“ชวน” ส่งเรื่องเสียบบัตรแทนกันให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อเคาะเร็วทันใจแน่ เพราะได้รับผลกระทบเหมือนกัน “วิษณุ” ย้ำกรณี พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่เหมือนแก้รัฐธรรมนูญหรือเงินกู้ยุคยิ่งลักษณ์ โอ่มีทางออกพรึ่บ แม้โมฆะก็ไม่วิบัติแน่ “ไพบูลย์” มั่นใจเดินหน้าต่อได้ อ้างต้องให้ความเป็นธรรมเสียงส่วนใหญ่ “เพื่อไทย” พาเหรดขย่ม บีบศาลห้ามวินิจฉัยออกนอกลู่ เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว ขู่สังคมจับตา หากพลิกถือเป็น 2 มาตรฐาน
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ห้องรับคำร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจคำร้องแล้ว และคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนำคำร้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะตุลาการศาลภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
นายชวนยังกล่าวย้ำว่า การฝากให้คนอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทน แต่ตัวไม่อยู่ในห้องประชุม เป็นกรณีที่มีปัญหาแน่นอน แต่กรณีตัวอยู่ในที่ประชุมแล้วให้บุคคลอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทนต้องดูที่เจตนารมณ์และต้องตักเตือน แม้สถานที่จะไม่เอื้ออำนวย แต่ก็อยากให้หลีกเลี่ยงการเสียบบัตรแทนกัน และคาดว่าปัญหาจะน้อยลงเมื่อมีการใช้ห้องประชุมสุริยัน ซึ่งมีจำนวนที่นั่งและเครื่องลงมติเพียงพอกับจำนวนสมาชิก
นายชวนยังกล่าวถึงข้อเสนอให้สแกนม่านตาหรือลายนิ้วมือแทน ว่าต้องดูความเหมาะสมว่าเป็นการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองเกินจำเป็นหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละคน
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่ายังไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา ดังนั้นต้องรอให้ร้องเรียนเข้ามาก่อน จึงจะไต่สวนได้ แม้ ป.ป.ช.สามารถยกเหตุอันควรสงสัยเข้าไปไต่สวนเองได้ แต่ประเด็นนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น เบื้องต้นสำนักงาน ป.ป.ช.มีการเฝ้าติดตามข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏผ่านสื่ออยู่ตลอด จึงต้องรอข้อเท็จจริงปรากฏให้ครบถ้วนเสียก่อน
เมื่อถามว่าหากเทียบกับกรณีนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า คดีนายนริศรยังเหลือการไต่สวนในทางอาญาอยู่ แต่การเสียบบัตรแทนกันกรณีนายนริศรกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ไม่อาจเทียบกันได้ แม้จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน แต่ข้อเท็จจริงอาจต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องรอผลสรุปเบื้องต้นเสียก่อน จึงดำเนินการอะไรต่อไปได้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่าต้องรอ 2 อย่างคือ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภา และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องรอผลตรวจสอบของสภาก่อน ซึ่งบัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณี ได้แก่ แสดงตนและลงมติ ปัญหาคือ มีการแสดงตนและกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไปนั้น ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน จากนั้นเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ ถ้าตอนแสดงตนไม่มีการแสดงตนตอนลงมติก็จะไม่เกิด หากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ดังนั้นต้องให้เขาตรวจสอบ
เมื่อถามว่าบางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่าเจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่ฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอ นายวิษณุ กล่าวว่าเจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้ ได้เท่าไรก็เท่านั้น
ถามถึงข้อเสนอให้ใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาเสียบบัตรแทนกัน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่แน่ใจแม้ได้ยินเรื่องนี้ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว แต่ไม่ว่าผลสอบสภาออกมาอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จระหว่างนี้จะมีการลงมติอีกหลายครั้ง ต้องระมัดระวังไม่ให้ใครที่มีเจตนาร้าย หรือไม่ได้เจตนาร้ายแต่เลินเล่อ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ไม่ควรเกิดขึ้นต้องป้องกัน
เมื่อถามว่าได้หารือกับนายกฯ เกี่ยวกับทางออกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทางออกมันมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน เราจะได้รู้ว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไขเสีย ได้บอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าล่าช้านั้นเรื่องจริง วันนี้ความกังวลคือการล่าช้า แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้นมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ จึงย้ำว่าไม่วิบัติ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณได้เตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว พอดีพอร้ายเผลอๆ โครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจยาก ซึ่งขอให้รู้ก่อนว่าความผิดบกพร่องเกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ส่วนการออก พ.ร.ก.เงินกู้ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด นั่นเป็นทางสุดท้าย
ถามอีกว่า รัฐบาลมีทางออกอยู่แล้วใช่หรือไม่ แต่ไม่มั่นใจจึงประสานวิปรัฐบาลให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ มั่นใจแต่ไม่บอก ส่วนเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร่งด่วนนั้น ศาลรู้อยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนจะเร็วแค่ไหนนั้น ก็ไม่ควรเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น
วิษณุลั่นไม่เหมือนปี 56-57
รองนายกฯ ย้ำว่า กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 และ 2557 โดยความต่างยังมีอีกว่ากรณีปี 2556 เป็นกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปี 2557 เป็นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเสียไปเพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง วันนี้สังเกตหรือไม่ว่าใคร โดยเฉพาะฝ่ายค้านพูดถึงกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 พูดแต่ พ.ร.บ.กู้เงินปี 2557 โดยทั้ง 2 กรณีเป็นการเสียบบัตรแทนกันโดยคนคนเดียวกัน และตอนนั้นการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีกำหนดเวลา เมื่อเสียคือเสียไป แต่บังเอิญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนั้นในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะเขากลัวสภาแช่ไว้ แปรญัตติกันไปกันมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้น จึงเป็นความต่างอยู่ แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน
“พูดก็พูดนะ กฎหมายงบประมาณถ้าไม่ล็อกเรื่อง 105 วัน มันมีช่องทางคิดได้เหมือนกันว่าเอากลับไปโหวตใหม่ แต่เมื่อมีกำหนดเวลาเอาไว้ ก็เป็นช่องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยหน่อยว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ลองคิดเอาง่ายๆ 105 วัน ครบเมื่อต้นเดือน ม.ค. ผมไม่ได้สรุป แต่ชี้ให้เห็นว่ามีนัยที่ต่างจากสองเรื่องที่เคยเกิดขึ้น” นายวิษณุกล่าว และว่า หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่เสนอในวาระที่ 1 ทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตัดๆ ไปจะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะ กมธ.ทำล่าช้า
เมื่อถามว่า เพราะมีมาตรา 143 ใช่หรือไม่ จึงระบุว่าไม่ถึงขั้นวิบัติ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก และสมมุติว่าโมฆะหมดเลย ก็หาทางออกอื่น มีหลายทาง มันใหญ่กว่าช่องเยอะ ไม่ต้องรอด เดินสง่าผ่าเผย
“รับผิดชอบอย่างไร งบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ” นายวิษณุตอบข้อถามหาก พ.ร.บ.งบประมาณโมฆะ รัฐบาลต้องรับผิดชอบหรือไม่
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง รองหัวหน้าพรรค ปชป. ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ ว่าจะมีผลในแง่กฎหมาย แต่จะเกี่ยวกับรัฐบาลนั้นพูดยากในตอนนี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับเรื่องข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่ารัฐบาลจะล้ม เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากคนภายในรัฐบาลเอง ไม่ใช่ฝ่ายค้าน นายสาธิตตอบว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าด้วยเรื่องอะไรก็ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ว่าสถานะรัฐบาล นอกจากปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชน และความชอบธรรม
“การอยู่ได้ของรัฐบาลนั้น ไม่ได้อยู่ที่ศาลตัดสินอย่างเดียว แต่อยู่ที่การตัดสินของประชาชนและสถานการณ์ แต่ก็ไม่ควรไปต่อว่านายนิพิฏฐ์ แต่ที่สิ่งที่ต้องคิดกันต่อคือผู้ที่ไม่ลงคะแนนนั้นเป็นความผิด ซึ่งมั่นใจว่าคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ.ให้เข้าใจได้ แต่คนอื่นผมไม่รู้” นายสาธิตกล่าว
ไพบูลย์มั่นใจไม่โมฆะ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า สาระสำคัญของคำร้องทั้ง 2 ฉบับทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาลเองเสียบบัตรแทนกันนั้น ไม่ได้มีข้อความใดระบุว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่น่าที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องตกไปอย่างแน่นอน
“ผมมั่นใจ และเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรกับประเทศ เพราะเมื่อปี 2557 ผมเคยยื่นให้มีการตรวจสอบร่างงบประมาณสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มาแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้งบประมาณต้องตกไป และครั้งนั้นศาลใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 10 วัน ซึ่งตามกรอบสามารถพิจารณาได้ไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงเชื่อว่าการวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ศาลจะใช้เวลาพิจารณาไม่น่าจะเกิน 15 วัน” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงกรณีการเสียบบัตรแทนกัน ว่าเป็นเพียงคนส่วนน้อย และต้องให้ความเป็นธรรมกับเสียงส่วนใหญ่ ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ด้วย การกดบัตรแทนกันนั้นแม้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีเสียงเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงมติได้ หากวินิจฉัยให้ต้องตกไปก็ถือว่าไม่เป็นธรรมกับ ส.ส.ส่วนใหญ่ ส่วนคนที่เสียบบัตรก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการคือ 1.จำนวนช่องเสียบบัตรไม่เพียงพอกับจำนวนสมาชิก 2.เกิดจากการที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ สุ่มเสี่ยงแพ้มติหรืออาจเกิดเหตุสภาล่ม ทำให้วิปรัฐบาล ต้องกำชับให้ลงคะแนนโดยพร้อมเพรียงกัน และมีการคาดโทษกับผู้ขาดประชุม เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ ส.ส.บางคนที่ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ จึงมีการฝากบัตรกับเพื่อนสมาชิกด้วยกัน เพื่อใช้สิทธิ์กดบัตรแทน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขปัญหาได้ใน 2 ประเด็น คือ 1.เมื่อเปิดใช้ห้องประชุมสุริยันอย่างเป็นทางการ และ 2.กรณีรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ เป็นปัญหาทางการเมืองที่แก้ไขได้ยาก อาจมีเสียงเพิ่มเฉพาะกรณีมีงูเห่าลงคะแนนสนับสนุนเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาส่วนบุคคล ขึ้นอยู่ที่ความรับผิดชอบ และจิตสำนึกของแต่ละบุคคลมากกว่า ถ้า ส.ส.ทุกคนเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย และภาระหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้ว ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน” นายเทพไทกล่าว
พท.พาเหรดย้ำต้องผิด!
สำหรับความคิดเห็นของพรรคฝ่ายค้านนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า กรณีกดบัตรแทนกันสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่สำคัญ 2 ด้าน ทั้งด้านความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ และความเสียหายต่อบรรทัดฐานของการตีความกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสังคม ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าจับตามองว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายอย่างไร โดยการบิดเบือนหรือการตีความใดๆ ที่ต่างออกไปจากข้อสรุป และความเชื่อที่สังคมมีอยู่น่าจะทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมที่กำลังมีข้อกังขาอยู่ในปัจจุบัน
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวถึงความเห็นของนายวิษณุในเรื่องนี้ ว่าเป็นการให้ความเห็นที่ขาดหลักเกณฑ์ทางกฎหมายรองรับ เป็นการชี้นำ เพราะทุกครั้งที่นายวิษณุพูดการตัดสินขององค์กรอิสระมักออกมาในทิศทางเดียวกันกับที่นายวิษณุเคยให้ความเห็นไว้
“เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเดียวกัน ข้อกฎหมายเดียวกัน และในรัฐธรรมนูญกำหนดชัดว่าการกระทำของ ส.ส.พรรคจะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคมีความผิดเช่นเดียวกัน หากสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริง กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี เพราะกดบัตรแทนกัน ไม่ว่ากรณีไหนก็คือความผิดเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น” นายสมคิดกล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า สังคมจับตามอง เพราะกระทบกระบวนการเสนองบประมาณแล้ว เขายังดูว่าระบบรัฐสภาไทยและระบบประชาธิปไตยไทยเป็นไปตามกระบวนการหรือไม่ หากเรื่องนี้มีการให้ความเห็นทางกฎหมายที่ผิดเพี้ยนจากมาตรฐานที่เคยมีจะทำลายบรรทัดฐานทางการเมือง ถ้าไปถึงองค์กรอิสระที่พิจารณาเรื่องนี้ก็กระทบกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ทุกฝ่ายต้องทำให้เกิดความชัดเจนตรงไปตรงมา เพราะหากทำให้สังคมเห็นว่ามีการดำเนินการหลายมาตรฐาน จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ระบบรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรม
“นายวิษณุควรแสดงความเห็นให้น้อยลงจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากกว่า เพราะความเป็นทางกฎหมายของท่านในระยะหลัง บางทีเป็นการแสดงทัศนะส่วนตัวมากเกินไป ควรปล่อยให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ” นายภูมิธรรมกล่าว
ด้านนายโภคิน พลกุล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่เห็นว่าหากเป็นกรณีที่กระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ต้องตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนวคำวินิจฉัยเมื่อปี 2557 มาแล้ว และไม่สามารถนำมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ได้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการหัวใจไม่หยุดเต้น ว่าหลังจากนี้ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์คงระวังตัวกันแจ ยี่ห้อนายอนุทินและนายเนวิน ชิดชอบ คงไม่ปล่อยให้ใครเตะกินเปล่าง่ายๆ ซึ่งหลายคนบอกว่าถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเชื่อขนมกินได้ว่าไม่รอด ส่วนรัฐบาลชุดนี้ผลจะเป็นอย่างไรนั้น ถ้าฟังนายวิษณุยังไงก็รอด กฎหมายมีอภินิหาร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |