"ชวน" ส่งศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.งบฯ 63 เชื่อไม่นานรู้ผล ยันเสียบบัตรแทนกันไม่ได้ทุกกรณี กรีดอยู่ที่จิตสำนึกของส.ส. พปชร.ปัดเสียบบัตรแทน แค่ช่วยลงคะแนนให้เพื่อน อ้างภาพในคลิปเป็นอุบัติเหตุ สภาล้อมคอกชงติดวงจรปิด-สแกนลายนิ้วมือ "บิ๊กตู่" ถอนหายใจ ห่วงงบล่าช้ากระทบลงทุนทำ ศก.ชะงัก พท.กระทุ้งเสียงหายเหลือ 249 ถือว่าผ่านสภาหรือไม่ บี้นายกฯ ลาออก
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกรณีที่มีการเผยแพร่คลิป ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่าสภาต้องตรวจสอบทุกกรณี ไม่เช่นนั้นจะไม่ยุติธรรม และไม่ว่าจะเสียบบัตรแทนกันในกรณีใดก็ทำไม่ได้ แม้เครื่องลงคะแนนในห้องประชุมมีไม่เพียงพอ ส.ส.ไม่สามารถฝากบัตรเสียบแทนกันได้ ซึ่งโดยทั่วไป ส.ส.เขาจะไม่ยุ่งกับบัตรของคนอื่น
ส่วนคำร้องที่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขั้นตอนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายชวนกล่าวว่า คาดว่าฝ่ายเลขาธิการสภาฯ จะตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดแล้วเสร็จ จะส่งกลับมาที่ตนเพื่อทำเรื่องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันนี้ เพราะต้องรีบ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถวินิจฉัยอะไรแทนศาลรัฐธรรมนูญได้ คงต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด เชื่อว่าไม่นานคงจะรู้ผล เพราะศาลทราบดีว่าจะต้องรีบพิจารณาเรื่องนี้
เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 เป็นโมฆะจริง จะมีทางออกอย่างไร นายชวนกล่าวว่า ตามปกติถ้างบประมาณปีใหม่ยังไม่เริ่มใช้ ให้ใช้งบประมาณเดิมไปก่อน ดังนั้นเงินเดือนของข้าราชการก็เป็นไปตามปกติ เพียงแต่โครงการพัฒนาต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาเสียบบัตรแทนกันในอนาคตนั้น คิดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับทุกพรรคการเมืองและทุกคน แต่เชื่อว่าพรรคการเมืองไม่มีใครเจตนาให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น แต่เกิดขึ้นเพราะมีสมาชิกบางคนไม่ระวัง ทั้งที่ย้ำไปแล้วว่าวันเด็กนั้น ส.ส.ไปร่วมกิจกรรมไม่ได้เพราะติดภารกิจพิจารณางบประมาณ
“ต้องยอมรับว่าสภาแห่งนี้ยังไม่พร้อมสำหรับการประชุม ส.ส. เนื่องจากที่นั่งยังไม่มีที่นั่งประจำของตัวเอง เพราะยังต้องยืมห้องประชุมจันทราของวุฒิสภาใช้ และหาก ส.ส.มีที่นั่งประจำก็จะทราบว่าใครลงคะแนนอย่างไร เพราะเป็นเครื่องประจำเหมือนกับห้องประชุมวุฒิสภาตอนนี้ก็รู้ว่าใครนั่งตรงไหน แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล” นายชวนระบุ
ต่อมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวนทำหน้าที่ประธานการประชุม นายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้หารือต่อที่ประชุมสภาฯ ขอให้ได้เร่งแก้ไขปัญหาการใช้บัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.ว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะเฉพาะหน้า ปัจจุบันมีโปรแกรมแสดงผลการลงคะแนนที่จะแสดงชื่อและตำแหน่งของที่นั่งของ ส.ส. แต่ข้อเสียของระบบนี้ คือไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ดังนั้น ควรมีโปรแกรมบันทึกการลงคะแนน เพื่อที่เวลามีปัญหาจะนำมาตรวจสอบ 2.ระยะกลาง เมื่อย้ายการประชุมสภาฯ ไปห้องประชุมแห่งใหม่หรือห้องพระสุริยัน ควรติดกล้องวงจรปิด และ 3.ระยะยาว ในปี 2564 ควรมีระบบยืนยันตัวตนร่วม เช่น การพิมพ์ลายนิ้วมือ
โดยนายชวนกล่าวว่า ขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็น และจะหาโอกาสหารือกับนายไกลก้อง
เสียบบัตรแทนผิดแน่ๆ
จากนั้นเวลา 11.30 น. ในระหว่างที่ประชุมสภาเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว ในช่วงการลงมติรายมาตรา วาระ 2 ในมาตรา 3 ของร่างประมวลจริยธรรมฯ ส.ส.หลายคนได้พากันซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียบบัตรลงคะแนนที่กำลังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้
อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย สอบถามว่า หากเป็นกรณีที่มีบัตรเสียบคาไว้ในเครื่องลงคะแนนอยู่แล้ว มี ส.ส.ไปดึงบัตรดังกล่าวออก แล้วไปเสียบบัตรลงคะแนนของตัวเองเข้าไปแทน บังเอิญถูกกล้องจับภาพไว้ได้ จะถูกกล่าวหาว่าเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันหรือไม่ นายชวนจึงชี้แจงว่า ต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก
จากนั้น ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ซักถามว่า ถ้าสมมติว่า ส.ส.นั่งกันอยู่ 3 คนในพื้นที่ แต่อีกคนเอื้อมไปเสียบบัตรลงคะแนนไม่ถึง แล้วให้ตนไปกดลงคะแนนแทนให้ ถือว่าจะผิดหรือไม่ นายชวนตอบด้วยน้ำเสียงขึงขังทันทีว่า “ผิดแน่ๆครับ” ทำให้ ส.ส.หลายคนต่างอึ้งเมื่อได้ยินคำตอบ แล้วหันหน้าไปมองกันเลิ่กลั่ก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการลงมติเป็นรายข้อของร่างข้อบังคับประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.หลายคนที่เข้ามาลงคะแนนไม่ทัน ใช้วิธีขานชื่อในการแสดงมติ เพราะไม่กล้าให้เพื่อนเสียบบัตรให้ จนกระทั่งพิจารณาลงมติวาระ 2 เสร็จสิ้นครบทุกข้อแล้ว ที่ประชุมจึงลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าว
ทางด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมด้วย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่ปรากฏภาพข่าวในสื่อมวลชนว่าได้กดบัตรลงคะแทน ส.ส.คนอื่นในระหว่างที่ประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ร่วมกันแถลงข่าว
โดยนายชัยวุฒิกล่าวว่า ในวิปรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไม่มีแนวทางให้ ส.ส.กดบัตรลงคะแนนแทนกัน ถ้าใครไม่มาจะไม่มีการลงคะแนนแทนกัน อย่างไรก็ตาม มีปัญหาในเรื่องของสถานที่ประชุม เนื่องจากช่องลงคะแนนของพรรคมี 68 ช่อง แต่พรรคมี ส.ส. 117 คน ในหนึ่งช่องย่อมมีการเสียบสองสามใบเป็นปกติอยู่แล้ว ส.ส.จะลงมาเสียบกันเอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุ
ภาพในคลิปแค่อุบัติเหตุ
"ไม่มีการเสียบแทนกัน แต่เพียงครั้งเดียว ถ้าไม่ได้เข้าไปนั่งด้วยตัวเองจะไม่มีทางรู้เลยว่าการกดมันยากจริงๆ เป็นอุบัติเหตุ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายเป็นเรื่องของการตีความ เราไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลงคะแนนแทนกัน แต่เป็นการช่วยกันลงคะแนน" นายชัยวุฒิระบุ
น.ส.ภริมกล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ตนได้ลงคะแนนไปแล้ว ปรากฏว่านายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในห้องประชุมได้นำบัตรของตัวเองมาให้ตนกดลงคะแนน เพราะไม่สามารถเข้าไปที่นั่งเพื่อกดบัตรคะแนนด้วยตัวเองได้ ซึ่งยืนยันได้ว่าการลงคะแนนได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายทวิรัฐ โดยไม่ได้ลงคะแนนไปตามเจตนารมณ์ของตนเองแต่อย่างใด
ต่อมา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ แถลงในประเด็นเดียวกันว่า ขอเรียกร้องให้ประธานสภาฯเปลี่ยนระบบการลงคะแนนด้วยการใช้บัตรมาเป็นการแสดงอัตลักษณ์ควบคู่ไปด้วย เช่น การสแกนม่านตาและลายนิ้วมือ ซึ่งคิดว่ายังน่าจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ เนื่องจากอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
"สภาของเรามีช่องกดบัตรจำนวนน้อยมีเพียง 300 ช่อง แต่มี ส.ส. 500 คน ทำให้ต้องมีการดึงบัตรออกและเสียบบัตรเข้าไปใหม่ โดยกรณีที่เจ้าตัวอยู่ในห้องแล้วให้คนอื่นเสียบแทน เช่นนี้ยอมรับได้เพราะตัวยังอยู่ แต่หากตัวไม่อยู่ย่อมผิดแน่นอน พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะช่องการลงคะแนนไม่พอจริงๆ" น.ส.รังสิมาระบุ
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ก่อนหน้านี้รัฐสภาถูกออกแบบสำหรับแก้ไขปัญหาการกดบัตรแทนกัน โดยตั้งใจจะใช้เครื่องลงคะแนนแบบสแกนลายนิ้วมือแทนการเสียบบัตรแบบเดิม แต่ปรากฏว่าในปี 2560-2561 รัฐบาลกลับตัดลดงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากที่เสนอขอไป 8,000 ล้านบาท เหลือเพียง 3,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณจัดซื้อเครื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขณะนี้ พบว่าเกิดขึ้นใน 3 กรณีคือ มี ส.ส.บางคนเสียบบัตรค้างไว้และมีคนมากดลงมติแทน 2.มี ส.ส.บางคนเบิกบัตรสำรองไปให้คนอื่นมาเสียบบัตรลงมติแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และ 3.มีการเสียบบัตรแทน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนไม่เพียงพอ ซึ่งกรณีนี้เกิดจากปัจจุบัน ส.ส.ใช้ห้องประชุมของ ส.ว.ทำให้เครื่องลงคะแนนของสมาชิก มีเพียง 318 เครื่อง ขณะที่ปัจจุบันมี ส.ส.ทั้งหมด 498 คน ซึ่งเท่ากับขาดไป 180 เครื่อง ทำให้ ส.ส.ต้องใช้เครื่องในการลงคะแนนซ้ำกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีโดยตลอด แต่ต้องดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าจะมาถามตนวันนี้ คือจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องไปดูและหารือกับกระทรวงการคลัง และคุยกับสำนักงบประมาณว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ ต้องหารือกันอีกครั้งว่าเราจะแก้ไขในส่วนของการบริหารราชการอย่างไร ในส่วนของงบบุคลากร คงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท หากทำไม่ได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราไม่ดีขึ้นมากนัก ต้องหามาตรการอื่นเข้ามาเสริมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีเงินลงไป เดือดร้อนกันทั้งหมด แต่ตนเคารพในกติกาในกฎหมายทุกฉบับ เรื่องนี้ขอให้ติดตามกันต่อไป
เมื่อถามว่า คาดว่างบประมาณ 2563 จะล่าช้าไปถึงเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณานานหรือไม่ ซึ่งปกติเรื่องแบบนี้ก็นานพอสมควร นานเป็นเดือน ก็ทำให้ล่าช้า งบประมาณก็มีปัญหา สมมติว่าการใช้จ่ายงบประมาณล่าช้าไปอีก 3 เดือน จะใช้ทันหรือเปล่าสำหรับเวลาที่เหลือ
เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกเป็นพระราชกำหนดการกู้เงิน นายกฯ กล่าวปฏิเสธทันทีว่า ไม่สมควร ได้ปรึกษากันแล้วสำหรับเวลานี้
ห่วงงบช้ากระทบเศรษฐกิจ
สำหรับแผนสำรองรับมือนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พูดไปแล้วว่าต้องทำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประชุมในเรื่องของงบประมาณฯ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องเลื่อนออกไป เราจะทำตรงไหนได้บ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ ในส่วนที่สามารถใช้ได้ไปพลางๆ ก่อน จะทำอย่างไร ปัญหาวันนี้ที่ติดอยู่เรื่องเดียวคือปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของงบการลงทุน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการมองไปถึงความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองออกมาเปิดเผยข้อมูล จนทำให้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมาถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่รู้ จะพรรคไหน พรรคไหน ผมไม่รู้” ก่อนที่จะถอนหายใจ เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ปัญหาวันนี้เป็นเรื่องของ ส.ส.ขุดคุ้ยกันเอง นายกฯ ถึงกับถอนหายใจอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า “ก็ต้องไปถามคนฟ้องดู อย่ามาถามผม ผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย สรุปก็คือว่า ไม่ควรไปกระทำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ก็ไม่ควรจะกระทำ ถ้ารู้ว่ามันผิดกติกาของสภา เอาอย่างงี้ ผมก็ตอบแบบนี้ก็แล้วกัน”
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์กันในโซเชียลว่านายวิษณุบอกว่าการเสียบบัตรเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นอะไรนั้นว่า ยืนยันว่าไม่เคยพูด แต่ตรงกันข้ามได้ระบุว่าเรื่องดังกล่าวให้แยกออกเป็น 2 เรื่องคือ การเสียบบัตรแทนกันหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องผลของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น จะเกิดอะไรขึ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกรณีการเสียบบัตร ไม่ว่าเสียบแทนกันหรือไม่แทนกันนั้น เป็นการเสียหายร้ายแรง และมีความผิด มีโทษด้วย
ส่วนที่บอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ที่ใช้คำว่าไม่ถึงขั้นวิบัตินั้น เป็นเรื่องของผลร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งเมื่อกระบวนการไม่ถูก การจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมีสองอย่าง คือ 1. เนื้อหา และ 2.กระบวนการ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องกระบวนการ เพราะฉะนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงดีที่สุดว่ากระบวนการอย่างนี้ชอบหรือมิชอบ ถ้าไม่ชอบแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร นั่นคือผลจะเป็นอย่างไร ส่วนคำว่าไม่ชอบก็จะค้างอยู่เท่านั้นว่าจะเกิดอะไร สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 และ 2557 ข้อเท็จจริงในตอนนั้นมีอย่างหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เรายังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ และไม่ได้บอกว่าเป็นข้อเท็จจริงคนละอย่างกัน
"ผมยืนยันว่าประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกันมีความผิด มีโทษร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อภาพพจน์และสภาด้วย แต่ผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น ไม่น่าจะร้ายแรงแต่อย่างใด ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด ทั้ง 1.ตกทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมตินั้น และ 3.เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ตรงนี้ก็สุดแท้แต่ หรืออาจจะมีข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ซึ่งผมก็ไม่ทราบ แต่ก็ไม่ควรพูดชี้นำ” นายวิษณุกล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายที่แปลกกว่ากฎหมายอื่น จึงได้เกิดมาตรา 143 (รัฐธรรมนูญ) ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษต่างหาก จึงยังไม่รู้ชัดว่าจะนำมาตรา 143 มาใช้ได้อย่างไร ซึ่งได้เห็นคำร้องของ ส.ส. ที่ยื่นผ่านประธานสภาฯ ถึงศาลรัฐธรรมนูญ โยงถึงมาตรา 143 ด้วยก็ดี เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยในส่วนนี้ไปด้วย
เมื่อถามว่า แสดงว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่มีทางที่จะไม่ผ่านใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่พูดเช่นนั้น แต่บอกว่าไม่ทำให้เกิดวิกฤติ วิบัติ เสียหาย อย่างที่ไปตีข่าวว่าแย่แล้ว ไม่ใช่ถึงขั้นอย่างนั้น เพราะมีทางแก้ไข อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีแน่ๆ คือยืดเยื้อและใช้เวลา ตามที่เคยคาดว่างบประมาณจะออกได้ต้นหรือกลางเดือน ก.พ. ก็ไม่เป็นเช่นนั้น
พปชร.นัดถกล้อมคอก
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ปรากฏภาพ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเสียบบัตรแทนกันว่า มีการประชุมพรรคทุกวันอังคารอยู่แล้ว ฉะนั้นจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ ส่วนจะต้องมีการกำหนดบทลงโทษหรือไม่นั้น ยังไม่ถึงอย่างนั้น ขอให้มีความชัดเจนก่อนว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร สำหรับมาตรการป้องกันจะมีการหารือกันในวันที่ 24 ม.ค.
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือหรือไม่ ว่าหากงบประมาณออกมาล่าช้าจะทำอย่างไร นายอุตตมกล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมการไว้แล้ว ส่วนจะออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่นั้น ต้องขอดูก่อน เพราะต้องดูฝ่ายกฎหมายด้วย กระทรวงการคลังเป็นเรื่องของเงินที่จะต้องใช้จ่าย และวินัยการคลัง โดยจะต้องนำมาประกอบกัน แต่ฝ่ายกฎหมายจะต้องดูในเรื่องของรายละเอียด และสำนักงบประมาณต้องดูกฎหมายวิธีการงบประมาณด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในหลักการเป็นเรื่องที่กำชับกันอยู่แล้ว และ ส.ส.ก็รับทราบในเรื่องเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไป ทั้งนี้ ได้สอบถามเป็นบางคน และได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อยู่ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ เท่าที่ทราบพบว่าเครื่องเสียบบัตรมีปัญหา
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ จึงได้เชิญผู้อำนวยการสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร มาชี้แจงและรับทราบมติของคณะกรรมาธิการฯ โดยเสนอให้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จัดซื้อและติดตั้งทีวีวงจรปิด (CCTV) จำนวนกว่า 10 ชุด เพื่อติดตั้งในห้องประชุมสุริยัน ซึ่งจะเปิดใช้สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมรัฐสภา ในสมัยประชุมสามัญครั้งหน้า เพื่อจับภาพและตรวจสอบการลงมติทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการกดบัตรลงคะแนนแทนกันเกิดขึ้นอีกในโอกาสต่อไป
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลโหวตลงมติวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีมติเห็นด้วย 253 ต่อ 0 เสียง หากตรวจสอบแล้วไม่ใช่ 253 เสียง ที่เกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 3 เสียง แต่กลายเป็นเพียง 249 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง อันเกิดจากกรณีเสียบบัตรแทนกัน 4 เสียง จาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 2 เสียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 2 เสียง ยังมั่นใจอยู่หรือไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ผ่านความเห็นชอบจากสภาอย่างถูกต้อง และหากตรวจสอบลึกลงไปอาจพบมากกว่านี้อีกก็ได้ ดังนั้นความรับผิดชอบทางการเมือง สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้า จนทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส พล.อ.ประยุทธ์ควรลาออก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |