“ประสาร” เผยกองทุนเสมอภาคฯจะเป็นจุดเริ่มต้นปฏิรูปประเทศ เผยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเกือบทุกพื้นที่ มีเด็ก4.3ล้านคนยากไร้จริง 2ล้านคน ครอบครัวมีรายได้แค่เดือนละ 3พันบาท ได้งบฯช่วยเหลือแค่วันละ 5บาท ลั่นหากไม่ได้รับสนับสนุนทรัพยากร และความเป็นอิสระจัดการ ก็จะเป็นแค่กลไกแบบเดิมๆ ด้าน “สมพงษ์” เผยกองทุนฯ นี้จะเป็นสตาร์ทอัพปฏิรูปประเทศ คานงัดการใช้งบฯศึกษา 5แสนล้าน มูลนิธิศูนย์วิจัยเป็นธรรมสุขภาพ ชี้จะทำให้เด็กได้รับประโยชน์ 270บาท/คน/เดือน จากเดิมแค่เดือนละ150บาท/คน/เดือน
ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - คณะกรรมการการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬา องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพมหานคร และองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ร่วมกันการจัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.... พบประสบการณ์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จในระดับนานาชาติ และบทเรียนสำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในการปฏิรูปประเทศเรื่องที่มีความท้าทายมากที่สุด คือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา และยังกำหนดให้มีกองทุนฯ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน สนช. และคาดว่าน่าจะเสร็จทันต้นเดือนเมษายน และการที่คณะกรรมการอิสระฯ ใช้คำว่าความเสมอภาคการศึกษาเป็นชื่อของกองทุน เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นความสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจาก การศึกษาเป็นปัจจัยรากฐานสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศเรา ในปัจจุบันแม้ว่าเราใช้งบการศึกษาถึง 5 แสนล้านบาท และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงพบเห็นได้เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย และบางพื้นที่มีแนวโน้มที่จะแย่ลง อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทย มีเด็กที่หลุดออกหรืออยู่นอกระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนมากกว่า 670,000 คน โดยการจากที่คณะกรรมการอิสระฯ ได้ลงพื้นที่หาสาเหตุของปัญหา ก็พบว่า เด็กจำนวนมากเข้าเรียนช้า หรือไม่ได้เรียนต่อ เพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังทรัพย์ เด็กบางคนขาดเรียนบ่อย เนื่องจากไม่มีค่ารถ ไม่มีเครื่องแบบชุดพละ ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาสชีวิตที่น่าเสียดาย ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประเมินว่า เด็กเหล่านี้ถือเป็นเด็กที่มีศักยภาพแต่เจ้าไม่ถึงโอกาส ทำให้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี
นายประสาร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีเด็กยากจนที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 3 พันบาทต่อเดือน มากกว่า 2 ล้านคน และการจัดสรรงบประมาณให้กับเด็กกลุ่มนี้มีเพียง 3 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 5 บาท และคงที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 7 ปี ดังนั้นคณะกรรมการอิสระฯ จึงได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน ได้แก่ เด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจน เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบการศึกษา นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในระบบการศึกษา เยาวชนและประชาชนที่ยากจนและต้องการการพัฒนาศักยภาพ ครูและสถานศึกษาผู้ดูแลเด็กเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายของกองทุน โดยมีหลักการจัดการงบประมาณแบบใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4 ข้อคือ 1.ความคุ้มค่าแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย 2.จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ลงทุนอย่างฉลาดและโปร่งใส โดยใช้ข้อมูล นวัตกรรมใหม่ๆ ในการคัดกรองเด็กยากจนโดยติดตามพัฒนาการนักเรียนรายบุคคล และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าตรวจสอบการเงินที่เข้าบัญชีเพื่อป้องกันการทุจริต และ 4.ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ
“ผมหวังว่ากลไกของกองทุนฯ จะทำให้ตัวเลขกลุ่มเป้าหมาย 4.3 ล้านคนลดลง และผมเชื่อว่าการดำเนินการของกองทุนฯ ยากที่จะประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากร รวมทั้งความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งหากไม่มีสองสิ่งนี้กองทุนฯ ใหม่ที่จะตั้งขึ้นก็อาจจะเป็นเพียง กลไกแบบเดิมๆ ที่จะให้ผลลัพท์ไม่ต่างจากที่เป็นมา และการจัดตั้งกองทุนฯ นี้ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะประกันว่าการปฏิรูปการศึกษาที่มีความซับซ้อนจะประสบความสำเร็จได้ในเร็ววัน การปฏิรูปปัญหาที่เป็นการสะสมมานานจำเป็นต้องใช้เวลา อีกทั้งความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความร่วมมือและความเข้าใจจากผู้เกี่ยวข้อง“กรรมการคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว
ด้านายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า เด็กไทยอายุ 15 ปี ร้อยละ 50 อ่านหนังสือและตีความไม่ได้ ร้อยละ 53 ใช้คณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานไม่ได้ ร้อยละ 47 ไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเราจะเป็นประเทศไทย 4.0 ได้อย่างไร ดังนั้นรัฐบาลจะใจเย็นไม่ได้ต้องเองจริงเอาจัง กับกองทุนฯ นี้ ซีงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของเด็กด้อยโอกาส และยังเป็นการตอบโจทย์ประเทศอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เลื่อนลอย พูดอย่างสวยหวาน แต่พอจะลงไปแก้ปัญหากับไม่มีทรัพยากร และหากรัฐบาลไม่สนับสนุนกองทุนฯ นี้อย่างเต็มที่ ก็คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูป เพราะทรัพยากรมนุษย์ถ้าไม่ได้รับการพัฒนาจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในทุกด้านอย่างแน่นอน ดังนั้นกองทุนฯ นี้ จะต้องเป็นสตาร์ทอัพของการปฏิรูปประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง และจะต้องเป็นคานงัดการศึกษา ร้อยละ 5 นี้ จะต้องเป็นคานงัดงบประมาณการศึกษาทั้ง ร้อยละ 95 ที่ใช้แบบไม่ค่อยมีประสิทธิภาพให้กลับมาทบทวน
“ผมว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ นี้ เพราะผมเคยเป็นเด็กยากจนมาก่อน ได้ดิบได้ดีได้รับการศึกษา ก็เพราะทุน ดังนั้นเรื่องของกองทุนฯ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และรัฐบาลจะต้องทำอย่างจริงจัง”นายสมพงษ์ กล่าว
ด้านนพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวว่า จากการศึกษาต้นทุนต่อหัวของเด็กยากจนและเด็กในพื้นที่ห่างไกลพบความซับซ้อนของปัญหา ทำให้การจัดชุดสวัสดิการสิทธิประโยชน์มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ตรงและตอบสนองกับปัญหาของเด็กแต่ละคน อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือพื้นฐานของเด็กแต่ละกลุ่มนำมาสู่การคำนวณงบประมาณพื้นฐาน สำหรับกองทุนฯคือ การจัดการเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายปีละ 3.65 ล้านคน และแต่ละคนมีเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างหลากหลายตามสภาพปัญหาและเงื่อนไขของการรับเงินอุดหนุน งบประมาณสมทบในการบริหารจัดการจึงอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 5 ของงบการศึกษา เพื่อเป็นต้นทุนการจัดการประมาณ 270 บาท/เดือนต่อเด็ก1คน ซึ่งต้นทุนนี้ครอบคลุมการบริหารจัดการและการวิจัย เพื่อเสนอแนะกองทุนฯ ในการจัดตั้ง ดำเนินการ และประเมินผล
ด้านนายฮิวจ์ เดอลานีย์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทางยูนิเซฟ ยินดีกับรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกำหนดในรัฐธรรมนูญ และออกเป็นกฎหมายการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเด็กกลุ่มยากจน เพราะการศึกษา คือ การลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการศึกษา ซึ่งพบว่าในบางจังหวัดของไทย มีเด็กที่เป็นผู้อพยพที่ไม่ได้เรียนหนังสือถึง ร้อยละ 40 ทั้งนี้การทำงานของกองทุนต้องมีระบบฐานข้อมูลและใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ใช่ระบบทดแทนภาครัฐที่มีอยู่เดิม เช่น เงินอุดหนุนเด็กยากจนของกระทรวงศึกษา กองทุนสามารถให้อุดหนุนเพิ่มเติมตั้งแต่เด็กปฐมวัย และกองทุนต้องรู้จำนวนเงินที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการวางแผนระยะยาวได้
-------------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |