23 ม.ค.63 - ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระผู้ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เรื่องเผาอ้อยและการแก้ปัญหา ขอเขียนสักนิด ในฐานะของคนที่นามสกุลแปลว่าอ้อยและน้ำตาลและคลุกคลีวงการนี้มานาน (ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทน้ำตาลนครเพชร)
1.ชาวไร่เผาอ้อยเพราะ อ้อยต้นหนึ่งมันจะมีทั้งใบเก่าแห้งๆอยู่ด้านล่างและใบใหม่สีเขียวๆ ใบแห้งนี่คม ส่วนใบใหม่มีขนมันคัน แถมเวลาตัดแล้วก็ต้องเสียเวลามาริดใบออก เพราะโรงงานน้ำตาลไม่ต้องการใบพวกนี้ ดังนั้นตัดอ้อยสดมันคม คัน และเสียเวลาในการตัด ถ้าชาวไร่มีที่ไม่มากหรือมีแรงงานมากพอ การตัดอ้อยสดส่งโรงงานจะได้ราคาดีกว่าเค้าก็จะตัดอ้อยสดส่งแหล่ะ แต่ถ้ามีที่มากๆหรือมีแรงงานไม่พอ ก็ต้องเผาก่อนตัด มันตัดได้เร็วกว่ามากๆ
2.อ้อยที่ผ่านการเผาไฟมา มันจะมีแผลที่โดนไฟไหม้ ถ้าเอามาเข้าโรงงานภายใน 24 ชม. ก็ไม่มีผลเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิน 24 ชม. จะเริ่มมีแบคทีเรียเข้าไปกินน้ำตาล สร้างเป็นกรดขึ้นมา แบบนี้โรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยไป จะไม่ได้น้ำตาลและโดนกรดและแบคทีเรียมารบกวนระบบการผลิตด้วย ถ้าให้เลือกได้ไม่มีโรงงานน้ำตาลไหนอยากได้อ้อยเผา ใครๆก็อยากได้อ้อยสด
3.เผาอ้อยนี่ จะได้ทั้งฝุ่นเล็กฝุ่นใหญ่ครบถ้วน ชิ้นใหญ่มองเห็นด้วยตาเปล่าปลิวไปได้ไกลเหมือนกัน ตกทั่วไป เรียกกันว่าหิมะดำ ส่วนชิ้นเล็กๆก็มีถึงระดับ PM 2.5 นั่นแหล่ะ
4.ทุกวันนี้มีระบบที่ทำให้โรงงานน้ำตาลหักเงินจากอ้อยไฟไหม้มาจ่ายอ้อยสดอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเผาอยู่เพราะปัญหาเรื่องแรงงานตัดอ้อยไม่พอจริงๆ ตัดอ้อยงานหนักมาก ผมเคยลองตัดแค่มัดเดียวก็แย่แล้ว
5.อ้อยมันค่อยๆตัดไปเรื่อยๆทั้งปีตามกำลังคนที่มีไม่ได้ โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นฤดูกาล คือระหว่าง ธค. ถึง เมย. จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดเพราะเป็นช่วงที่แห้งและอากาศเย็น อ้อยจะถูกปลูกให้มาแก่ช่วงนี้พอดี เป็นช่วงที่มีความหวานสูงและไร่แห้ง ใช้เครื่องจักรหนัก รถบรรทุก เข้าไปตัดไปขนอ้อยออกมาได้ ถ้าเลยไปถึงช่วงที่ฝนตก อ้อยจะมีน้ำมากไม่หวาน ไร่กลายเป็นโคลน ตัดอ้อยก็จะติดโคลนติดทรายเข้ามาเยอะ ไม่ไหวทั้งชาวไร่และโรงงาน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเร่งตัดให้หมดภายในฤดูกาลดังกล่าว บางทีทางเลือกของชาวไร่ มันไม่ใช่ตัดสดได้เงินมาก ตัดเผาได้เงินน้อย สำหรับบางคนตัดไม่ทันคือปีนั้นทั้งปีไม่มีรายได้ครับ
6.การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานไม่พอตัดอ้อยจนต้องเผานี้ ที่ผ่านมาพุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการตัดอ้อย รัฐมีการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย แต่ปัญหาที่ยังไปได้ไม่สุดทางคือ 6.1 รถตัดอ้อยแพงมาก ยี่ห้อไทย 6-7 ล้านบาท ของนอก 12-14 ล้านบาท ชาวไร่ที่มีกำลังซื้อรถราคานี้ได้เป็นรายใหญ่เท่านั้น โรงงานส่วนใหญ่ก็ทยอยซื้อกันมาเรื่อยๆ เพื่อไว้บริการชาวไร่ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงหรอก
6.2 ที่ดินเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นแปลงเล็ก (โดยเฉพาะทางภาคอีสาน) การใช้รถตัดอ้อยทำได้ไม่สะดวกนักเพราะเวลากลับรถจะเสียเวลามาก ในประเทศที่แปลงอ้อยใหญ่ๆอย่างออสเตรเลียหรือบราซิล เค้าวิ่งกันเป็นทางตรงแบบเต็มคันรถถึงจะกลับกันที และรถเค้าทำงานอยู่ในไร่ตลอด ของเราตัดแปลงนี้เสร็จ ต้องเอาขึ้นรถขน ขับไปตัดต่ออีกแปลง วันหนึ่งอาจจะเปลี่ยน 3-4 แปลง ทำให้รถรุ่นเดียวกันของบ้านเราในฤดูกาลหนึ่งตัดได้น้อยกว่าในประเทศทั้งสอง 3-5 เท่าเป็นอย่างน้อย ข้อนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการปฏิรูปที่ดิน รวมแปลงเล็กๆที่อยู่ใกล้กัน แต่เรื่องนี้ก็ยากอีกแหล่ะ
7.แต่เอาจริงๆรถตัดอ้อยก็แก้ปัญหาได้แค่ ปริมาณอ้อยสดที่เข้าโรงงานซึ่งรัฐบาลออกกฏมาคุมอยู่ตรงนี้ คิดว่าการกำหนดปริมาณอ้อยสดที่มาส่งโรงงานจะแก้ปัญหาการเผาอ้อยได้ แต่เปล่า ไม่เลย แม้แต่แปลงอ้อยที่ตัดด้วยรถตัดก็มีการเผาอยู่ดี เพราะรถตัดอ้อยเวลาตัดแล้วจะพ่นใบอ้อยกลับลงไปในแปลงอ้อย ซึ่งจะถมหนาๆฟูๆบางทีบางจุดหนาเป็นฟุตก็มี ซึ่งใบอ้อยแห้งนี่มันก็ติดไฟง่าย สมมุติว่าทิ้งใบไว้แบบนี้แล้วเกิดไฟไหม้ขึ้นมา จะทำให้ตออ้อยหรือยอดอ้อยที่เพิ่งงอกขึ้นมาตายหรือเสียหายหนักๆได้เลย
ดังนั้นเพื่อป้องกันเรื่องนี้ หลังรถตัดตัดเสร็จ ชาวไร่ส่วนใหญ่ก็จะเผาใบที่ตกอยู่กับดินอยู่ดี ซึ่งเผาตอนอยู่กับดินนี่มันไหม้ช้า ไหม้นาน มีควันพิษมากกว่าเผาตอนเป็นต้นๆอีก อีกกรณีคือถ้าทิ้งไว้หนาแล้วเกิดฝนตก แน่นอนว่าข้อดีคือใบอ้อยจะช่วยเก็บความชื้นไว้ได้ดี แต่ข้อเสียก็คือความชื้นนี่แหล่ะมันเป็นแหล่งก่อให้เกิดโรค ต้องอย่าลืมว่าตออ้อยที่ตัดมีแผลเปิดใหญ่มาก ถ้าเกิดเชื้อราเกิดโรคขึ้นมาอ้อยถูกทำร้ายง่ายมาก สรุปก็คือเผาปลอดภัยกว่า นอกเสียจากว่าจะเป็นปีที่จะมีการรื้อตอปลูกใหม่ ซึ่งจะมีการไถกลบไถพรวนใบอ้อยรวมลงไป ปีนั้นก็จะไม่ต้องเผาก็คือ 2-3 ปีครั้ง หรือถ้าชาวไร่มีเครื่องตีใบพรวนดินผสมใบอ้อยลงไปก็ไม่ต้องเผาได้ แต่เข้าใจว่าเครื่องนี้ยังไม่มีใช้แพร่หลายนักและยังไงใบก็เยอะไปอยู่ดี
8.สำหรับผมคิดว่าวิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือการทำให้ใบอ้อยมีมูลค่า อย่างที่หลายๆท่านแชร์รูปการอัดอ้อยเป็นก้อนเพื่อส่งโรงไฟฟ้าชีวมวลนั่นแหล่ะครับ ใบอ้อยที่ถูกนำไปเผาในระบบปิดที่มีการควบคุมจะก่อให้เกิดมลภาวะน้อยมาก ปัญหาคือใบอ้อยเป็นชีวมวลที่มีลักษณะเฉพาะ แห้ง เบา/ปลิว ซิลิกาสูง เตาที่จะใช้เผาต้องออกแบบมาเพื่อเผาใบอ้อยโดยเฉพาะ พวกเตาที่ออกแบบมาเผาเศษไม้ แกลบ กากอ้อย ใส่เข้าไปได้สัก 10-15% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเตาพวกนี้ก็ต้องมีอะไรเผากันอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว จึงยังไม่มีการซื้อใบอ้อยแพร่หลายนัก
9.ถามว่าใบอ้อยเรามีเยอะแค่ไหน ในวงการคำนวณกันไว้สัก 15-20 ล้านตันผลิตไฟฟ้าเป็นเลขกลมๆได้สัก 500 MW. เยอะอยู่ครับ
10.ทุกวันนี้ราคารับซื้อใบอ้อยหน้าโรงงานอยู่ระหว่าง 800-1,000 บาท/ตัน ถ้ามีโรงไฟฟ้ารับซื้อ ชาวไร่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่ต้องเผาอ้อยทำลายสิ่งแวดล้อมอีก ประเทศไทยได้แหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ก็ได้แต่รอ ว่าเมื่อไหร่จะมีใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแบบที่ว่าออกมาเสียที เพราะออกมาก็ใช้ว่าจะแก้ได้เลย กว่าจะไปศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกว่าจะก่อสร้างต้องมีอีก 3-4 ปี แต่ถ้าไม่เริ่มมันก็ไม่เกิด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |