ธ.ก.ส.เตรียมออกมาตรการเสริมช่วย 20 จังหวัดประสบภัยแล้ง ขยายเวลาพักชำระหนี้ 2 ปี และปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5 พันล้านให้เกษตรกรและภาคธุรกิจกู้ไปขุดบ่อบาดาล ด้านอุตุฯ เผยประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตก ปภ.รายงาน 5 จังหวัดประสบวาตภัย
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เตรียมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 27 มกราคมนี้ เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมใน 20 จังหวัด ประกอบด้วย มาตรการขยายเวลาพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเป็นเวลา 2 ปี จนถึง 31 ธ.ค.64 และมาตรการที่สอง การออกสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับให้เกษตรกรและภาคธุรกิจไปลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ รับมือภัยแล้ง โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อไป
ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการจะมีการออกมาเสริมจากมาตรการปกติที่ ธ.ก.ส.ใช้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรไปแล้ว เนื่องจากปีนี้คาดว่าพื้นที่ประสบภัยแล้งจะขยายความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และการพักหนี้หรือมาตรการช่วยเหลือเดิมอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยมาตรการสนับสนุนสินเชื่อจะเน้นปล่อยกู้ให้เกษตรกรไปปรับปรุงแก้ไขระบบน้ำเพื่อรองรับภัยแล้ง เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การขุดบ่อเก็บกักน้ำ หรือลงทุนวางท่อทำระบบน้ำต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันและอนาคต
“หากที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบ จะมีการเสนอมาตรการแก้ภัยแล้งให้ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ทันที ส่วนการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ยังอยู่ระหว่างรอการประสานข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่” แหล่งข่าวระบุ
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 27 มกราคม 2563)" ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 26 มกราคม 2563
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส สำหรับยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 1-13 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง และประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร
ทั้งนี้ เนื่องจากคลื่นอากาศในกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว เวียดนาม และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีอากาศเย็นถึงหนาว
พยากรณ์อากาศ ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.63 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 7-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 1-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.63 มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 27-30 ม.ค.63 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 13-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.63 มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.63 มีอากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.63 มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.63 มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในช่วงวันที่ 26-28 ม.ค.63 เมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29 ม.ค.-1 ก.พ.63 เมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.63 เมฆบางส่วนกับมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.63 เมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.63 มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 5 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม และสกลนคร รวม 13 อำเภอ 23 ตำบล 109 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 284 หลัง เสาไฟฟ้าโค่น 45 ต้น ศาลาริมทาง 1 หลัง วัด 1 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ประเมิน และจัดทำบัญชีข้อมูลความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |