กระทรวง พม./ เผยผลสำรวจพบคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,719 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง อยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด ขณะเดียวกันพบว่าคนไร้บ้านมีอายุคาดเฉลี่ยเสียชีวิตที่ 60 ปี ต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยคนไทยทั่วไปที่ 75 ปี กระทรวง พม.และภาคีเครือข่ายจัด ‘เวทีเสวนาสาธารณะผลการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติการและนโยบาย’ นำข้อมูลการจากสำรวจมาแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นายกสมาคมคนไร้บ้านเสนอให้รัฐสนับสนุนการสร้างบ้านกลางในชุมชนทั่วประเทศเพื่อให้คนตกงาน คนป่วยติดเตียง ไม่มีค่าเงินจ่ายเช่าบ้านได้มีที่อยู่อาศัย ไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
วันนี้ (24 มกราคม) ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพฯ มีการจัด ‘เวทีเสวนาสาธารณะผลการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติการและนโยบาย’ ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยมีนายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. เป็นประธาน มีผู้บริหารหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. สมาคมคนไร้บ้าน เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหมดประมาณ 120 คน
นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี แต่ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านที่ยังใช้ชีวิตเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะในจังหวัดต่างๆ กระทรวง พม.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลกลุ่มคนไร้บ้านในปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้านในทุกมิติ เช่น การคุ้มครองสิทธิ การฟื้นฟู และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน
นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า กระบวนการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับภาคีและหน่วยงานต่างๆ ในเดือนเมษายน 2562 หลังจากนั้นจึงมีการลงนามร่วมกันของ 9 หน่วยงานเพื่อร่วมกันสำรวจข้อมูล คือ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 3.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 5.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6. สมาคมคนไร้บ้าน 7.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 8.เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ 9. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
การดำเนินการสำรวจแจงนับคนไร้บ้าน เริ่มต้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 โดยเก็บข้อมูลในเขตเทศบาลขนาดเล็กและขนาดกลางในแต่ละจังหวัด รวมทั้งหมด 124 อำเภอ 77 จังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเส้นทางรถไฟผ่าน เพราะคนไร้บ้านมักจะใช้รถไฟในการเดินทาง โดยใช้ผู้เก็บข้อมูลจำนวนมากกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรและหน่วยงานระดับพื้นที่ในการร่วมสำรวจแจงนับ จำนวน 86 องค์กร/หน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถื่น และภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค สำนักงานโครงการบ้านมั่นคง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ จ.นครสวรรค์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัยสุราษฎร์ธานี เครือข่ายพัฒนาสิทธิชุมชนภาคใต้ กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน ขอนแก่น, เครือข่ายครูข้างถนน จ.อุดรธานี ฯลฯ
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน แผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้าน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสำรวจแจงนับคนไร้บ้านครั้งนี้ ใช้วิธีการแจงนับ (counting) ในแต่ละพื้นที่ในคืนเดียว หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า “One Night Count” (ONC) หรือ “The Point-in-Time” (PIT) ซึ่งเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงในการนับซ้ำคนไร้บ้านในแต่เมือง ผ่านการกำหนดเส้นทางการสำรวจแจงนับของแต่ละทีมที่มีความชัดเจนและไม่ทับซ้อน และดำเนินการแจงนับในช่วงเวลากลางคืนอันเป็นช่วงที่คนไร้บ้านมีการเคลื่อนย้ายต่ำและปรากฎให้เห็นได้ชัดในพื้นที่สาธารณะหรือในศูนย์พักที่คนไร้บ้านพักพิง วิธีการแจงนับดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้ในการแจงนับคนไร้บ้านในหลายเมืองของโลก อาทิ ซาสฟราซิสโก ชิคาโก ซีแอตเติล และปารีส
“การสำรวจแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศในครั้งนี้ พบคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดของทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ (บ้านอิ่มใจ กรุงเทพมหานคร) จำนวนทั้งสิ้น 2,719 คน จำแนกเป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี) และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ร้อยละ 18 ในประเด็นของการอยู่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นการอยู่ตัวคนเดียว ประมาณร้อยละ 52” นายอนรรฆเผยผลสำรวจ
ผลจากการสำรวจในครั้งนี้ได้นำมาวิเคราะห์และพบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น 1.การกระจายตัวของคนไร้บ้านในแต่ละจังหวัด พบว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด (ประมาณร้อยละ 38)
รองลงมา คือ นครราชสีมา (ร้อยละ 5) เชียงใหม่ (ร้อยละ 4) สงขลา (ร้อยละ 4) ชลบุรี (ร้อยละ 3) และขอนแก่น (ร้อยละ 3) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่าการแจงนับในครั้งนี้ พบคนไร้บ้านในพื้นที่ของทุกจังหวัด นอกจากนี้การแจงนับยังพบว่ามีคนไร้บ้านที่มีความพิการที่เห็นได้ชัด ประมาณร้อยละ 4 และมีปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัด ประมาณร้อยละ 7.60
2.คนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนการอยู่คนเดียว (ร้อยละ 60) มากกว่าคนไร้บ้านกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีที่พึ่งพิงในภาวะหรือช่วงวัยที่ต้องการพึ่งพิง ในทางเดียวกัน มีความเป็นไปได้ว่าการไร้บ้านของผู้สูงอายุหรือผู้สูงอายุไร้บ้านอาจมีลักษณะของการไร้บ้านแบบตัวคนเดียว (ซึ่งต้องมีการศึกษาต่อไปในอนาคต)
3.คนไร้บ้านเพศหญิงส่วนใหญ่จะมีลักษณะการอยู่เป็นครอบครัวหรืออยู่รวมกับคนไร้บ้านคนอื่นมากกว่าคนไร้บ้านเพศชาย ส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการต้องการความปกป้องหรือพึ่งพิง นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจประชากรคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครของ สสส. เมื่อปี 2558 ยังพบข้อมูลที่สอดคล้องกัน รวมถึงสัดส่วนคนไร้บ้านในศูนย์พักคนไร้บ้านแบบเปิดของภาคประชาสังคมและบ้านอิ่มใจ (ศูนย์พักของ กทม.) ที่จะมีสัดส่วนของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
“จำนวนคนไร้บ้าน การผันแปร ความเหลื่อมล้ำ และการเสียชีวิตของคนไร้บ้าน การแจงนับของคนไร้บ้านได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะไร้บ้านเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตของคนไร้บ้านแต่ละคน ในทางเดียวกัน ประเด็นคนไร้บ้านอาจมิใช่ปัญหาในตนเอง หากแต่ประเด็นคนไร้บ้านสะท้อนให้เห็นหรือเป็นผลลัพธ์ของปัญหาทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความยากจน หลักประกันทางสังคมที่ไม่เพียงพอ และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นเงื่อนไขให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน” นายอนรรฆกล่าวสรุป
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาของชญานิศวร์ โคโนะ ชี้ให้เห็นว่าอายุเฉลี่ยหรืออายุคาดเฉลี่ยอันเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่สำคัญของคนไร้บ้านอยู่ต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรทั่วไปในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และในประเทศไทย คนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตประมาณ 60 ปี ต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยที่อยู่ที่ 75 ปีถึงประมาณ 15 ปี และต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ที่ 71 ปี
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี โรงงานปิด คนจะตกงานมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ชุมชนต่างๆ ที่มีโครงการบ้านมั่นคงสร้างบ้านกลางขึ้นมา เพื่อให้คนที่ไม่เงินค่าเช่าบ้าน คนตกงานได้เข้าไปอยู่อาศัย โดยหน่วยงานรัฐเข้าไปสนับสนุน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากนี้ยังมีปัญหากลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง แต่ครอบครัวต้องมีภาระในการดูแล และต้องทำงานเลี้ยงชีพ จึงไม่มีเวลาที่จะดูแลผู้สูงอายุ จึงนำผู้สูงอายุมาไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน หรือบางทีโรงพยาบาลก็เอาผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงมาไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน ทำให้ศูนย์มีภาระแต่ก็ต้องรับเอาไว้เพื่อมนุษยธรรม
“ดังนั้นจึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดูแลครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง เพื่อไม่ให้ครอบครัวเป็นภาระ และปล่อยให้ผู้สูงอายุกลายเป็นคนไร้บ้าน รวมทั้งอยากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนเรื่องการสร้างบ้านกลางเพื่อรองรับคนที่ตกงาน คนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีค่าเช่าบ้าน เพื่อไม่ให้กลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ก็อยากให้มีแต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอย่างจริงจังต่อไป” นายกสมาคมคนไร้บ้านเสนอทางออก
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.สนับสนุนให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคง ส่วนกลุ่มคนไร้บ้าน รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีศูนย์คนไร้บ้านนั้น หากจังหวัดใดมีคนไร้บ้านจำนวนมาก ก็อาจจะสำรวจข้อมูลเพื่อขอใช้สถานที่ที่เป็นอาคารรกร้างของรัฐนำมาให้คนไร้บ้านได้ใช้ประโยชน์ โดยการประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือของหลายฝ่าย เช่น อบจ. โรงพยาบาล อสม. ฯลฯ เพื่อเป็นการเริ่มต้นหรือการนำร่องก่อนที่จะดำเนินการต่อไป
การจัด ‘เวทีเสวนาสาธารณะผลการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติการและนโยบาย’ เป็นการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวง พม. โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจำนวน 3 แห่ง (เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี) งบประมาณรวม 118 ล้านบาทเศษ ขณะนี้เปิดดำเนินการแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ และขอนแก่น ส่วนที่จังหวัดปทุมธานีอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจำนวน 698 ราย
ศูนย์คนไร้บ้านที่ จ.ขอนแก่น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |