อนค.-พร้อมถอดบทเรียน แต่ไม่เปลี่ยนแนวทาง


เพิ่มเพื่อน    

 อนค.พร้อมถอดบทเรียน พรรคสำรองมีแล้ว 3-5 พรรค

                เส้นทางเดินของ พรรคอนาคตใหม่ ต่อจากนี้ยังคงเป็นที่สนใจของหลายฝ่าย แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องคดีล้มล้างการปกครองเมื่อ 21 มกราคม เพราะก็ยังมีอีกบางคดีที่แวดวงการเมืองประเมินว่า มีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าคดีล้มล้างการปกครอง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก

                ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงทิศทางของพรรคอนาคตใหม่ต่อจากนี้ในหลายแง่มุม โดยย้ำว่าพรรคจะไม่มีการทบทวนหรือต้องเปลี่ยนแนวทาง จุดยืนของพรรคหลังจากนี้แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่พรรคเป็นอยู่ในปัจจุบันคือสิ่งที่ทำให้ประชาชนให้การตอบรับและสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคจะขับเคลื่อนการเมืองต่อไปในหลายบริบท เช่น การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดผลสำเร็จ พร้อมกับยังมั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่โดนยุบพรรคจากเรื่องเงินกู้ 191 ล้านบาท อย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ แต่เพื่อความไม่ประมาท ตอนนี้พรรคได้เตรียมพรรคสำรองไว้หมดแล้ว โดยเตรียมการไว้ประมาณ 3-5 พรรค สำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

                ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์กับเรา หลังเดินออกจากห้องประชุมใหญ่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ตึกไทยซัมมิท ในวันเดียวกับที่ศาล รธน.ยกคำร้องคดียุบพรรคเมื่ออังคารที่ผ่านมา กับคำถามแรกเมื่อการสัมภาษณ์เริ่มต้นขึ้น เราถามว่า ผิดคาดกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เขายอมรับว่า จากเหตุการณ์หรือคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ทำให้เราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ก่อนหน้านี้ และส่วนใหญ่แล้วทุกคนไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์หรือไม่ใช่กองเชียร์ ต่างลงความเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่โดนยุบแน่ๆ แต่ในฐานะนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ด้วย ผมดูแล้วคำร้องคดีดังกล่าวยังไงก็คงไปไม่ถึง

....ก่อนหน้าวันที่ 21 มกราคม ถามว่ามั่นใจหรือไม่ จะบอกว่ามั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อีกทั้งคดีที่มีการร้องอะไรกันในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังเหลืออีกมาก อย่างเรื่องสำคัญๆ ก็เช่นคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ แต่คดีที่มองว่าน่าหวาดเสียวที่สุด ก็คือคดีที่จบไปเมื่อ 21 มกราคม แต่สำหรับคดีเงินกู้ เราก็คิดว่าหลังจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งออกมาเปิดเผยเรื่องพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เคยมีการกู้ยืมเงิน แม้แต่กับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันที่เนื้อหาแตกต่างจากกฎหมายพรรคการเมืองฉบับก่อนหน้านี้ ก็พบว่าก็มีบางพรรคการเมืองที่อยู่ในปัจจุบันก็มีหลายพรรคก็กู้เงินเหมือนกัน ก็น่าจะทำให้เขาก็ต้องคิดหนัก เพราะกระบวนการพิจารณาของ กกต.เองก็พบว่า คณะอนุกรรมการของ กกต.ที่ตั้งขึ้นก็มีมติเอกฉันท์ทั้ง 2 คณะ ก่อนส่งให้ กกต.ชุดใหญ่ให้ยกคำร้อง แต่ กกต.ก็ยังจะนำคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ฟ้อร้องดำเนินคดีกับ กกต.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ

-คำตัดสินที่ออกมา ทำให้พรรคอนาคตใหม่เชื่อมั่นต่อศาล รธน.และองค์กรอิสระมากขึ้นหรือไม่?

พูดกันตรงๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาคดีเกี่ยวกับการเมือง พอเป็นคดีการเมือง ก็ต้องดูผลกระทบทางการเมืองด้วย เห็นได้จากตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร ในคดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่มีมติ 8 ต่อ 7 ที่ให้ยกคำร้อง ซึ่งในส่วนของคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่ร้องพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ ก็คงวิเคราะห์ในแง่ผลกระทบทางการเมืองด้วย

                เราถามย้ำอีกครั้งว่า จากผลที่ออกมาทำให้เชื่อต่อศาล รธน.มากขึ้นหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้คนมักมองว่า มีธงหรือต้องการเล่นงานพรรคอนาคตใหม่ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวตอบว่า ถามว่ามากขึ้นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามันก็ดีกว่าเดิมขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ถึงกับทั้งหมด เพราะส่วนตัวผมก็ไม่เชื่อมั่นต่อเรื่องการแต่งตั้งเลือกคนเป็นกรรมการองค์กรอิสระในยุคปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะที่มาก็รู้กันดีอยู่แล้ว ใครเป็นมาอย่างไร แต่งตั้งกันมาจากยุค คสช.กันกี่คน มีกี่คนได้รับการทำให้มีการขยายเวลาในการทำงาน และอีกกี่คนซึ่งจริงๆ ควรต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะหมดวาระ แต่ก็ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พ้นเสียที เพราะติดในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภาที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาสอบประวัติที่ส่งชื่อมารอบใหม่ ก็พบว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จเสียที ส.ว.ก็มีการขยายแล้วขยายอีก คนเขาก็มองว่าเพื่อจะมาปิดจ๊อบ

...ผมก็เข้าใจ ก็ตามที่คาดกัน น่าจะคงให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ปิดจ๊อบเสียก่อน แต่เขาก็คงพิจารณากันแล้ว มันไปไม่ได้จริงๆ เพราะไม่รู้จะเขียนคำวินิจฉัยกันออกมาอย่างไร จะลงโทษกันอย่างไร เพราะอ่านคำร้องแล้วยังไงก็ไม่เข้าข่าย เพราะคำร้องดังกล่าวที่อ้างตามช่องทาง รธน.มาตรา 49 ของ รธน. ซึ่งโทษมันไม่ถึงขั้นยุบพรรอยู่แล้ว และปรากฏว่าตอนยื่นเอกสารแถลงปิดคดีไปที่ศาล รธน. ผู้ร้องก็ไปร้องเอาผิดพรรคอนาคตใหม่ โดยพ่วงให้เอาผิดตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเข้าไป แต่ก็ไม่ทันแล้ว เพราะคำร้องหากจะยื่นเรื่องลักษณะแบบนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการร้อง ซึ่งก็ทราบมาว่าเขาก็ไปร้อง กกต.ด้วย เพื่อให้ กกต.ร้องประเด็นนี้กลับไปใหม่

ถามถึงสิ่งที่คนในพรรคอนาคตใหม่พูดมาตลอด เรื่องมีการใช้ Lawfare นิติสงคราม เพื่อจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ หลังศาล รธน.ยกคำร้องไปแล้วหนึ่งเรื่อง หลังจากนี้คิดว่ายังมีอยู่หรือไม่ ชำนาญ กล่าวสำทับว่า ยังมีอยู่ และยังไม่หยุด lawfare และไม่ได้จะทำลายเฉพาะพรรคอนาคตใหม่อย่างเดียว แต่ทำกับทั้งองค์กรที่ขับเคลื่อนต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหลายก็โดนตลอด แม้แต่กับนักศึกษา ซึ่งวิธีการก็ต้องช่วยกันส่งเสียงออกมาให้ได้ว่าไม่ใช่เสียงที่เงียบ ซึ่งจริงอยู่มันอาจจะมีผลหรือไม่มีผล แต่ผมเชื่อว่าก็ต้องมี เห็นได้จากกิจกรรมแฟลชม็อบ จากที่คนมักพูดกันว่า มีแต่พวกเกรียนนักเลงคีย์บอร์ด แต่ปรากฏว่าพอออกมาจริงๆ ก็มากันเยอะมาก หรือกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ก็มีคนออกมากันมาก ทั้งที่ไม่ได้มีการจัดตั้งกันมาแบบในอดีต ผมว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องคิดเหมือนกัน คนที่มุ่งทำลายก็ต้องชั่งใจ

ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่บางฝ่ายประเมินว่า พรรคอาจไม่ได้ข่าวดี เหมือนคดีล้มล้างการปกครองฯ เพราะอาจจะไม่รอดในคดีนี้  โดยได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า คำร้องเรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่มีหลักฐานอยู่เยอะมากในการพิจารณาสำนวนคดีนี้ของ กกต. เช่น การพิจารณาของอนุกรรมการ กกต. 2 ชุดที่ให้ยกคำร้อง แต่พบว่า กกต.ไม่ได้ส่งไปประกอบในคำร้องที่ กกต.ยื่นต่อศาล รธน. ทางพรรคก็จะมีการทำเรื่องเพื่อขอให้ศาล รธน.เรียกเอกสารดังกล่าว รวมถึงโดยหลักการทั่วๆ ไป เงินกู้ไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่การบริจาคอยู่แล้ว

 ประเด็นสำคัญที่สุดนอกจากประเด็นกฎหมายแล้วก็คือประเด็นทางการเมือง ที่ก็มีพรรคการเมืองถึง 32 พรรคที่มีการกู้เงิน ก็เหมือนกับคดีถือหุ้นสื่อ ที่มีผู้ถูกร้องมีทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ล่าสุดเรื่องยังเงียบอยู่

-มีการมองกันทางการเมืองว่า การที่ศาล รธน.ไม่เอาผิดไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพื่อจะได้ลดกระแส แล้วจะไปเอาผิดยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีเงินกู้?

คงไม่ เพราะคดีอิลลูมินาติบิดง่ายที่สุดแล้ว เพราะมันกว้างขวางมากในการจะลงโทษ แต่ดูแล้วคงมองว่ามันไปไม่ไหวจริงๆ มันลงโทษไม่ได้ มันบิดไปไม่ถึงจริง เขาก็เลยต้องยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นบ่อย ที่ตุลาการศาล รธน.ทั้งหมดจะเห็นพ้องตรงกันหมดทั้ง 9 เสียง ทั้งที่ตอนรับคำร้องไว้พิจารณามติยังออกมา 5 ต่อ 4 เลย

คดีเงินกู้ สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการเห็นก็คือ การให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี โดยเรียกพยานบุคคลของทั้ง 2 ฝ่ายมาไต่สวน เพราะจะพิจารณาแค่พยานเอกสารคงไม่พอแล้ว เพราะหลักฐานที่ กกต.ขอให้เราส่งไปให้ กกต.เป็นเอกสารจำนวนมาก สูงเป็นเมตรๆ เป็นการขอในสิ่งที่ทำให้ไม่ได้ เราก็ต้องการถามว่า กกต.จะเรียกเอกสารเหล่านั้นไปเพื่ออะไร

-เกรงหรือไม่ว่าจะมีการเร่งรีบปิดคดี เพื่อให้ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบันทั้ง 9 คนได้พิจารณาให้แล้วเสร็จ ให้ 5 ตุลาการศาล รธน.ที่จะหมดวาระได้อยู่ร่วมพิจารณาก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง หากวุฒิสภาเห็นชอบรายชื่อตุลาการศาล รธน.ในเร็ววันนี้?

ไม่ทันแล้ว ตุลาการศาล รธน.ชุดนี้ทั้งหมดจะพิจารณาสำนวนคดีเงินกู้ดังกล่าวยังไงก็ไม่ทันแล้ว เพราะคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ จำนวน 5 คนของวุฒิสภา ล่าสุดวุฒิสภาขยายเวลาให้ กมธ.ไปแค่ 15 วัน ซึ่งตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของศาล รธน.แล้ว ศาลจะให้ผู้ถูกร้องต้องส่งเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหา แต่ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ได้ทำเรื่องขอขยายเวลาในการส่งเอกสารดังกล่าว โดยที่ทางศาล รธน.ก็ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาได้ จนถึงส่งไม่เกิน 27 มกราคมนี้ และทางพรรคจะมีการทำหนังสือขอขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงต่อศาล รธน.ออกไปอีก แต่ขอแล้วศาล รธน.จะให้หรือไม่ ยังไม่ทราบ ถ้าศาลไม่ให้ เราก็จะส่งเอกสารคำชี้แจงที่เตรียมไว้ให้ไป แต่หากศาล รธน.เห็นชอบให้ขยายเวลาได้ เราก็จะได้ทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาได้ละเอียดมากขึ้น

                ...ตามขั้นตอน สมมุติว่าหากศาล รธน.ให้พรรคอนาคตใหม่ขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหา หรือสุดท้ายหากศาล รธน.ไม่ให้ขยายเวลา แล้วพรรคต้องส่งเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหาไปให้ศาล รธน. เมื่อพรรคส่งไปแล้ว ทางศาล รธน.ก็ต้องนำคำชี้แจงข้อกล่าวหามาพิจารณา จากนั้นตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาล รธน.ทางศาลจะต้องเอกสารดังกล่าวไปให้ผู้ร้อง (กกต.) ด้วย เพื่อให้ กกต.ทำหนังสือเอกสารการคัดค้านคำให้การของฝ่ายผู้ถูกร้อง (พรรคอนาคตใหม่) กลับมายังศาล รธน.อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นศาล รธน.ก็จะมาพิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้องคือพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ยื่นขอให้ศาล รธน.เปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวน โดยเรียกพยานบุคคลตามบัญชีรายชื่อพยานที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อศาล รธน.ทางศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ จะเปิดให้มีการไต่สวนสืบพยานในห้องพิจารณาคดีหรือไม่ แบบเดียวกับคำร้องกรณีธนาธรเรื่องหุ้นสื่อ ซึ่งจะพบว่าคำร้องของธนาธรที่เอกสารที่เกี่ยวข้องไม่กี่หน้า แต่ศาล รธน.ใช้เวลากว่าจะนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยร่วม 6 เดือน แต่กรณีคำร้องเรื่องเงินกู้ ก็อาจใช้เวลานานกว่าอีก เพราะมีเอกสาร พยานหลักฐานเยอะ มีเอกสารสูงเป็นเมตรๆ

                -หากวุฒิสภาจะไม่เห็นชอบรายชื่อตุลาการศาล รธน.ใหม่ 5 คน โดย กมธ.สามัญสอบประวัติของ ส.ว.ทำเรื่องขอขยายเวลา โดยที่ประชุมวุฒิสภามีการงดใช้ข้อบังคับเพื่อขยายเวลาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 5 ทำได้หรือไม่?

ไม่ได้แล้ว เพราะตอนที่ทางวุฒิสภามีการเห็นชอบให้ กมธ.สอบประวัติขยายเวลา มีการบอกชัดว่ารอบที่ 4 ดังกล่าว เป็นการเห็นชอบให้ขยายเวลาออกไปเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านั้น กมธ.ขอขยายครั้งละ 30 วัน โดยขอไปแล้ว 3 รอบ แต่รอบล่าสุด กมธ.ขอขยายเวลาแค่ 15 วัน และขอเป็นครั้งสุดท้าย ก็อาจทำให้การพิจารณาคดีเงินกู้ ว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ (5 คน) ที่วุฒิสภาจะโหวต เป็นผู้เข้ามาพิจารณาคดีต่อไป แต่ว่ากระบวนการพิจารณา หลังวุฒิสภาโหวตเห็นชอบรายชื่อ ก็ยังมีขั้นตอนอื่นๆ เช่น การต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณารายชื่อตุลาการศาล รธน.รอบใหม่ดังกล่าวมีการส่งชื่อไปให้วุฒิสภาพิจารณานานแล้วตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ ซึ่งถือว่านานผิดปกติ ทั้งที่เป็นแค่การตรวจสอบคุณสมบัติ ที่โดยหลัก หากวุฒิสภามีการเห็นชอบรายชื่อแล้วและเข้าสู่ขั้นตอนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตุลาการศาล รธน. 5 คนที่จะหมดวาระ โดยมารยาทแล้วก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ 

-วิบากกรรมของพรรคอนาคตใหม่จบลงแล้วหรือยัง หลังศาล รธน.ยกคำร้องคดีล้มล้าง

เรื่องนี้อยู่ที่ประชาชนเป็นหลักเลย บอกแล้ว ศาล รธน.คือศาลที่พิจารณาคดีการเมือง ซึ่งการพิจารณาคดีการเมืองก็ต้องประเมินถึงผลกระเทือน ผลกระทบต่อการเมือง ต่อบ้านเมือง

-หากการวินิจฉัยคดีของศาล รธน.ถ้าวินิจฉัยออกมาโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ประชาชนก็อาจไม่ยอม?

1.การยอมรับของตัวศาลทั้งหมด ก็จะมีปัญหา 2.ตัวตุลาการแต่ละคนก็อาจจะถูกฟ้องคดีได้ เพราะแต่เดิมเวลาคนจะฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ข้าราชการ ต้องไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ก่อน แต่ตอนนี้ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่เขาวินิจฉัยแล้ว ว่าสามารถไปฟ้องตรงที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ไปฟ้องกรรมการการเลือกตั้งต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ จากเดิมที่หากจะทำต้องไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ถ้าเกิดเราดูว่าตุลาการแต่ละคนมีความไม่ชอบมาพากล แต่ต้องมีหลักฐานหนักแน่นว่ามีเจตนาไม่สุจริต ช่วยเหลืออะไรแบบนี้ ตุลาการศาล รธน.ก็โดนได้ เพราะตุลาการศาล รธน.ก็เป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม โทษรุนแรงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไปถึง 3 เท่า

ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยอมรับว่า เรื่องการเตรียมการตั้ง พรรคสำรอง กรณีหากอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ได้มีการเตรียมไว้แล้ว เรามองกันไว้อยู่ ก็มีประมาณ 3-5 พรรค เพื่อที่เราจะได้ move ได้ทันที เพราะไม่เช่นนั้นหากถึงเวลาก็จะเคว้ง พอเคว้งแล้วก็จะแตกรัง เพราะเขาต้องการให้พรรคอนาคตใหม่อยู่ในสภาพผึ้งแตกรัง แต่เราจะทำให้เขาไม่เห็นแบบนั้น อันนี้ก็พูดกันตรงๆ เพราะก็มีพรรคการเมืองมากมายที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เราต้องทำ ก็เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่า การยุบพรรคการเมืองมันไม่ได้ผล

...ความจริงแล้ว วันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา (วันศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง) เราก็มีการเตรียมการไว้แล้วสำหรับพรรคสำรอง วันนั้นพรรคก็มีการเตรียมแถลงการณ์ไว้ 2 ชุดแล้ว วันนั้น อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ใส่ชุดดำไว้แล้ว หากวันนั้นศาล รธน.มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เราก็จะบอกวันนั้นเลยว่า ให้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เตรียมไปยื่นสมัครเป็นสมาชิกพรรคที่เตรียมไว้ แล้ว ส.ส.ก็พากันไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคโดยพาเหรดกันไป ใครจะหลุดร่วงกันไปกลางทางก็แล้วแต่ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ต้องไปตามนั้น เพราะเราคุยกันไว้แล้วหนักแน่นในการไปพรรคการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็ตาม พอเราเข้าไปแล้ว ก็จะมีการดำเนินการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อลงมติให้มีการเปลี่ยนชื่อพรรค เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์พรรค แก้ข้อบังคับพรรค มีการแก้ไขรายชื่อกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้เขาได้รู้ว่าจะยุบพรรคไปก็ไม่ได้ผล จะมีผลก็แค่กรรมการบริหารพรรคที่จะถูกตัดสิทธิ์ไปก็เท่านั้น

                เรื่องการยุบพรรคการเมือง ที่ไหนในโลกก็ไม่มี มีก็แค่เช่นที่เยอรมัน แต่ว่านานมาแล้ว ซึ่งมันร้ายแรงมากๆ คือเป็นพรรคนาซี ที่ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อจะสานรอยของฮิตเลอร์...และเป็นการเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่เกิดขึ้นนานแล้ว ไม่ใช่ช่วงยุคนี้ นอกนั้นก็เป็นเรื่องการยุบพรรคจากมูลเหตุต่างๆ เช่น ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ไม่จัดทำงบดุลรายปีของพรรค แต่ยุบพรรคการเมืองด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองน้อย ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ซึ่งเรื่องการยุบพรรคการเมือง ผมในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. ผมก็จะเสนอเรื่องพวกนี้ต่อกรรมาธิการให้พิจารณาด้วย เรื่องยุบพรรคควรทำให้น้อยที่สุด โดยความผิดที่จะไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้จะต้องมีความผิดร้ายแรงมาก เช่น จะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการไปเลย หรือพรรคไปสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หากเป็นเรื่องอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแล้วจะเอาเรื่องพวกนี้ไปอ้างเหตุเพื่อยุบพรรค มันไม่ควร

ถามถึงว่า หากพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค พวก ส.ส.ของอนาคตใหม่จะไปอยู่กับพรรคสำรองที่เตรียมไว้พร้อมกันหมดทุกคนหรือไม่ ชำนาญ ตอบแบบตรงๆ ว่า ผมพูดตรงๆ โดยธรรมชาติการเมือง มันไม่มีทางหรอกที่จะพร้อมกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คงมีหล่นรายทางบ้าง แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะไปด้วยกัน

                "ผมก็รู้ว่ามีความพยายามติดต่อทาบทามกันตลอดเวลานอกจาก 4 คนที่ออกไปแล้ว มีความพยายามจะเข้ามาสอดแทรกอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าวันที่ 21 มกราคม ยกเว้นผมกับกรรมการบริหารพรรค พวกคีย์แมนพรรค เท่านั้นที่ไม่ได้รับการติดต่อ มีการติดต่อว่าหากไปอยู่กับพรรคแล้วจะให้อะไรต่างๆ มีหมด ก็มีแบบพูดหมาหยอกไก่ มีหมดทั้งพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝากเลี้ยง มีการมาพูดเล่นอะไรกันบ้าง มีการพูดผ่านเครือญาติ คนสนิท พูดอ้อมๆ มีหมด มีถึงขนาด ส.ส.เดินอยู่หน้ารัฐสภา มาจับไม้จับมือ ขอคุยด้วย ก็มีการทำทุกอย่าง มีการเสนอเงื่อนไขเยอะ มีทั้งจำนวนเงิน ตัวเลข จำนวนเงินรายเดือน ซึ่งผมก็ไม่เชื่อว่าเขาจะให้ขนาดนั้น แต่การให้ผมเชื่อว่ามี"

                -หลังศาล รธน.ยกคำร้องคดีล้มล้าง จะทำให้พรรคอนาคตใหม่ต้องลดโทนการเมืองลงหรือไม่?

ที่จริงมันไม่ได้มีอะไรเลย อย่างเรื่องของสถาบัน ไหนๆ ก็พูดแล้ว ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่เคยมีความคิด และพรรคไม่เคยพูด ที่พรรคพูดก็เป็นการอธิบายในข้อกล่าวหาที่คนเขาพูดกัน แต่เราไม่เคยพูดอะไรออกมาตั้งแต่มีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาโดยสมบูรณ์-ไม่มี ไปดูได้เลย เราไม่เคยพูด ไม่เคยเริ่ม ไม่เคยมีพฤติกรรม อย่างการโหวตเรื่องพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลฯ เป็นเพราะพรรคได้วิเคราะห์กันแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสถาบันเลย เพราะพรรควิเคราะห์กันว่าการออกพระราชกำหนดดังกล่าว จริงๆ สามารถออกเป็นพระราชบัญญัติได้ เพราะหากเสนอเป็น พ.ร.บ.ก็สามารถพิจารณาสามวาระทันทีได้ แต่พรรคมองว่าเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์เคยชินกับการใช้มาตรา 44 ออกอะไรมาแบบพรวดๆ พรรคไม่เคยไปแตะต้องเรื่องอะไรเกี่ยวกับสถาบัน เราไม่เคยไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา เพียงแต่เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกมาเป็นพระราชกำหนด เราถึงมีมติโหวตออกมาแบบนั้น

-แต่คนมักมองกันว่าพรรคอนาคตใหม่อยู่ตรงข้ามสถาบันและชนชั้นนำ?

ไม่มีเลยเรื่องนี้ เรื่องสถาบันไม่มีเลย ยืนยันได้แน่นอน แต่ที่บอกว่า "ชนชั้นนำ" ต้องถามว่าชนชั้นนำแบบไหน ชนชั้นนำพวกบูโรแครตหรือไม่ หรือชนชั้นนำพวกนายทุนหรือไม่ ถ้าแบบนี้แน่นอน เรายืนยัน พวกที่รักษาสถานภาพเดิมไม่อยากให้สูญเสียไป ชนชั้นที่ได้เปรียบ พวกนี้จะเป็นแบบนั้น แต่สำหรับสถาบัน เราก็รู้อยู่แล้วว่าคนไทยเรา ประเทศไทยเราเป็นอย่างไร

-ก็คือหลังจากนี้พรรคไม่จำเป็นต้องทบทวน ต้องประนีประนอม?

ไม่ๆ จุดของพรรคอนาคตใหม่ก็คือจุดนี้ ที่มีคนชื่นชอบ มีคนเข้ามาเรื่อยๆ ทุกวันก็เพราะจุดนี้ เพราะเขาชอบความตรงไปตรงมา บางคนอาจจะมองว่าพวกเราแข็งกร้าว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าใครได้รู้จักธนาธร หัวหน้าพรรค ดร.ปิยบุตร จะรู้ว่าพวกเขาอ่อนน้อมถ่อมตนมาก แล้วเวลาประชุมกรรมการบริหารพรรคแล้วต้องโหวตกัน ทั้งธนาธรและปิยบุตรก็แพ้โหวตบ่อยครั้ง

-ยืนยันว่าไม่ต้องทบทวนวิถีทาง การเดินทางการเมืองของพรรค?

ไม่ต้อง แต่ว่าก็โอเค แน่นอนพรรคเราเป็นพรรคใหม่ ยังไม่ครบสองปี เราก็ต้องถอดบทเรียน ใช้คำว่าถอดบทเรียนดีกว่า อันไหนที่เรายังบกพร่องอยู่ อันไหนเรามากไป อันไหนเราน้อยไป มันมีอยู่แล้ว  เราต้องทบทวนวิเคราะห์สถานการณ์อยู่แล้ว เช่นพรรคเราให้กับเรื่องงานในสภามากกว่างานเรื่องฐานมวลชนหรือไม่ เพราะพรรคเราต้องการให้เป็นพรรคมวลชน เราไม่ต้องการให้เป็นพรรค ส.ส. เพราะถ้าเป็นพรรค ส.ส.ก็จะไปเหมือนกับพรรคอื่น คือทำยังไงให้พรรคได้ ส.ส.มากที่สุดเพื่อเข้ามาสภา หรือทำยังไงที่จะรักษาสถานภาพ ส.ส.ที่ได้อยู่แล้วให้อยู่ต่อไป-ไม่ใช่ แต่ต้องทำคู่กันไป พรรคอนาคตใหม่ถึงมีสำนักงานสาขาพรรคอยู่ครบทั้ง 77 จังหวัด เป็นพรรคเดียวของประเทศไทยที่มีสำนักงานพรรคแบบนี้

-จากนี้จะทำให้การขยับของพรรคในทางการเมืองต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นหรือไม่ เพราะขยับแต่ละครั้งคนก็จับจ้องตลอด?

มันก็ธรรมดา ก็เหมือนกับคนขับแท็กซี่ ก็มีการจะหาเรื่องเขาตลอดเวลา สุดท้ายหาข้อหาอะไรให้เขาไม่ได้ ก็บอกว่าคนขับแต่งตัวไม่สุภาพ แล้วอย่าลืมว่าโซเชียลมีทั้งคุณและโทษ ในทางโทษก็มี เช่น ตัดต่อได้ โดยตัดต่อบางส่วน นำออกไปไม่หมด หรือบางเหตุการณ์ไม่ใช่เรื่องในตอนนี้ ก็มีการสลับสับเปลี่ยนกันเข้าไป เพื่อสร้างความเข้าใจ และพวกที่สร้างความเข้าใจผิดคือคนที่อายุมากๆ ทั้งนั้น พวกที่เล่นไลน์ทั้งหลาย อ่านยังไม่จบเลยส่งต่อแล้ว

ส่วนที่คนรุ่นใหม่ให้การสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่เยอะ เพราะเขาอยากเห็นประเทศกลับมาเป็นปกติเหมือนนานาอารยประเทศทั้งหลาย เพราะสภาวะในปัจจุบันมันไม่ปกติ มีการรัฐประหาร มีการผูกขาดโดยกลุ่มทุน 3-4 กลุ่ม แล้วก็มีแต่รัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า อันนี้คือสิ่งผิดปกติ แต่บางคนพยายามทำให้เห็นว่าเรื่องพวกนี้คือสิ่งปกติ เหมือนกับเรื่องการยุบพรรค ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย  เขาก็ต้องถามว่าไปยุบพรรคการเมืองได้อย่างไร มันเป็นเรื่องผิดปกติ อย่างวันที่ศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีเมื่อ 21 มกราคม คนก็เชื่อกันไปก่อนว่ายังไงก็ต้องยุบ แล้วก็เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติ พอศาลรธน.มีคำสั่งยกคำร้อง ก็บอกว่าผิดคาดที่ไม่ยุบพรรค

เมื่อเรานำสิ่งที่ ดร.ปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ สื่อสารเอาไว้ก่อนหน้าวันตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 ม.ค. ที่บอกว่าหากพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค จะทำให้เกิด Clash of  Generation มาสนทนากับ ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขากล่าวสำทับถึงเรื่องนี้ว่า ก็คือ คนเขาก็พยายามผลักพวกนี้ออกไป Clash คือการกระทบกระทั่งกัน ถ้ามีการยุบพรรค เขาก็ต้องมองแล้วว่า Generation นี้ถูกกีดกัน เกิดการปะทะ เกิดการรังเกียจเดียดฉันท์ เกิดคำถามว่านี้มันสังคมเราจริงหรือไม่ ถ้าไม่ยุบก็แสดงว่าเห็นไหมอยู่ร่วมกันได้ อันนี้ก็ชัด และที่ปิยบุตรบอกว่าหากโดนยุบพรรค จะเป็นการทำลายความหวังของคนในชาติ-ก็ถูก เพราะก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ คนไม่เคยให้ความหวังกับระบบการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย พอเห็นมีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น คนเขาก็บอกว่าอย่างน้อยก็เริ่มมีความหวังแล้ว เป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์           ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังกล่าวถึงเรื่องการเมืองบนท้องถนนและการรณรงค์ของบางฝ่ายที่พุ่งเป้ามาที่พรรคอนาคตใหม่ เช่นกรณีการสร้างกระแสลัทธิชังชาติของกลุ่ม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรมด้วยว่า เรื่องการเมืองบนท้องถนนอย่างกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นเรื่องปกติ ในประเทศอารยะทั้งหลาย เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าถามแบบนี้คือจะถามว่าพรรคอนาคตใหม่คิดอย่างไร บอกเลยว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่เป็นแกนนำบอกได้เลย แต่จะไปร่วมไปแน่ ก็เหมือนที่ธนาธรไปวิ่งไล่ลุง ที่ก็มีคนมามีคนจัด ให้เป็นธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นก็จะมาหาว่าเราไปอยู่เบื้องหลังคอยจัดตั้ง ซึ่งเรายืนยันว่าเราไม่ทำ อย่างแฟลชม็อบก็เหมือนกัน นัดแล้วหนึ่งชั่วโมงก็จบ ก็ทำให้เห็นว่ามีตัวตน ไม่ใช่นักเลงคีย์บอร์ดอยู่หน้าจออย่างเดียว  ก็เท่านั้นเอง เพราะเราก็รู้ว่าถ้าเป็นม็อบแบบเก่าไม่เคยสำเร็จ อยู่นานแล้วมีคนเสียชีวิต

การเมืองการประท้วงเป็นเรื่องปกติ แต่บทเรียนประวัติศาสตร์มันสอนไว้อยู่แล้ว ประเภทว่า ประท้วงไม่ชนะไม่เลิก ผลที่ได้คือคนเสียชีวิตเยอะแยะ แล้วก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แล้วรัฐบาลต่างๆ ในอดีตเช่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้ยุบเพราะม็อบ แต่เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชัดๆ เลย กับปรากฏการณ์อนาคตใหม่ หากวันที่ 21 มกราคม ถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ มันก็ไม่ได้มีอะไร ก็อาจมีคนไม่พอใจ อย่างมากก็อาจมีการชุมนุมนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จบ แต่ว่ารอยร้าวมันเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องการรณรงค์สร้าง "กระแสชังชาติ" ต้องถามว่า "ชาติ" คืออะไร ชาติก็คือประชาชน ชาติคือการรวบรวมของเชื้อชาติ เป็นที่รวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ประกอบกันเป็นชาติ ผมสอนรัฐศาสตร์มา ผมรู้ ชาติคือ nation-state-country แล้วเราจะไปชังทำไม แต่เราต้องมองว่าชาติต้องมีประชาชนอยู่ในนั้น ส่วนที่มีการพุ่งเป้ามาที่พรรค เขาก็พยายามทำอยู่แล้ว แต่คนเชื่อเขาก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี ก็มีกิจกรรมเช่นเดินเชียร์ลุง มีเปิดตัวสถาบันทิศทางประเทศไทย ก็ไม่ว่ากัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติในวิถีทางประชาธิปไตย เราก็หน้าที่อธิบาย แต่อย่าใช้ hate speech มาโจมตีกัน หากถามมาเราก็อธิบาย  เพราะฉะนั้นทางฝ่ายนั้นเขาก็ต้องอธิบายสิ่งที่เราทำด้วย

การเคลื่อนไหวทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่อย่านำถ้อยคำอันเป็นเท็จ อย่านำถ้อยคำ hate  speech ออกมา ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าข่ายการก่อความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่ได้มีแค่การนำอาวุธมายิง อย่างกรณีเหตุที่รวันดา ที่มีการปลุกระดมใช้ hate speech แต่ควรนำเสนอด้วยหลักเหตุผลให้คนเห็นว่าสิ่งไหนดีกว่า แต่ก็มองว่าเขาก็คงทำอะไรไม่ได้ไปกว่านั้น เพราะขนาดตอนพีกสุดแล้วเขายังทำไม่ได้เลย ในช่วง กปปส.เขายังล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่ตอนนั้นรัฐบาลล้มเพราะศาลรัฐธรรมนูญ  เขายังไม่สำเร็จเลย

“หลังจากนี้มองว่าไม่น่ามีอะไรอีกแล้ว เพราะคดีที่จบไปเมื่อ 21 มกราคมถือว่าหนักที่สุด ที่น่าหวั่นใจก็คือพวกงูเห่าทั้งหลายที่พยายามจะแทรกเข้ามา ใช้เล่ห์กลล่อใจต่างๆ มีการติดต่อผ่านญาติ ส.ส.เข้ามา ส่วนหลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นกับพรรคอีก เราคาดการณ์ไม่ได้ แต่ก็ทำให้ดีที่สุด แต่เรารู้ว่ามีการจับจ้องที่พรรคเรา เราก็ต้องระมัดระวังทุกอย่างในการกระทำของเรา  การสนทนาปราศรัย การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ การใช้เงินงบประมาณของสภา ทุกอย่างต้องถูกต้อง เพราะสายตาจับจ้องอยู่ ถึงตอนนี้เราเชื่อว่าที่ทำมาหลักการใหญ่เราเชื่อว่าเราถูก  แต่รายละเอียดก็ต้องปรับปรุง" รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวย้ำ

ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่เสนอญัตติ ให้สภาเห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคตด้วยว่า เพราะก็ไม่มีใครการันตีได้ว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก แม้ รธน.จะเคยเขียนไว้เช่นสมัยปี 2517 แต่ก็ถูกฉีกหมด ก็ต้องมีการคิดกันว่าเราจะทำวิธีไหน เช่นสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองไม่ให้ยอมรับรัฐประหาร หรือสร้างหลักประกันหรือภูมิคุ้มกันให้ศาลสามารถตัดสินโดยไม่ให้ถือว่ารัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ อย่างที่ตุรกี กรีซ เกาหลีใต้ เขาก็นำคนทำรัฐประหารมาลงโทษหมด ทำให้ศาลมีความกล้าหาญในการตัดสินคดี ถ้าเป็นแบบนี้มันก็จะไม่เกิดการกระทำได้ เพราะหากมีการถูกลงโทษต่อไปก็จะไม่กล้าทำ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีนักรัฐศาสตร์ชื่อดังหลายคนก็เขียนเรื่องนี้ไว้เช่น ยีน ชาร์ป นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ก็เขียนไว้ เช่นเวลาเกิดรัฐประหารก็ให้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้ความร่วมมือ เช่นเปิดไฟหน้ารถ หรือไปถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งหลายที่ก็ทำสำเร็จ แต่การที่พรรคอนาคตใหม่เสนอญัตตินี้ ฝ่ายวิปรัฐบาลอาจไม่ยอม แต่เมื่อญัตตินี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภา ก็ต้องมีการอภิปราย ก็จะได้นำเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะ ให้คนได้ข้อมูลว่าการทำรัฐประหารเกิดผลเสียอย่างไร เพราะหากทำรัฐประหารแล้วเจริญรุ่งเรือง ป่านนี้ไทยเป็นประเทศมหาอำนาจแล้ว เพราะจากสถิติไทยเราเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากโซมาเลียกับอิรัก.

...............................

แก้ รธน.มาตรา 256 ตั้งสภาร่าง รธน.ไม่ได้ ก็แก้ไขรายมาตรา

                ชำนาญ-รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงทิศทางการแก้ไข รธน.ต่อจากนี้ว่า การทำงานของ กมธ.ขณะนี้ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาสองคณะ คือคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน และคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน

                ...เมื่อสภาตั้งกรรมาธิการแล้วก็ต้องทำให้สมบูรณ์ เพราะใน รธน.ฉบับปัจจุบันมีข้อขัดข้องข้อขัดแย้งกันอยู่ และที่สำคัญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญออกจากกรรมการร่าง รธน. (ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์) ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื้อหาออกมาเละ หลายเรื่องเช่น การทำไพรมารีโหวต, จำนวนผู้มีสิทธิ์แต่ละเขต ที่จะทำให้พรรคการเมืองสามารถส่งคนลงเลือกตั้งได้ เขียนออกมาทำให้ขั้นตอนยุ่งยากมาก ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันหมดว่ายุ่งยากและทำไม่ได้

-แต่คนส่วนใหญ่มองว่าสุดท้ายจะไม่เกิดการแก้ไข รธน.ได้สำเร็จในสภายุคนี้?

ผมเชื่อว่าแก้ไข รธน.จะทำได้ แต่จะแก้ไขได้แค่บางประเด็นที่เห็นตรงกัน ซึ่งในส่วนของข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ฝ่ายค้านเสนอเพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน.ก็ต้องดูว่าเขาจะเอาด้วยหรือไม่ หากว่าสุดท้ายแก้มาตรา 256 ไม่ได้ เขาไม่เอาด้วย ก็ต้องทำวิธีเดิม แก้รายมาตรา ก็อยู่ที่การคุยกันว่าจะแก้มาตราไหนบ้าง ก็ลิสต์ประเด็นขึ้นมา คือว่าการเมืองคือเรื่องของอำนาจ การเจรจา การประนีประนอม ก็ต้องคุยกัน ไม่มีใครได้ตามที่ตัวเองต้องการทั้งหมด แล้วก็ไม่มีใครเสียทั้งหมด ปัญหาที่มันเกิดขึ้น คือพอรัฐประหารแล้ว take all ไม่แบ่งให้ใครเลย มันจึงเกิดแรงต้าน ตอนไม่มีรัฐสภา ปิดปากหมด ไม่ให้พูดไม่ให้จา คนก็รู้สึกขัดข้อง แต่เวลานี้มีสภาแล้วสถานการณ์ก็ผ่อนคลายลงไปเยอะ

                ญัตติเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไข รธน. พรรครัฐบาลนอกจากประชาธิปัตย์ ทางพลังประชารัฐก็เสนอญัตตินี้เข้าด้วย โดยเสนอในช่วงเที่ยวสุดท้ายก่อนสภาปิดสมัยประชุมรอบที่แล้ว ก็แสดงว่าเขาก็ต้องเอาด้วยไม่เช่นนั้นคงไม่เสนอญัตติเข้ามา เพราะเขาก็รู้ว่ากระแสคนต้องการให้มีการแก้ไข รธน. เพียงแต่จะแก้ไขอย่างไร ต้องมาว่ากันอีกที คือยังไงก็ต้องได้แก้ แต่ผมก็มองว่าการให้แก้ไข 256 ก็คงยาก แต่เราก็ต้องเสนอไปก่อน แต่การแก้ไข 256 ยังไงก็ต้องทำประชามติอยู่ดี

                รอง ปธ.กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.จากพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า หากสุดท้ายสภาในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่มีการแก้ไข รธน.ที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ตามมาก็คือแรงต่อต้านจะเยอะ ความอึดอัดขัดข้องก็จะเยอะ แต่ยังไงก็ต้องแก้ไขเพราะหลายพรรคการเมืองได้รับผลกระทบ แต่ผมกลัวมันจะไม่สำเร็จเสียก่อน เพราะเขาจะยุบสภาเสียก่อน ส่วนท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาอยู่ที่คนตั้ง ต้องดูว่าคนเสนอตั้ง ส.ว.คือนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขาจะเอาอย่างไร หากพรรคร่วมรัฐบาลเขามีมติเอาด้วยเพราะว่าทำแล้วได้ไม่เสีย หรือเสียแต่เสียน้อย ผมเชื่อว่า ส.ว.เขาก็ต้องเอาด้วยกับการแก้ไข รธน.

สิ่งสำคัญคือกระแสประชาชนถ้าส่วนใหญ่เห็นด้วย เหมือนกับตอนช่วงที่ก่อนสภาจะโหวตเห็นชอบร่าง รธน.ตอนปี 2540 ตอนนั้นคุณเสนาะ เทียนทอง อดีต รมว.มหาดไทยอภิปรายไม่ยอมรับ แต่สุดท้ายต้องยอมลงมติรับร่าง รธน. ซึ่งในการทำงานของ กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.ที่กำลังทำงานอยู่ตอนนี้ ก็มีอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น ที่ก็จะต้องมีการฟังความเห็น การสร้างแนวร่วม เช่น ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ที่ก็ต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นคนก็จะมองว่าแก้เพื่อพรรคการเมือง ก็จะไม่สำเร็จ.

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"