23ม.ค.63-นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาสภาผู้แทนราษฏร ได้เรียกตนเข้าไปชี้แจงถึงการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เป็นปัญหาร้องเรียนจนมีครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่งชุดดำ โดยเฉพาะประเด็นไม่ยุบ ไม่โอน ไม่ย้ายหน่วยงานศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปสังกัดสำนักงานปลัด ศธ.ว่าท้ายที่สุดแล้วการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าวจะออกมาในทิศทางไหนและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมถึงผู้เรียนจะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง ศธ.ไปด้วยหรือไม่ สำหรับประเด็นที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความห่วงใยว่าการนำหน่วยงานศึกษานิเทศก์ไปสังกัดสำนักงานปลัด ศธ.นั้น นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่กลุ่มศึกษานิเทศก์ของสพท.แล้วว่าจะมีการยุบ หรือตัดโอนตำแหน่งไปอยู่กับสำนักงานปลัด ศธ. แต่หากในอนาคตการปรับโครงสร้าง ศธ.จะต้องนำไปสู่การลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนจริง
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ากลุ่มศึกษานิเทศก์จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรไม่ว่าจะเรื่องสิทธิต่างๆในตำแหน่งเดิม โดยศึกษานิเทศก์ที่มีอยู่ทั้งหมดจะต้องร่วมกันทำงานมากขึ้น ส่วนการปรับโครงสร้างของ สพฐ.คาดว่าจะนำเข้าหารือในที่ประชุมโครงสร้างศธ.ในวันที่ 24 มกราคมนี้ ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอการปรับโครงสร้างหน่วยงานตัวเองออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้มีอ.ก.ค.ศ.จังหวัด 2.อ.ก.ค.ศ.สพฐ.และ3.การคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ผมคิดว่าการปรับโครงสร้าง ศธ.น่าจะวินๆ ทุกฝ่าย ซึ่งใครมีหน้าที่ในส่วนไหนก็ทำไปไม่ว่าจะเป็นศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ เขตพื้นที่ ทั้งการพัฒนาการศึกษาจังหวัด หรือการจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาระดับพื้นที่ เพื่อการบูรณการทำงานร่วมกัน แต่ผมคิดว่าการแต่งตั้งหรือการโยกย้ายข้าราชการครูต่างๆควรจะให้หน่วยต้นสังกัดผู้ใช้ครูได้ดำเนินการเอง เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เช่น เหตุการประท้วงของนักเรียนที่ไม่อยากได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ในจ.เพชรบุรี โดยเหตุการณ์นี้ สพฐ.ไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้เลย เพราะไม่ใช่หน้าที่เราแต่เป็น กศจ.ต้องทำ เป็นต้น”เลขาฯ กพฐ.กล่าว