‘มิตรในยามยาก’ ของอองซาน ซูจี


เพิ่มเพื่อน    

               เห็นภาพประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไปเยือนเมียนมา ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ต้องเปรียบเทียบกับรูปที่อองซาน ซูจีนำคณะไปศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นด้วย

                แค่ดูสองภาพนี้ก็จะเห็นความแตกต่างโดยสิ้นเชิง ระหว่างท่าทีของเมียนมาต่อโลกตะวันตกและจีน

                และสะท้อนถึงทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับจีน กับสหรัฐฯ และกับยุโรป

                ขณะที่อเมริกาและยุโรปประกาศลดการคบหากับเมียนมาเพราะกรณี "โรฮีนจา" และข้อกล่าวหาเรื่อง "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แต่ผู้นำจีนกลับขยับมาติดต่อกับอองซาน ซูจีอย่างกระชับแน่นยิ่งขึ้น

                สหรัฐฯ ภายใต้การนำของบารัก โอบามาสามารถกดดันกองทัพเมียนมา จนยอมให้มีการเลือกตั้งที่ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จนอองซาน ซูจีนสามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

                ช่วงนั้นอิทธิพลของจีนซึ่งเคยกว้างขวางในเมียนมา เพราะปักกิ่งคบกับทหารเมียนมาผู้ยึดครองอำนาจทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น ถูกบีบให้ถอยออกไปเพราะสหรัฐฯ เข้ามาสร้างความเบ่งบานให้แก่ระบอบประชาธิปไตย

                แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์เข้านั่งทำเนียบขาว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

                สหรัฐฯ ถอยห่างออกจากเมียนมา ส.ส.และ ส.ว.สหรัฐฯ กับนักการเมืองยุโรปวิพากษ์อองซาน ซูจีอย่างหนักกรณีโรฮีนจา

                และจีนกลับมาแสดงความเห็นใจรัฐบาลเมียนมาในจังหวะสำคัญนี้

                ในทางการเมืองแล้ว คำว่า "เพื่อนในยามยาก" มีความหมายไม่น้อย

                เพราะจีนเองก็เคยเจอวิบากกรรมเช่นนี้มาก่อน สมัยเหตุการณ์ "จัตุรัสเทียนอันเหมิน" ช่วงปี 1989  ขณะที่ประเทศตะวันตกพากันต่อว่าต่อขานจีนที่ปราบปรามนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ประเทศไหนที่แสดงความเห็นใจหรือเข้าใจก็จะกลายเป็น "เพื่อนแท้ที่เข้าใจเรา"

                ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงลงทุนมาเยือนเมียนมาด้วยตนเอง (ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอย่างนี้กับทุกประเทศในอาเซียน)

                การเยือนครั้งนี้เป็นครั้งแรกของสี จิ้นผิง และมีความหมายเป็นพิเศษเพราะเป็นอาคันตุกะระดับสูงสุดของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินเดินทางเยือนเมียนมาในเดือนธันวาคม 2001

                และสีก็ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่าแน่นอน

                ผู้นำจีนถือโอกาสนี้มาเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ

                ตอกย้ำถึงการผลักดันนโยบาย One Belt One Road ของปักกิ่งอย่างต่อเนื่องในประเทศอาเซียน

                ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือน้ำลึก, เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู (Kyaukphyu Special Economic Zone - SEZ) และที่มองข้ามไม่ได้คือ ความร่วมมือของจีนในการปรับโฉมนครย่างกุ้งให้เป็นเมืองทันสมัยในยุคพัฒนา

                จีนต้องการจับมือกับเมียนมาเพื่อให้มีทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือ China Myanmar Economic Corridor (CMEC)

                นี่เป็นหนึ่งในกิจกรรมเชื่อมโครงข่ายการค้าของจีนในแถบตะวันตกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ตามแผนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน

                ซึ่งรวมถึงท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่เมืองเจาะพยู (Kyaukphyu) ในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ

                โครงการนี้เป็นหัวใจของ "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจีน-เมียนมา" ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 พันล้านเหรียญ หรือเกือบ 40,000 ล้านบาท

                เดิมจีนตั้งค่าก่อสร้างไว้ 7.2 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 216,000 ล้านบาท แต่หลังจากต่อรองแล้วลดลงมาเหลือ 1.3 พันล้านเหรียญ

                โดยรัฐบาลเมียนมาต้องร่วมลงทุนค่าก่อสร้าง 30%

                ต้องไม่ลืมว่ารัฐยะไข่เป็นจุดที่อ่อนไหวทางการเมืองเพราะมีประเด็นเรื่องโรฮีนจา

                ดังนั้น การที่เมียนมาเปิดทางให้จีนเข้ามาร่วมสร้างเศรษฐกิจผ่านโครงการใหม่ ก็เพื่อสร้างงานให้คนท้องถิ่นและผลักดันเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการเมืองและสังคมที่เรื้อรังในรัฐนี้เช่นกัน

                อีกโครงการหนึ่งคือ เขื่อนมิตโสน หรือ Myitsone ที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 6,000 เมกะวัตต์  มูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท

                เขื่อนนี้มีประวัติการเมืองร้อนแรง เพราะตอนที่จีนเข้ามาเสนอผ่านรัฐบาลทหารในอดีตนั้นไม่มีความโปร่งใส และไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการประท้วงโดยกลุ่มประชาสังคมในเมียนมาจนต้องมีการระงับไปชั่วคราว

                เพราะเขื่อนแห่งนี้จะสร้างขึ้นบนแม่น้ำอิรวดี จึงมีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อแม่น้ำอันสำคัญของเมียนมาสายนี้

                ความจริงโครงการนี้ถูกเสนอตั้งแต่ปี 2009 แต่โดนระงับไปในปี 2011

                วันนี้เมื่อการเมืองเปลี่ยน อะไรๆ ก็พลิกกลับได้ ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ของตน

                อีกโครงการหนึ่งคือ เส้นทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่า 8.9 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 267,000  ล้านบาท ที่จะเชื่อมมณฑลยูนนานทางใต้ของจีนผ่านเมืองมูเซะของเมียนมา ไปสู่ชายฝั่งตะวันตกของเมียนมาเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

                เห็นหรือไม่ว่าทุกโครงการที่จีนคุยกับเมียนมา ล้วนเป็นการเปิดทางให้จีนมีทางออกทะเลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภาพรวมของจีนทั้งสิ้น

                อองซาน ซูจีต้องการให้จีนช่วยพัฒนาเมืองย่างกุ้งเพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่แยกจากเมืองหลวงเนปยีดอ

                โครงการนี้ต้องการจะให้ขยายความเจริญของเมืองไปนอกเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำย่างกุ้ง

                งบประมาณสำหรับโครงการนี้ประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญ หรือ 51,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหารถติดและคุณภาพของบริการไฟฟ้าและน้ำประปาที่คาราคาซังมายาวนานได้

                เห็นสีหน้ายิ้มแย้มของสี จิ้นผิงกับอองซาน ซูจีเมื่อสัปดาห์ก่อน...เทียบกับสีหน้าเครียดหนักของอองซาน ซูจีที่กรุงเฮกก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเมียนมากำลังเข้าสู่โหมดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนและอเมริกาอย่างไร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"