"ถิ่น จอ" ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ประธานาธิบดีหุ่นเชิดของ "อองซาน ซูจี" ส่งผลให้ผู้นำตัวจริงพม่าต้องเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติกรณีวิกฤติโรฮีนจาเพียงลำพัง รอง ปธน."มินต์ ส่วย" ทำหน้าที่รักษาการจนกว่าแต่งตั้งคนใหม่
ถิ่น จอ วัย 72 ปี เป็นเพื่อนของนางอองซาน ซูจี มาแต่วัยเรียน เขาเป็นบุคคลที่นางเลือกมารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 ภายหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่รัฐธรรมนูญของเมียนมาที่ร่างโดยระบอบทหาร ไม่อนุญาตให้นางซูจี ซึ่งมีบุตรถือสัญชาติอื่น รับตำแหน่งผู้นำของประเทศได้
แถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของประธานาธิบดีที่แจ้งข่าวการลาออกจากตำแหน่งของถิ่น จอ เมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2561 ไม่ได้ระบุเหตุผลที่แจ้งชัด กล่าวไว้เพียงว่า เขาต้องการพักผ่อน แต่เอเอฟพีรายงานว่า ช่วงหลายเดือนมานี้ มีความเป็นห่วงกันมากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพของเขาที่ดูอ่อนแอและซูบผอมลง
บทบาทหน้าที่ส่วนใหญ่ของประธานาธิบดีเมียนมาเป็นหน้าที่เชิงพิธีการเป็นหลัก แต่อำนาจการตัดสินใจเป็นของนางซูจี ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนชุดนี้ตัวจริง และสถาปนาตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐขึ้นมาสำหรับตัวเธอเอง
รายงานของเอเอฟพีกล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของเมียนมา รองประธานาธิบดีมินต์ ส่วย อดีตนายพลเกษียณผู้มีความใกล้ชิดกับพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลทหาร จะขึ้นรับตำแหน่งแทนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่
ในแถลงการณ์ประกาศข่าวลาออกของถิ่น จอ กล่าวไว้ด้วยว่า การคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่จะกระทำภายในเวลา 7 วันทำการ
ช่วงเวลาไม่นานภายหลังคำประกาศ วิน มินต์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นพันธมิตรของนางซูจี ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดี
"บุคคลใดก็ตามที่นางเลือกให้เป็นประธานาธิบดี บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่นางไว้วางใจอย่างเต็มที่" ริชาร์ด ฮอร์สซีย์ นักวิเคราะห์อิสระกล่าว และว่า ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานที่ทำให้นางซูจีรวบอำนาจไว้ได้ในประเทศนี้ ตามรัฐธรรมนูญนั้น นางไม่มีอำนาจอะไร อำนาจของนางนั้นมาจากความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี
ถิ่น จอ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมานับตั้งแต่ปี 2505 ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง และถูกมองว่าอุทิศตัวให้นางซูจีอย่างไม่คลอนแคลน นางซูจียังเคยกล่าวไว้ว่า นางจะปกครองอยู่ "เหนือ" ถิ่น จอ อีกทอดหนึ่งหลังจากเขาได้รับเลือกเมื่อปี 2559
ในโมงยามที่ชื่อเสียงของนางซูจีในสายตาของนานาชาติพังทลายจากปัญหาวิกฤติโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ที่นางถูกตำหนิว่าไม่ออกมาปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมเหล่านี้ สหายเก่าที่นางไว้ใจผู้นี้ยังคงยืนหยัดอยู่เคียงข้างนาง
ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาทิ้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่กว่า 700,000 คน พร้อมกับคำบอกเล่าถึงพฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อน แต่กองทัพเมียนมาอ้างว่าเป็นปฏิบัติการด้านความมั่นคงเพื่อกำจัดกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีทหาร-ตำรวจ
รัฐบาลพลเรือนของนางซูจีรับถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลกึ่งทหาร โดยยังต้องแบ่งปันอำนาจกับกองทัพซึ่งยังควบคุมอำนาจมโหฬารในทางการเมืองและเศรษฐกิจ กองทัพคุมกระทรวงสำคัญ 3 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย, ป้องกันชายแดน และกลาโหม
กองทัพยังได้สงวนที่นั่งผู้แทน 1 ใน 4 ของสภานิติบัญญัติ ซึ่งให้อำนาจกองทัพยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |