(ยามที่ลูกหลานมีปัญหา การให้กำลังใจจากปู่ย่าตายายเป็นเรื่องที่สำคัญ)
โบราณว่าไว้ ผู้ใหญ่ย่อมเป็นที่พึ่งของลูกหลาน ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง เพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของปู่ย่าตาทวดนั้นถือเป็นสิ่งที่ล้ำค่า ซึ่งนำมาเป็นคำแนะนำให้กับลูกหลานได้ โดยเฉพาะสังคมในปัจจุบันที่ทุกอย่างเร่งรีบ และกระตุ้นให้คนยุคนี้แข่งขันกัน กระทั่งทำให้เกิดปัญหาความเครียดสะสม ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น งานนี้ปู่ย่าตายายสามารถเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับคนรุ่นลูกหลานได้ ล่าสุด อ.ศรีสมร คงพันธุ์ เจ้าของธุรกิจสอนทำอาหาร “โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ” ในฐานะคนรุ่นใหญ่ มาบอกถึงการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหลานยามที่ประสบปัญหาต่างๆ ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางการแข่งขัน และสภาวะแวดล้อมที่เคร่งเครียดไว้น่าสนใจ
(อ.ศรีสมร คงพันธุ์)
อ.ศรีสมร คงพันธุ์ บอกว่า “หลักของการให้คำปรึกษาลูกหลานที่ประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต อาทิ “ลูกหลานที่ตกงาน” ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคียง สิ่งที่ดีที่สุดคือ “การให้กำลังใจเขา” เพราะช่วงที่ประสบปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่าลูกหลานมักจะขาดกำลังใจ แต่ทั้งนี้ เราในฐานะผู้ใหญ่ก็ต้องหมั่นสังเกตว่า เขาต้องการอยากให้เราปลอบหรือไม่ หากลูกหลานต้องการ เราต้องพูดให้เขาใจเย็นๆ และให้กำลังใจในทำนองว่าต้องปรับตัวและอยู่ในสภาวะเหล่านี้ให้ได้
ประการสำคัญต้องหมั่นมาพูดคุยกันบ่อยๆ หรือถ้าหากอาศัยอยู่บ้านเดียวกันนั้น เวลาที่ลูกหลานกลับเข้าบ้านก็ควรถามว่า “เขาเหนื่อยไหม... กินอะไรมาหรือยัง...วันนี้ยายมีกับข้าวอร่อยๆ เดี๋ยวเรากินด้วยกันนะ” หรือหากไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันก็ให้ถามลูกหลานว่า “เสาร์-อาทิตย์นี้ว่างหรือเปล่า ถ้าว่างก็มากินข้าวด้วยกันนะ หนูอยากกินอะไร เดี๋ยวยายทำให้กิน” เพราะอย่าลืมว่าบางครั้งการแสดงความห่วงใยผ่านคำพูดและความปรารถนาดีของปู่ย่าตายาย จะทำให้ลูกหลานซึมซับและเข้าใจความหวังดีนั้นได้ ที่สำคัญก็จะทำให้ลูกหลานเกิดกำลังใจ และความผูกพันต่อผู้สูงวัย ดังนั้นเรื่องของการเป็นที่พึ่งของผู้ใหญ่ต่อบุตรหลาน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องค่อยๆ ทำด้วยความเข้าอกเข้าใจ นอกจากนี้ก็สามารถให้คำสอนดีๆ กับเขา เช่น ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองนั้น โดยเฉพาะการที่ “ลูกหลานไม่ควรคิดทำสิ่งต่างๆ ที่เกินตัว เพราะจะทำให้เขาผิดหวังได้ง่าย ถ้าหากว่าทำตามอย่างที่คิดไว้ไม่ได้ตามเป้าหมาย และเวลาที่ลูกหลานมีปัญหาต้องค่อยๆ คิด เพราะคนเรามีทำอะไรพลาดก็ต้องค่อยๆ คลานก่อนที่จะลุกเดิน ไม่ใช่วิ่งไปเลย”
(การที่ผู้สูงอายุใช้เวลาร่วมกับลูกหลาน จะทำให้พูดภาษาเดียวกัน และเด็กกล้าเข้ามาปรึกษาผู้ใหญ่มากขึ้น หากมีปัญหาและเรื่องไม่สบายใจ)
“สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากการให้กำลังลูกหลาน คือการที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเด็ก เช่น การที่เมื่อลูกหลานมีเพื่อน สิ่งสำคัญพ่อแม่ ผู้ใหญ่ควรให้เขาพาเพื่อนมาที่บ้าน เพราะจะทำให้เห็นและรู้จักกับเพื่อนลูก และเวลาที่เพื่อนของลูกมีปัญหา เราในฐานะคนเป็นพ่อแม่ก็ยังสามารถให้คำปรึกษากับเด็กๆ ได้ คือไม่ใช่แค่ว่าจะต้องให้กำลังใจลูกหลานของเราเพียงอย่างเดียว
เพราะพ่อแม่ยุคใหม่มักจะเลี้ยงลูกโดยให้เงินเป็นสำคัญ แต่ความเข้าใจลูกก็จะลดน้อยลง เพราะมีภารกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นเรื่องการเข้าใจเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แต่การที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจลูกหลานได้ดี ก็ต้องมีการพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าผู้ใหญ่ยุคใหม่ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของเด็ก เช่น ตัวอาจารย์ศรีสมรเองจะชอบนั่งฟังเพลงและดูทีวีกับหลานชาย โดยเฉพาะเวลาหลานดูรายการผจญภัย ย่าก็จะนั่งดูด้วย หรือเวลาที่หลานนั่งดูรายการเพลง เราก็จะนั่งดูกับเขาและถามเขาว่าเพลงนี้ใครร้อง เราต้องพยายามพูดคุยกับเขา เพื่อให้คุยภาษาเดียวกัน ดังนั้นเวลาที่เด็กมีปัญหาเขาก็จะกล้าปรึกษาเรา ที่สำคัญเด็กจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่กับเขาเป็นเพื่อนกัน และคุยกันได้ทุกเรื่อง”
อ.ศรีสมร บอกอีกว่า อันที่จริงแล้วเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ดังนั้นถ้าเราต้องการให้ลูกหลานเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนั้นๆ เช่น หากเราต้องการให้ลูกหลานพูดเพราะๆ เราก็ต้องพูดเพราะๆ กับเขา ยกตัวอย่างหลานชายของตัวเอง ที่เขามักจะไม่ชอบคำพูดไม่เพราะ ทั้งในทีวีที่เขาดู หรือในโรงเรียนของเขา ที่เพื่อนบางคนพูดไม่เพราะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ครูในโรงเรียนอบรมเขา เช่น การที่มีสัปดาห์ของการพูดเพราะ เช่น ให้เด็กพูด ผม คุณ ตลอดทั้งเดือนเป็นต้น และ อ.ศรีสมร เองก็มักจะไม่พูดคำหยาบคายกับเขา และก็มักจะสอนให้หลานพูดกับเพื่อนดีๆ เช่น “อันนี้ของตัว อันนี้ของเขา” เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเราเป็นตัวอย่างที่ดี เด็กก็จะซึมซับในสิ่งที่ดีจากผู้ใหญ่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |