การเมือง ‘ปฏิบัตินิยม’ เป็นเช่นไร?


เพิ่มเพื่อน    

 

               การเมืองแบบ “ปฏิบัตินิยม” ที่คุณกรณ์ จาติกวณิช และคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นำเสนอสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร?

                ภาษาอังกฤษมีคำว่า Pragmatism ซึ่งหมายถึงการทำในสิ่งที่เกิดผลทางปฏิบัติ เน้นการทำ ไม่เน้นการยึดติดกับ “หลักคิด” หรือทฤษฎีการเมือง

                ไม่เน้นซ้าย, ขวา แต่เน้นตอบโจทย์ของชาวบ้าน

                คุณกรณ์พูดถึง “การเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง การเมืองที่กล้าคิดกล้าทำ” และย้ำว่าต้องพร้อมจะพลาดพลั้งด้วย เพราะหากมัวแต่กลัวความผิดพลาดก็จะไม่กล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรม”

                การเสนอทางออกของคุณกรณ์น่าสนใจตรงที่ว่าเขากำลังจะบอกว่าการเมืองแบบเดิมกำลังจะหมดยุค และหากยังทำการเมืองแบบเดิมอยู่ บ้านเมืองก็จะไปไม่ถึงไหน และอีกหน่อยก็ไม่สามารถจะแข่งขันกับใคร

                คำถามใหญ่ก็คือว่า คุณกรณ์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเมืองแบบ startup ได้หรือไม่

                คำถามแรกน่าจะอยู่ที่ว่า คุณกรณ์และผู้ก่อตั้งพรรคใหม่จะสามารถชักชวนคนในแวดวงสังคมทั้งในวงการธุรกิจ, วิชาการ, เอสเอ็มอี, คนในอาชีพอิสระต่างๆ มา “ทำการเมือง” อย่างจริงจังได้มากน้อยเพียงใด

                ต้องไม่ลืมว่าคนดีคนเก่งของประเทศยังมีความหวาดระแวงการเมือง เพราะภาพลักษณ์ของนักการเมืองยังไม่น่าเลื่อมใสเพียงพอที่จะทำให้คนกระโดดเข้ามาในวงการนี้

                คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อทำงานเพื่อบ้านเมืองมีไม่น้อย และคนที่มีความรู้ความสามารถก็ไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใหม่นี้จะให้ความมั่นใจว่าจะเป็น “การเมืองใหม่เพื่อความเปลี่ยนแปลง” จริงเพียงใด

                คำถามต่อมาคือ นโยบายหลักของพรรคใหม่จะแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาคุณกรณ์และคุณอรรถวิชช์ก็มีส่วนร่างนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้หาเสียงอย่างเป็นกิจจะลักษณะมาตลอด

                แต่นโยบายชุดนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงเพียงพอในการบริหารประเทศ ต้องกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่อาจจะแสดงฝีมือของการแก้ปัญหาระดับชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก

                ดังนั้นคงจะมีผู้คนสงสัยไม่น้อยว่านโยบายของพรรคใหม่นี้จะต่างไปจากแนวทางที่คุณกรณ์ได้ร่างให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

                ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ, การนำพาประเทศสู่ Thailand 4.0, การปฏิรูปการศึกษา, การสร้างความพร้อมของประเทศในด้านเทคโนโลยี, สังคมสูงวัย, การแก้ปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งวิธีป้องกันปัญหาวิกฤติภัยแล้ง และกรณีฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่รัฐบาลและฝ่ายค้านปัจจุบันยังไม่อาจจะเสนอทางออกที่ให้ความมั่นใจให้กับประชาชนได้

                คำถามต่อมาก็คือ การที่พรรคใหม่นี้หากมีนโยบายที่น่าเชื่อถือและสะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจจนประชาชนพร้อมจะเลือกเข้าไปทำงานระดับชาติแล้ว แนวทางการที่จะปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังได้จะเป็นเช่นไร

                เพราะหากจะเน้น “ปฏิบัตินิยม” แล้วไซร้ จุดทดสอบที่สำคัญที่สุดก็คือ การแปรนโยบายเหล่านั้นเป็นการกระทำอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

                ที่ผ่านมารัฐบาลและนักการเมืองทุกพรรคล้วนแล้วแต่ล้มเหลวในการปฏิรูประบบราชการ

                ซ้ำร้าย บ่อยครั้งนักการเมืองที่ขาดประสบการณ์และองค์ความรู้ยังต้องพึ่งพาข้าราชการประจำเพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายของตนด้วยซ้ำไป

                แม้ว่าคุณกรณ์และคุณอรรถวิชช์จะเน้นว่าจะไม่ติดกับดักของความขัดแย้งในสังคมไทยที่มีมายาวนานแล้ว แต่ก็หนีไม่พ้นว่าพรรคที่เสนอแนวทาง “การเมืองเพื่อความเปลี่ยนแปลง การเมืองกล้าคิดกล้าทำ” จะต้องบอกกล่าวให้ชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนนโยบายไปในสูตรใด

                ทุนนิยมเสรี, สังคมนิยม, หรือรัฐสวัสดิการ หรือการผสมผสานของหลักปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ที่จับต้องและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

                ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจน เราเห็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ทำการบ้าน เน้นการรวิเคราะห์บนพื้นของข้อมูลและหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช้วาทกรรมเพื่อสร้างภาพให้กับตนเอง

                เราเห็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่คิดและทำแบบเก่ากำลังจะถูกปฏิเสธ

                ดังนั้น “การเมืองเพื่อความเปลี่ยนแปลง” จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีและควรแก่การสนับสนุนหากสามารถแก้ pain points หลักๆ ของสังคมได้อย่างจริงจัง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"