ยุทธศาสตร์เปลี่ยนพื้นที่สู้รบ โต๊ะถก'สันติสุข'แค่ใบเบิกทาง


เพิ่มเพื่อน    

                เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นจังหวะก้าวครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติสุข กองเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ออกเอกสารข่าวของคณะพูดคุยฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม คณะพูดคุยฯ นำโดย พลเอกวัลลภ รักเสนาะ พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ได้มีการพบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของ BRN นำโดย Mr.Anas Abdulrahman ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี ตันสรี อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นอร์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก

                การพูดคุยครั้งนี้เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขและสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี โดยได้ออกแบบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

                การพูดคุยในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จักและรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยฯ ในห้วงต่อไป มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง โดยบรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป

                คณะพูดคุยฯ ตระหนักดีว่าการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างโดยใช้แนวทางสันติวิธี โดยรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้คณะพูดคุยฯ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการผลักดันให้กระบวนการสันติสุขนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างสันติสุขและการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เอกสารระบุ

                ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลว่า Mr.Anas Abdulrahman หรือถอดออกมาเป็นภาษาไทยว่า นายอานัส อับดุลเราะห์มาน คือใคร มาจากไหน หลังจากถูกระบุในแถลงการณ์ของคณะพูดคุยฯ ว่าเป็น "ผู้แทนของบีอาร์เอ็น" และเป็นผู้นำในการพูดคุยฯ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่เปิดวงพบปะกันไปเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.2563

                จากการตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง พบว่า นายอานัส อับดุลเราะห์มาน น่าจะเป็นคนเดียวกับ นายหีพนี มะเร๊ะ หรือ "เปาะซูหีพนี" หรือ "อุสตาซฮีฟนี" เป็นอดีตอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองฯ จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนายสะแปอิง บาซอ เป็นอดีตครูใหญ่

                นายหีพนีจบการศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย และมีหมายจับศาลจังหวัดยะลา ที่ 5477/2547 ลงวันที่ 14 ธ.ค.2547 ในความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรฯ ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เขามีความเกี่ยวพันกับเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดเหตุการณ์

                ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องหลังปฏิบัติการปล้นปืนครั้งมโหฬารเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จากนั้นเขาก็หลบหนีหมายจับไปพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย

                นายหีพนีเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดยะลา เป็นเจ้าของปอเนาะและเคยเป็นอิหม่ามมัสยิดในตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน มีบทบาทในการถ่ายทอดแนวคิดต่อต้านรัฐให้กับกลุ่มเยาวชน ปัจจุบันมีสถานะเป็น "หัวหน้าฝ่ายการเมือง" ในสมาชิกองค์กรนำของบีอาร์เอ็น แต่อยู่ในระดับ DPK ซึ่งหมายถึงสภาจัดตั้งเขต หรือสภาบริหารเขต ถือเป็นผู้นำระดับกลางค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ในสภาอำนวยการ หรือสภาองค์กรนำสูงสุด

                การที่ “บีอาร์เอ็น” ได้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยแบบเปิดตัวในครั้งนี้ โดยไม่ได้อยู่ในร่มของ “มาราปัตตานี” เหมือนเช่นเดิม แสดงให้เห็นว่าการเข้าพูดคุยครั้งนี้หวังผลบวกต่อฝ่ายตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตัวเชื่อม” ที่พยายามดึง “บีอาร์เอ็น” เข้ามาให้การศึกษา และเห็นถึงความสำคัญของ “ขบวนการพูดคุยสันติภาพ” ไม่ว่าจะเป็น ยูเอ็น อียู ไอซีอาร์ซี และองค์กรพัฒนาเอกชน หลายองค์กร ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เริ่มมากว่า 10 ปีที่แล้ว

                ในขณะที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ ที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็อยู่ในจังหวะของสถานการณ์ที่มีปัจจัยเอื้อหลายอย่าง หลังจากที่บีอาร์เอ็น ถูกบีบจากมาเลเซีย แต่ได้รับการ “ซัพพอร์ต” จากตัวเชื่อมจากองค์กรระหว่างประเทศ เปิดตัวบุคคลใหม่ ที่ไม่ใช่ “ฮัดซัน ตอยิบ” แต่มีบทบาทระดับกลางๆ และคาดว่าจะกลายเป็นแกนนำคนสำคัญของบีอาร์เอ็นในอนาคต ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อใช้ในการพูดคุย ไม่ใช่การตั้งรับและพูดคุยบนข้อเสนอของฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอมาอย่างเดียว

                แน่นอนว่า เป้าหมายของไทยคือการเดินหน้าไปสู่การหยุดความรุนแรง และหยุดการใช้อาวุธของผู้ก่อความรุนแรงอย่างเด็ดขาด ขณะที่บีอาร์เอ็นคงไม่ได้ใช้แค่การพูดคุยสันติสุข ในการได้มาซึ่งเป้าหมายในการปกครองตนเอง แต่คงใช้การวางแนวทางระยะยาวในการสะสมกำลัง เพื่อใช้ในการประกาศสงครามในอีก 10 ปีครั้งหน้าถ้าการพูดคุยไม่ได้ผล ในขณะที่ฝ่ายไทย จึงต้องใช้แนวทางเชิงรุก ในการใช้กฎหมายเข้มข้นเพื่อเปิดหน้าแกนนำและขบวนการเมื่อมีการก่อเหตุรุนแรง พร้อมกับการพูดคุยบนพื้นฐานที่ผู้อำนวยความสะดวกยังเป็นประเทศมาเลเซีย แต่มี “ตัวเชื่อม” หน้าใหม่อย่างยูเอ็นและอียูเข้ามาผนึก ซึ่งไทยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ “ตัวเชื่อม” เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์

                อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสันติสุขยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการหยุดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ในห้วงต่อไปยังต้องมีขั้นตอนอีกมากมายก่อนไปสู่เป้าหมาย ซึ่งมีคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดนี้เป็นใบเบิกทาง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"