หลง ไม่รู้จบ
มนุษย์จึงจับกลุ่มไปตามนิสัย ความพอใจที่คล้ายกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
"บ.ก.ลายจุด" ไปจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองกับ กกต.ว่า "พรรคเกรียน" แล้วเชิญ "สมชัย ศรีสุทธิยากร" ร่วมทัพ เห็นแล้ว....ก็สังเวชใจ
เห็นเรื่องการบ้านการเมือง เป็นของเล่นหรืออย่างไร?
ขณะที่มีเสียงให้ปฏิรูปการเมือง อีกด้านหนึ่งมีคนเอาการเมืองไปสนองความเกรียนของตัวเอง แล้วลองหันไปดูรอบๆ ตัวคนพวกนี้ซิครับ
ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น
มีทั้งแฟนคลับทักษิณ
พวกซูฮกนิติราษฎร์
ไหลไปเกรียนรวมกัน
ขณะที่สังคมส่วนใหญ่ยกภูเขาออกจากอก เพราะ "เกรียนสมชัย" ถูกเตะโด่งพ้น กกต. ปฏิปักษ์คสช.แห่กันเล่นบทห้อยโหนกับสถานการณ์นี้
อวดอ้าง มีหัวใจประชาธิปไตย เป็นห่วงเป็นใย เรื่องผลประโยชน์ขัดกัน
คนในพรรคเพื่อไทย จีบปากจีบคอให้นายกฯ ประยุทธ์ ย้อนไปดูพฤติกรรมของรัฐบาล ใส่ใจเรื่องหลักผลประโยชน์ทับซ้อน บ้างหรือไม่
มันก็เป็นเสียอย่างนี้....
นักการเมืองไม่เคยมองว่าตัวเองผิด ทั้งๆ ที่ควันไฟทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อนจากระบอบทักษิณ ยังไม่จางหาย......
ก็สั่งสอนคนอื่นเสียแล้ว
มันคือหายนะ หากความคิดเช่นนี้ ยังอยู่ในสันดานของนักการเมืองหลังเลือกตั้งครั้งที่จะถึง
พูดถึงเรื่องเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์แอบซุ่มคิดการใหญ่ เป็นรัฐบาลโดยไม่ง้อ พรรคทหาร และพรรคเพื่อไทย
ก็ถือเป็นเรื่องดีถ้าทำได้จริง
แต่เกรงว่าจะเป็นแค่จินตนาการเสียมากกว่า
"ศิริโชค โสภา" อดีต ส.ส.สงขลา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ "ริงไซด์นิวส์" วานนี้ ก็ลองอ่านดู
........การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือได้คะแนนเสียงจากประชาชนแบบถล่มทลาย เพราะจะอธิบายว่าหากประชาชนเลือกเพื่อไทยก็มีปัญหา เลือกทหารปัญหาก็ไม่จบ
ดังนั้นเลือกประชาธิปัตย์ปัญหาจบ แม้ที่ผ่านมาจะพบว่าพรรคมีจำนวน ส.ส.ในภาคอีสานน้อย แต่พรรคจะหาทางในการที่จะชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคอีสานให้ได้ เดิมพรรคมีขุนพลในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก
ทีมงานยุทธศาสตร์พรรคกำลังระดมสมองเพื่อหาทางเอาชนะพรรคเพื่อไทยในพื้นที่อีสาน รวมทั้งตีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้คนอีสานรักพรรคประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค รับทราบและกำลังทำนโยบายให้คนในพื้นที่นี้กลับมาศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ซึ่งคงต้องรอดูกิจกรรมหลังทางผู้มีอำนาจเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้คงจะเห็นอะไรดีๆ จากพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ทุกคนมีจุดยืนเดียวกันคือไม่เอาระบอบทักษิณ ไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย อยากอธิบายว่า คำว่าระบอบทักษิณ ไม่ใช่วาทกรรมแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ผมเชื่อมั่นว่าระบอบทักษิณคืออุปสรรคการเติบโตของประชาธิปไตย เป็นการใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภา และใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะเมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชน กลับออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง
โดยเฉพาะกรณีของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จนเป็นเหตุให้เกิดขบวนการประชาชนที่เรียกว่ากลุ่ม กปปส.เพื่อไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จุดยืนของประชาธิปัตย์ คือ พรรคยืนยันว่าไม่จับมือกับทหาร ไม่ใช่พรรคทหาร แม้ที่ผ่านมาจะถูกโจมตีว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ถือเป็นการสร้างวาทกรรมของพรรคเพื่อไทยที่โจมตีพรรคในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นผมสามารถตอบแทนสมาชิกพรรคได้เลยว่าไม่ยินยอมที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทย หากยังอยู่ภายใต้อำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร และตระกูลชินวัตร
พรรคไม่สามารถที่จะร่วมงานกับระบอบทักษิณอย่างแน่นอน ผมอยากให้ระบอบทักษิณเป็นเพียงประวัติศาสตร์ ไม่อยากให้มีอีกแล้ว รวมทั้งสนับสนุนการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายวัฒนา เมืองสุข ที่ออกมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยก้าวข้าม ดร.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ซึ่งพรรคจะจับตาดู
ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ถูกโจมตีมาตลอดว่าเป็นพรรคของคนชั้นกลาง เมินคนมีรายได้น้อย ทางพรรคก็พยายามลบภาพนี้ออกไป โดยการจัดนโยบายรัฐสวัสดิการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมาที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย เพราะส่วนหนึ่งมาจากพรรคไม่นำเสนอนโยบายประชานิยม
อย่างไรก็ตาม พรรคไม่มีทางจะใช้ประชานิยมหาเสียงแน่นอน
ประชานิยมเปรียบเหมือนน้ำตาล อร่อย แต่ทำลายสุขภาพ.........
เป็นไงครับ.....
จะบอกว่าหนังขายยาก็คงจะดูถูกกันเกินไป!
แต่เป้าถล่มทลายของพรรคประชาธิปัตย์ มันยากเกินจินตนาการ
ทำอย่างไรให้ประชาชนทั้งประเทศมีความเห็นตรงกันว่า เลือกเพื่อไทยก็มีปัญหา เลือกทหารปัญหาก็ไม่จบ
มีใครจำได้บ้างว่า...ครั้งสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในภาคเหนือ อีสาน นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
มีบ้างตั้งแต่ปีกึ่งพุทธกาลมาจนถึงช่วงรัฐบาลป๋าเปรม แต่ไม่ถล่มทลาย
หลังจากนั้นยึดหัวหาดภาคใต้ กับกรุงเทพมหานครเป็นหลัก
ที่บอกว่าจะลบภาพเป็นพรรคของคนชั้นกลางเมินคนมีรายได้น้อย เพื่อจะเก็บคะแนนเสียงในภาคเหนือ อีสานนั้น อาจเป็นการตีโจทย์ผิด
คนมีรายได้น้อยต้องการอะไร?
ทักษิณเคยใช้นโยบายประชานิยมครองใจคนรากหญ้า แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประชานิยมนำไปสู่หายนะของประเทศ
และหลายรัฐบาลในโลกนี้ใช้นโยบายประชานิยมจนระบบเศรษฐกิจล่มสลายมาแล้ว
การที่ประชาธิปัตย์จะใช้นโยบายรัฐสวัสดิการนั้นไม่ยาก แต่ต้องอธิบายให้ได้ว่าต่างจากประชานิยมอย่างไร เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน
และทำอย่างไรไม่ให้คนชั้นกลางเกิดความรู้สึกว่าต้องเป็นฝ่ายอุ้มคนทั้งประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำทางภาษี
ถึงคิดออก ผลการเลือกตั้งก็ยากที่ออกมาตามฝัน
เพราะทุกพรรคล้วนใช้นโยบายรัฐสวัสดิการกันทั้งนั้น
ฉะนั้นประชาธิปัตย์ควรหันกลับมามองตัวเอง ปรับโครงสร้างพรรค เปลี่ยนตัวบุคลากร เปลี่ยนมุมมองการเมืองใหม่ๆ
แค่นี้ก็ไปครึ่งความฝันแล้ว.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |