'กมธ.ศึกษา รธน.' ระดมสมอง สารพัดวิธีแก้ไขเพิ่มเติม กม.สูงสุด


เพิ่มเพื่อน    

       สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคณะ กมธ.ชุดนี้ก็ประชุมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป อยู่ในช่วงระดมความคิดว่าจะทำอะไรบ้าง อย่างไร ภายใต้กรอบเวลาการทำงานอันน้อยนิดเพียง 120 วัน

      โดยความคืบหน้าล่าสุด นอกจากตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานแล้ว ยังมีคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน

                นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะ กมธ.พูดคุยว่ามีประเด็นใดในรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไข ซึ่ง กมธ.ทั้งจากพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และประชาธิปัตย์เห็นพ้องต้องกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมค่อนข้างแก้ไขได้ยากลำบาก เนื่องจากต้องมีเสียงของ ส.ว.ร่วมด้วย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเสียงของ ส.ว.ก็คือฝ่ายรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ

                ฉะนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่จึงระบุว่า จะแก้รัฐธรรมนูญได้ก็อยู่ที่ความจริงใจของนายกรัฐมตรีว่าจะทำหรือไม่ ถ้าทำทุกอย่างจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

                อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนๆ มักใช้เสียงข้างมากในสภากระทำการหลายอย่างที่เป็นการลุแก่อำนาจ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงเขียนกันไว้ โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงยินยอมจากทุกฝ่ายทั้งจาก ส.ส.และ ส.ว.

      ทว่าจะให้กลับไปใช้กฎเกณฑ์เดิมก็กระไรอยู่ เพราะใช้เพียงแค่เสียงกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้ บัญญัติ  บรรทัดฐาน กมธ.เสนอเป็นตุ๊กตาว่า หากจะแก้กฎหมายสูงสุดของประเทศ การใช้เสียงเพียงครึ่งเดียวอาจน้อยไป รอบนี้อาจกำหนดใหม่เป็นการใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5 ของสองสภาจะดีกว่าหรือไม่

                ในขณะที่ กมธ.ส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้องการให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะติดที่ ส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือ

                โภคิน พลกุล จากพรรคเพื่อไทย มองข้ามช็อตและคิดหาทางออก โดยเสนอในที่ประชุมเหมือนกับการส่งสัญญาณกลายๆ ถึงการเปิดโต๊ะเจรจาถึงรัฐบาลและ ส.ว.ว่า ต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  ควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดจะเดินไปพร้อมกัน

                ที่สำคัญ "โภคิน" ยังยกตัวอย่างว่า สมมุติถ้ารัฐบาลนี้อยู่ครบ 4 ปี และมีการเลือกตั้งใหม่ ต้องเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชน คนจะมองแบบมีความหวัง คนที่ต่อว่ารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจก็จะสบายใจว่าถ้าครบ 4 ปี สืบทอดอำนาจแปลว่าจบ ทุกคนต้องเดินตามโรดแมปนี้ และรัฐประหารก็จะเกิดยาก เพราะคนทำทั้งประเทศ เพียงแต่การณรงค์ ส.ส.ร.ต้องเปิดและเสรีจริงๆ ไม่มีใครไปต่อว่าต่อขานได้ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

                “ส่วนของพวกเราก็สรุปเป็นประเด็นตามความคิดเห็น ทั้งหมดเพื่อสนับสนุนเอกสาร ไม่ใช่เราไปเสนอยกร่างเอง เพราะเราไม่ได้มีอำนาจยกร่างกฎหมาย และสุดท้ายเห็นด้วยกับคุณปิยบุตร ที่บอกว่า หัวใจแห่งความสำเร็จคือความร่วมมือกับทุกฝ่าย ถ้าเห็นว่าบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าตัน ทุกฝ่ายเราต้องหาทางออก ที่แน่ๆ ครบ 4 ปีมีแสงสว่าง เดินร่วมกัน ส.ว.ถ้าเป็นแบบที่คิด ก็คือมีอำนาจ 4 ปีเต็ม และ ส.ว.ใหม่ที่ ส.ส.ร.ร่างเป็น ส.ว.แต่งตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกก็เป็นไปตามนี้ ก็อยู่ที่บทเฉพาะกาล ว่าคนที่ร่างจะเขียนว่าอย่างไร สุดท้ายถ้าพวกเราร่วมมือกัน แสวงหาความร่วมมือจากรัฐบาล พรรคการเมือง และ ส.ว.ว่าเราเดินแบบนี้กันดีไหม”

                นอกจากนี้ นายโภคินยังขมวดปมทิ้งท้ายว่า ความขัดแย้งที่ดำรงมาและดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น จะจบลงได้ เพราะกติกาที่ทุกคนยอมรับร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง คิดว่าอันนี้คือการปลดล็อกทุกอย่างได้หมด

      และนี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ซึ่งฟังแล้วก็ดูดีและอาจเคลิ้มได้ แต่ก็มีเรื่องน่าคิดว่าบุคคลที่จะดำรงเป็น ส.ส.ร.จะถูกล็อกสเปก หรือมีใครล็อบบี้อีกหรือไม่

                หรือท้ายที่สุดแล้ว ปลายทางการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องจบด้วยการเสนอให้ย้อนกลับไปทำประชามติถามความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการให้แก้ไขหรือไม่

                ตามที่ สุทิน คลังแสง โฆษก กมธ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญควรวางเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความทันสมัย หรือทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเราจะต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ซึ่งการเป็นที่ยอมรับก็คือต้องผ่านการทำประชามติ จำนวน 2 รอบ คือรอบก่อนที่จะลงมือแก้ไขเนื้อหา และรอบหลังจากที่ทำเนื้อหาแล้วเสร็จ ซึ่งรอบก่อนแก้ไขเนื้อหาอาจมีประเด็นคำถามเพิ่มเติมด้วยก็ได้ว่าจะแก้ไขอย่างไรบ้าง

                หากในอนาคตเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ก็คงต้องเตรียมงบประมาณไว้ด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"