25 ม.ค.63-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีในการต่อใบอนุญาต รวมถึงจดทะเบียนรถใหม่ในรถทุกประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามข้อห่วงใยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องบูรณาการประสานงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วย
นอกจากนี้ ขบ. จะต้องศึกษาการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นมาตรการสำหรับกำหนดให้รถที่ใช้พลังงานสะอาดมีราคาถูกลง พร้อมทั้งพิจารณาการดำเนินการในการรองรับในทุกด้าน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถระบบไฟฟ้า (EV) รวมถึงเชื้อเพลิง NGV และเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B20 มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชน ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หากเห็นชอบคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้
ขณะเดียวกัน จากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเป็นประธานคณะกรรมการฯ นั้น ในที่ประชุมได้มีการเห็นชอบร่วมกันให้ยกระดับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และขอให้มีการนำมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 มาบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการดังกล่าวแบบ Single Command และพล.อ.ประวิตรฯ ยังได้มีข้อสั่งการให้ผู้ราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้พิจารณามาตรการที่จะเข้มขันขึ้นตามสภาพการณ์ที่เหมาะสมกับปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพื่อไม่ให้มีผลต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมจัดหาเครื่องมือตรวจวัดควันดำ (แบบทึบแสง) เพิ่มเติมให้เพียงพอ และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตำรวจ เพิ่มความเข้มขันในการตั้งด่านตรวจควันดำให้ครบทั้ง 50 จุดทั่วกรุงเทพมหานครตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ซึ่งตนได้สั่งการเพิ่มเติม คือ ให้มีการตรวจควันดำทั้งประเทศ เพื่อให้สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการตรวจสอบยานพาหนะของส่วนราชการเองให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีควันดำ รวมถึงให้ส่วนราชการพิจารณาการปรับการทำงานเหลื่อมเวลา และให้ราชการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในการประชุมครั้งดังกล่าว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการรายงานผลการตรวจสอบควันดำตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 ถึง 22 ม.ค. 2563 ว่าทางกรมการขนส่งทางบกได้มีการตรวจสอบรถบรรทุก ,รถโดยสารที่มีควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปแล้วทั้งหมดจำนวน 57,971 คัน โดยตรวจพบรถที่มีควันดำเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 1,087 คัน ซึ่งได้พ่นเครื่องหมายห้ามใช้รถดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งหลังจากพ่นเครื่องหมายแล้วหากมีการนำรถกลับมาให้โดยยังไม่ผ่านการตรวจสอบจะมีโทษปรับครั้งละ 50,000 บาท
อย่างไรก็ตามส่วนกรณีที่เป็นรถส่วนบุคคลจะขึ้นกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จราจรที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)จะมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท รวมถึงได้การสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯจัดทำแผนรายงานดำเนินการแก้ไขปัญหาของแต่ละหน่วยงานอย่างไรทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยได้มีการหน่วยงานที่มีการบริการสาธารณะเป็นพิเศษเช่น รถเมล์ ขสมก., รถร่วมบริการ และรถ บขส. รวมถึงการรถไฟฯ เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นั้น ขร.เตรียมหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการลดอัตราค่าจอดรถ 50% ในอาคารจอดแล้วจร (PARK & RIDE) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร และถือเป็นมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนด้วย
ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดี ขร. กล่าวว่า เตรียมเข้าหารือร่วมกับ รฟม.ถึงแนวทางการลดอัตราค่าจอดรถ 50% ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เชื่อว่า หากสามารถดำเนินการได้นั้น จะสามารถจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนช่วยในการแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วย
รายงานข่าวจาก รฟม. ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีพื้นที่จอดรถ 4 แห่ง จอดรถได้รวม 4,923 คัน ประกอบด้วย 1.อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่ จอดรถได้ 1,986 คัน 2.อาคารจอดแล้วจร สถานีสามแยกบางใหญ่ จอดรถได้ 1,296 คัน 3.อาคารจอดแล้วจร สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ จอดรถได้ 1,076 คัน และ 4.อาคารจอดแล้วจร สถานีแยกนนทบุรี 1 จอดรถได้ 565 คัน โดยในส่วนของอัตราค่าจอดรถผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า จะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง ราคา 10 บาท หรือจอดทั้งวัน 180 บาท
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น มีพื้นที่จอดรถ 12 แห่ง จอดรถได้รวม 4,000 คัน โดยเป็นอาคารจอดรถ 3 แห่ง และลานจอดรถ 10 แห่ง ประกอบด้วย อาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานีลาดพร้าว จอดรถได้ 2,200 คัน, ลานจอดรถสถานีรัชดาภิเษก จอดรถได้ 75 คัน, ลานจอดรถสถานีห้วยขวาง จอดรถได้ 73 คัน, ลานจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จอดรถได้ 30 คัน, อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จอดรถได้ 205 คัน, ลานจอดรถสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จอดรถได้ 106 คัน
ลานจอดรถสถานีพระราม 9 จอดรถได้ 50 คัน, ลานจอดรถสถานีเพชรบุรี จอดรถได้ 54 คัน, ลานจอดรถสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จอดรถได้ 79 คัน, ลานจอดรถฝั่งตรงข้ามศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จอดรถได้ 42 คัน, ลานจอดรถสถานีสามย่าน จอดรถได้ 31 คัน โดยในส่วนของอัตราค่าจอดรถผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า จะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง ราคา 15 บาท และอาคารจอดรถ สถานีหลักสอง จอดรถได้ 1,000 คัน มีอัตราค่าจอดรถผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า จะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง ราคา 10 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่บอกว่าจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
มองปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อสังคมวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นการนำเสนอข่าวใดๆ ที่คลาดเคลื่อน ผิดพลาด และไม่เป็นความจริง สร้างความสับสนต่อพี่น้องประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |