23ม.ค.63-คณะทำงานฯ ความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัย เตรียม ชง ก.พ.อ. ปรับเกณฑ์การยื่นขอกำหนดตำแหน่งวิชาการ คำนึงคุณภาพระดับสากล สายแพทย์ วิทย์ฯวิศวฯไม่ต้องผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีชื่อเสียงระดับนานาขาติ จะได้รับการรับรอง รวมทั้งยังปรับฐานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ฝประเมินผลงานชให้ทันยุคทันสมัยยิ่งขึ้น
นางศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัย กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานได้ปรับเกณฑ์การยื่นขอกำหนดตำแหน่งวิชาการ โดยคำนึงถึงหลักการด้านคุณภาพทางวิชาการในระดับสากล ลักษณะผลงานที่เป็นรูปธรรม มีประโยชน์ในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ความร่วมมือและการโยกย้ายกำลังคนทางวิชาการ รวมถึงความชัดเจนของการตัดสิน โดยได้ดำเนินการ คือ 1.ยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงาน พร้อมทั้งปรับแบบแสดงหลักฐานการมีส่วนร่วมในผลงาน 2.มีการกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมให้ผู้ขอสามารถเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ในกรณีการเสนอขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ 3.มีการปรับลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท จากเดิมระดับดี ดีมาก และดีเด่น เป็นระดับ B, B+, A และ A+ พร้อมทั้งปรับคำอธิบายของลักษณะคุณภาพของผลงานแต่ละประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้คำนึงถึงคุณภาพระดับนานาชาติ
นางศันสนีย์ กล่าวต่อว่า 4.มีการปรับเกณฑ์ โดยการพิจารณาให้คำนึงถึงคุณสมบัติทางวิชาการของผู้ขอตำแหน่งได้แก่ ความเป็นผู้นำทางวิชาการระดับนานาชาติ (International Academic Leadership) หัวหน้าโครงการวิจัย(Principle Investigator) ในโครงการที่สำคัญ ๆ การเป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding Author) 5.การเพิ่มรูปแบบผลงาน ด้านการสอนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การสอนทางไกล MOOC การวิจัยชุมชน การสร้างนวัตกรรม การต่อยอดศิลปวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือแนะนำการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัย ได้แก่ ร่างประกาศ Adjunct Professorship ซึ่งเป็นการนำบุคคลภายนอกจากต่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน มาเป็นอาจารย์พิเศษได้ และร่างประกาศการเทียบโอนตำแหน่งวิชาการ รวมทั้งการจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับสืบค้นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และมีการจัดการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการให้ทันสมัย ทั้งนี้เกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าว กำลังเตรียมนำเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) พิจารณาต่อไป