21ม.ค.63-นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ของ กทม. อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยล่าสุดตนได้สั่งการให้หน่วยงานใน อว.บางสายงานที่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานสามารถพิจารณาความเหมาะสม โดยการให้หน่วยงานบางส่วนงานสามารถทำงานที่บ้านได้ในช่วงนี้ เพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันจากการเดินทาง และเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องออกมาเจอฝุ่นควัน พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้สถาบันอุดมศึกษา หากในชั้นเรียนใดสามารถจัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ในช่วงนี้เพื่อลดการเดินทางออกมาเผชิญฝุ่นควันของนักศึกษา
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว.ยังได้มีการวิจัยและพัฒนาเครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต “ไอออนเฟรช” (IonFresh) เป็นถือเป็นเครื่องต้นแบบที่ใช้กรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) สำหรับใช้งานภายนอกอาคาร จำนวน 4 เครื่อง โดยเป็นการพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต โดยต้นแบบเครื่อง สร้างอากาศบริสุทธิ์ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภายนอกหรือพื้นที่ควบคุม อย่างไรก็ดี ในอนาคตนอกจากทีมวิจัยของ สวทช. จะพัฒนาไปใช้ในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมองไปถึงการกำจัดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีป้องกันฝุ่นละอองออกสู่สาธารณะเนื่องจากเทคโนโลยีต่างประเทศยังมีราคาแพงอยู่มาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่อง ไอออนเฟรชสามารถพัฒนาและผลิตได้แล้วในประเทศโดยนักวิจัยไทยและราคาถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่า
“นอกจากนี้ อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ สร้างแพลตฟอร์มการตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที ผ่าน “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ” ซึ่งนับเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที ผ่านระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th โดยจะแสดงผลคุณภาพอากาศจากการรวบรวมข้อมูลการรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 จากหลายๆ หน่วยงานทั่วประเทศ รวมจุดติดตั้งประมาณ 800 จุด ซึ่งจะนับเป็นฐานข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”รมว.อว.กล่าว
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพของเด็กนักเรียน จึงได้ออกหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศให้แจ้งให้ทุกโรงเรียนปฎิบัติตามแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทาง สพฐ.ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้แล้วอย่างเคร่งครัด อีกทั้งให้เฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย ผ่านทางเว็บไซต์ http://air๔thai.pcd.go.th/webV๒/ และเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.pcd.go.th ทั้งนี้จะได้เข้าใจสถานการณ์ และสามารถเฝ้าระวังและดูแลนักเรียนได้อย่างสอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละวัน
“ผมอยากให้โรงเรียนทุกแห่งใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ผมเชื่อว่าจะสร้างการรับรู้และทำให้ผู้เรียนตระหนักต่อปัญหาร่วมกันได้ง่ายกว่าปกติ เช่น เด็กนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่เน้นสอนด้านวิทยาศาสตร์ก็อาจจะสอนให้เด็กได้ศึกษาปัญหาฝุ่นในแบบวิทยาศาสตร์ และคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น หรือแม้แต่โรงเรียนอื่น ๆ คุณครูอาจจะสอดแทรกให้เด็กได้คิดวิเคราะห์องค์ความรู้ของปัญหา และแนวทางการป้องกันร่วมไปถึงการดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นโอกาสที่ดีให้ทุกคนได้เรียนรู้ต่อปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกันได้”เลขาฯ กพฐ. กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |