กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน หรือ impeachment ที่มีเป้าอยู่ที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเริ่มอย่างเป็นทางการและเต็มไปด้วยสีสันในวุฒิสภาของสหรัฐ
เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในประวัติศาสตร์กว่า 232 ปีของสหรัฐ นี่เป็นครั้งที่ 3 เท่านั้นที่ผู้นำประเทศสหรัฐถูกจับเข้าสู่กระบวนการสร้างความอับอายขายขี้หน้าอย่างนี้
กระบวนการไต่สวนเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลาเวลา 13.00 น. วันอังคาร เวลาที่วอชิงตัน หรือ 02.00 นาฬิกาเวลาบ้านเรา
ประธานศาลสูงสุดคือ John Roberts ขึ้นนั่งบัลลังก์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมติให้ไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ด้วยเสียงข้างมาก (ส่วนใหญ่คือ ส.ส.พรรคเดโมแครต) ทำหน้าที่เป็นอัยการ
สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน
วุฒิสภาขณะนี้มีสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน 53 คน จากเดโมแครต 45 คน และอิสระ 2 คน
การจะปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้ต้องมีเสียงเห็นพ้อง 2 ใน 3 หรือ 67 คน
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
แต่แม้ว่าในท้ายที่สุดเมื่อมีการลงมติในวุฒิสภา และมติถอดถอนทรัมป์ตกไป การที่ทรัมป์ถูกจับขึ้นเขียงอย่างนี้ก็มีความสำคัญทางการเมืองอเมริกันอย่างยิ่ง
กติกาของการไต่สวนในวุฒิสภาจะใช้เวลาวันละ 6 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน
ขณะที่เปิดกระบวนการไต่สวนนี้ ทรัมป์ไปร่วมประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์
ทีมนักกฎหมายของทรัมป์ได้ส่งเอกสารยาว 171 หน้า ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือตอบโต้ข้อกล่าวหาต่อทรัมป์
คณะ ส.ส.จากสภาล่างที่มาจากพรรคเดโมแครตส่งเอกสารกล่าวหาว่าทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีกดดันผู้นำต่างชาติ (ยูเครน) เพื่อให้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐเพื่อประโยชน์ของตน
ข้อกล่าวหาอ้างว่าทรัมป์ได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelendsky และขอให้เขาสอบสวนข้อหาคอร์รัปชันของนายโจ ไบเดน และลูกชายที่ไปทำธุรกิจที่ประเทศนั้น
ข้อกล่าวหาอ้างต่อว่า ทรัมป์ขู่ประธานาธิบดียูเครนว่าหากเขาไม่ทำตามที่ร้องขอ ก็อาจจะไม่ปล่อยเงินช่วยเหลือทางทหารประมาณ 400 ล้านเหรียญฯ ให้ยูเครน
ไบเดนเป็นอดีตรองประธานาธิบดีภายใต้โอบามา และวันนี้เป็นหนึ่งในตัวเก็งที่พรรคเดโมแครตอาจส่งมาแข่งตำแหน่งประธานาธิบดีกับทรัมป์ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้
ข้อหาที่สองคือทรัมป์ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวมาให้การต่อสภาผู้แทนราษฎรในการไต่สวนรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว
นั่นเท่ากับเป็นการ “ขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส” ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงในสหรัฐ
ข้อโต้แย้งจากคณะทนายความของทรัมป์แย้งว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไร้สาระ ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์ได้ จึงควรที่สมาชิกวุฒิสภาจะลงมติคว่ำเสีย
กติกาของการไต่สวนในวุฒิสภาน่าสนใจตรงที่ว่า แกนนำของพรรครีพับลิกันจะเป็นผู้กำหนดวิธีการไต่สวน
นั่นคือผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งได้แก่ Mitch McConnell แห่งพรรครีพับลิกัน และ Chuck Schumer ซึ่งเป็นแกนนำของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา
ทั้งสองคนต้องตกลงกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรสำหรับการเรียกหาพยาน, หลักฐาน และจำนวนเวลาที่จะแจกจ่ายให้ทั้งฝ่ายฟ้องร้องและฝ่ายต่อสู้อย่างไร
รายละเอียดเหล่านี้ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องลงมติให้เสียงข้างมากในวุฒิสภาตัดสิน
เพราะวุฒิสภามีเสียงข้างมากในวุฒิสภา ดังนั้นพรรคของทรัมป์ก็จะมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดวิธีการที่จะดำเนินการไต่สวน
แต่มีการตกลง “กติกามารยาท” หลักๆ แล้วบางเรื่อง เช่น
ห้ามทวีตสดจากที่ประชุม
ห้ามเอาเอกสารจากข้างนอกเข้ามาในห้องประชุมวุฒิสภา
ห้ามสมาชิกวุฒิสภาพูดกับคนที่นั่งข้างๆ ระหว่างที่กำลังไต่สวนอยู่
สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 100 คนจากทั้ง 2 พรรคจะฟังการต่อสู้จากทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือตัวแทน ส.ส.จากสภาล่างที่ทำหน้าที่เป็นอัยการ และจากคณะทนายความจากทำเนียบขาวที่ทรัมป์แต่งตั้งมาสู้คดีให้ตน
นอกจากนั้นยังจะมีการซักถามพยานบุคคลที่ถูกเรียกมา ส่วนจะอนุญาตให้เรียกพยานคนไหนบ้างก็เป็นสิทธิของประธานศาลสูงสุดที่ขึ้นนั่งบัลลังก์
หลังจากฟังทุกฝ่ายแล้ว เหล่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาก็จะใช้เวลาหนึ่งวันเต็มที่จะถกแถลงกันเองก่อนจะลงมติว่าจะปลดทรัมป์จากตำแหน่งหรือไม่
แม้จะรู้ว่าท้ายที่สุดทรัมป์จะรอด แต่ละครการเมืองที่เดโมแครต, รีพับลิกันและทรัมป์กำลังจะเปิดฉากแสดงก็ดุเดือดเลือดพล่าน ทุกฝ่ายล้วนงัดอาวุธทุกชนิดออกมาเพื่อประจันหน้ากันอย่างเข้มข้น
แค่ดูละครไกลๆ ก็สนุกและได้ความรู้มากมายแล้วครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |