ถ้าอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ใครจะเลือกอยู่ข้างมหาอำนาจใด?
นี่เป็นหนึ่งในคำถามของการสำรวจออนไลน์ของสถาบันศึกษาเอเชียอาคเนย์ หรือ ISEAS-Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์ประจำปีนี้ที่น่าสนใจมาก
เหตุที่ตั้งคำถามชุดนี้ น่าจะเป็นเพราะนักวิชาการอาเซียนจำนวนไม่น้อยกำลังอยากรู้จริงๆ ว่าการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ นั้น จะทำให้อาเซียนเองต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อยังคงไว้ซึ่งศักยภาพขององค์กรนี้
ความกลัวว่าอาเซียนจะแตกเพราะตกอยู่ใต้อิทธิพลของสองยักษ์ใหญ่ที่ต่อสู้กัน
หากไม่ระวังอาจจะกลายเป็น "สงครามตัวแทน" หรือ proxy war ในภูมิภาคนี้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าก็ได้
เขาสำรวจความเห็นของคน 1,300 คนในอาเซียน ในช่วงวัยต่างกันไม่ว่าจะเป็น Gen Y, X, Z และ baby boomers (วัยตั้งแต่ 46-64)
หนึ่งในคำถามคือ กลุ่มเศรษฐกิจใดมีอิทธิพลสูงสุดในเอเชียอาคเนย์
ร้อยละ 79.2 บอกว่าจีน อีก 8.3% บอกว่าอาเซียนเอง และ 7.9% มีความเห็นว่าคือสหรัฐฯ
เห็นได้ชัดว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนในความเห็นของคนกลุ่มนี้คือจีนอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่าจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนมากอย่างนี้ "ยินดี" หรือ "กังวล"
คำตอบคือ 71.9% บอกว่า "กังวล" มีเพียง 28.1% เท่านั้นที่ตอบว่า "ยินดี"
ต่อคำถามที่ว่าประเทศใดมี "พลังด้านยุทธศาสตร์และการเมือง" สูงสุดในเอเชียอาคเนย์ 52.2% บอกว่าคือจีน และ 26.7% ชี้ไปที่สหรัฐฯ ส่วน 18.1% ตอบว่าอาเซียนเอง
เมื่อจีนมีอิทธิพลด้านยุทธศาสตร์มากขนาดนี้ เป็นห่วงหรือยินดี?
ร้อยละ 85.4 บอกว่า "เป็นห่วง" และ 14.6% ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่กังวลแต่อย่างใด
ที่ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจที่สุดคือที่ถามว่า "หากอาเซียนถูกบังคับให้ต้องเลือกเข้าข้างสหรัฐฯ หรือจีน ท่านจะเลือกใคร?"
แน่นอน นี่เป็นคำถามสมมติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครมาบังคับให้เราต้องเลือกข้างอย่างโจ๋งครึ่มอย่างนี้
แต่ในภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกวันนั้น การวางจุดยืนของประเทศในอาเซียนย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง
คำตอบที่ได้มาก็น่าสนใจมาก
เกือบจะสรุปได้ว่าอาเซียน 10 ประเทศเกือบจะแบ่งกันยืนอยู่คนละข้างในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ดูจากตารางนี้จะเห็นว่าเวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกับอเมริกามากกว่าจีนอย่างชัดเจน
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเข้าใจไม่ยาก เพราะเวียดนามมีความระแวงสงสัยจีนมายาวนานในประวัติศาสตร์จนถึงวันนี้
อีกทั้งในช่วงหลัง อเมริกากลับเข้ามาในเวียดนามอย่างคึกคัก จากที่เคยเป็นคู่รบกันในสงครามเวียดนาม วันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับฮานอยมีความสนิทสนมกันอย่างแนบแน่น
ส่วนฟิลิปปินส์นั้น แม้ประธานาธิบดีดูเตร์เตจะวิพากษ์อเมริกาอย่างรุนแรง และแสดงตนยืนเคียงข้างจีนในหลายประเด็น แต่ประชาชนคนฟิลิปปินส์มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของอเมริกันมากกว่าแนวทางของจีนแน่นอน
ผลสำรวจนี้บอกว่าสิงคโปร์เอนเอียงไปทางสหรัฐฯ มากกว่าจีนในสัดส่วน 60-40 อาจจะเป็นเพราะสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ทางด้านการค้าและความมั่นคงไม่น้อย
อีกทั้งคนรุ่นต่างๆ ของสิงคโปร์ก็มีความโน้มเอียงไปทางค่านิยมตะวันตกไม่น้อย
จนมีการเรียกขานสิงคโปร์กันว่าเป็นเหมือนกล้วยหอม...นั่นคือผิวข้างนอกเป็นสีเหลืองแต่เนื้อในเป็นสีขาว
ผลสำรวจบอกว่าอินโดนีเซียเอียงไปข้างจีนมากกว่าสหรัฐฯ
แต่กัมพูชา, มาเลเซีย, เมียนมา, บรูไน และ สปป.ลาวนั้นอยู่ข้างจีนมากกว่าอเมริกาอย่างชัดเจนตั้งแต่ 55% ถึง 70% ทีเดียว
เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะช่วงหลังรัฐบาลปักกิ่งได้ทุ่มทรัพยากรทั้งด้านเงินและการทูตมาตีสนิทกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ
เป็นจังหวะเดียวกับที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ตีตัวออกห่างจากอาเซียนและเอเชียด้วยนโยบาย America First จึงเกิดช่องว่างให้จีนเข้ามาถมอย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว
คำถามใหญ่คือไทยเรายืนอยู่ตรงไหน
ผลการสำรวจนี้บอกว่าไทยเราอยู่ "ตรงกลางพอดี" นั่นคือเลือกสหรัฐฯ และจีนประเทศละ 50%!
นี่คือการตอบแบบไทยๆ หรือเป็นการตอบ "โดยมารยาททางการทูต"?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |