เรือที่ชาวชุมชนต่อขึ้นมาเตรียมรับมือกับภัยน้ำท่วมเพื่อใช้ขนย้ายผู้คน
อุบลราชธานี/ ภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานและชาวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล จ.อุบลฯ จัดงานบายศรีสู่ขวัญ “เอิ้นขวัญ ฮ่วมแฮง ฮ่วมใจ สร้างวิถีชีวิตชุมชนใหม่รับมือภัยพิบัติ” เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติ โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างเรือแล้ว 12 ลำ แพ 1 ลำ พร้อมขนย้ายและอพยพชาวบ้านหากเกิดน้ำท่วมอีก พร้อมออกแถลง การณ์เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐเร่งจ่ายค่าชดเชยซ่อมแซมบ้าน และสนับสนุนงบประมาณไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากจังหวัดอุบลฯ และพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสานถูกอิทธิพลจากพายุโพดุลและคาจิกิพัดถล่มทำให้เกิดฝนตกหนัก มวลน้ำจากหลายจังหวัดไหลลงสู่แม่น้ำมูล โดยมวลน้ำมาบรรจบกันที่เขื่อนปากมูลก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง แต่เขื่อนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้ให้เกิดน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะบริเวณชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบบางพื้นที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 10 เมตร ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายประมาณ 4,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับการช่วยเหลือการซ่อมแซมบ้านจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถานทูตแคนาดา ร่วมกันจัดงานบายศรีสู่ขวัญ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมคืนสู่ชุมชน “เอิ้นขวัญ ฮ่วมแฮง ฮ่วมใจ สร้างวิถีชีวิตชุมชนใหม่รับมือภัยพิบัติ” ที่โรงเรียนบ้านหาดสวนยา เทศบาลตำบลวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติ โดยมีนายธนาคม กองเพียร นายอำเภอวารินชำราบเป็นประธานในพิธี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
นายศราวุธ เผ่าภูรี ตัวแทนชุมชนผู้ประสบภัย กล่าวว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา น้ำมาแรงมาก ตนเกิดมาตอนนี้อายุ 40 กว่าปียังไม่เคยเจอ ช่วงวันที่ 30 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2562 น้ำขึ้นวันละ 1 เมตร สูงสุด 2 เมตรกว่า ขึ้นเร็วและขึ้นแรง ทำให้ชาวบ้านเตรียมรับมือไม่ทัน และไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐ ชุมชนมีการอพยพ 2 ครั้ง เบื้องต้นก็ได้รับการช่วยเหลือจากทางวัด ซึ่งตนเองยังติดใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะมีการผันน้ำจากจังหวัดต่างๆ มาที่อุบลฯ ทำให้เกิดน้ำท่วม
“น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้รู้ว่าพี่น้องต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยตอนนี้ได้มีการทำแพเพื่อรับมือ ลดความสูญเสีย และต้องมีการเตรียมเรือ ซึ่งจะต้องใช้เรือใหญ่เพราะน้ำมูลไหลแรง เอาไว้ใช้สำหรับขนของและอพยพผู้คน และไว้เฝ้าระวังข้าวของเพราะที่ผ่านมามีการลักขโมย ส่วนเรื่องไฟฟ้าเมื่อเกิดน้ำท่วมจะมีการตัดไฟ ชาวบ้านจึงต้องใช้แบตเตอรี่แต่ไม่สะดวก ซึ่งต่อไปจะมีการใช้โซล่าเซลล์แทน นอกจากนี้จะมีการเตรียมอาสาสมัคร มีการซ้อม เตรียมยารักษาโรค เพราะปีที่ผ่านมาชาวบ้านมีความประมาททำให้เกิดความเสียหายมาก และอยากให้ทางรัฐเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จะช่วยลดความเสียหายได้มาก” ตัวแทนผู้ประสบภัยกล่าว
เวทีเสวนา
นางจำปี มรดก ชาวบ้านชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ เล่าว่า ปีนี้ชุมชนไม่ได้เตรียมการรับมือ เมื่อเกิดน้ำท่วมจึงได้รับความเสียหายมาก เพราะเราไม่มีประสบการณ์น้ำท่วมมานาน จึงมีปัญหาเรื่องการขนย้าย ได้บทเรียนว่าต้องมีการศึกษาข้อมูล ต้องทำข้อมูลเรื่องน้ำ และตอนที่ประสบภัยนั้นเรือก็ไม่มี มีเรือทหารเพียงลำเดียวที่จะมาอพยพคน 53 ครอบครัว แต่เราเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ (คปสม.) จึงประสานการช่วยเหลือกัน
“ชุมชนทุกชุมชนต้องเตรียมเรือของชุมชน มีอาสาสมัคร มีข้อมูล มีการสื่อสาร จะได้มีการเตรียมเรือช่วยเหลือกันเองได้ ซึ่งตอนนี้มีการเตรียมเรือไว้แล้ว 5 ลำ และมีอาสาสมัครพร้อมรับมือ จึงอยากให้หน่วยงานสนับสนุนให้พี่น้องมีเรือ ช่วยให้พี่น้องมีความเข้มแข็งสามารถอยู่กับน้ำ อยู่ในชุมชนได้ และไม่ต้องการอพยพไปไกลบ้าน” ชาวบ้านรายนี้กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีมนต์สง่า ลีลาศสง่างาม รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การรับมือน้ำท่วมต่อไป จะมีการนำข้อมูลโทรศัพท์มือถือของชาวบ้านเพื่อการแจ้งเตือนให้เข้าถึงข้อมูล และสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ การรับถุงยังชีพอย่างทั่วถึง ปีนี้สื่อโซเชียลมาแรง ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูล โดยเฉพาะในเฟสบุ๊ค ทำให้คนทั่วไปเห็นความเดือดร้อนและมีการแชร์ต่อ นับว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะมีการเติมต่อข้อมูลในทางลบ ส่วนปีนี้คิดว่าในอีสาน 17 จังหวัดน้ำจะมาลงที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งต้องดูว่าพายุจะเข้าหรือไม่ น้ำโขงจะหนุนหรือไม่ ในส่วนของจังหวัดจะนำสมาร์ทโฟนมาใช้ประโยชน์ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องสมาร์ทซิตี้
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขอให้กำลังใจพี่น้องที่มีความรักสามัคคี ปัญหาภัยพิบัติเป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนความรู้เดิม เส้นทางน้ำมีการเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งเป็นบทเรียนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จะต้องมีความรวดเร็วมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการดำรงตนของชุมชน ต้องมีการรวมตัวกัน หาที่พักที่ปลอดภัย ดูแลทรัพย์สินบ้านเรือน ชุมชนต้องมีแผนการรับมือในอนาคต ใช้โอกาสปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในทุกมิติ และชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เรื่องภัยพิบัติ เราต้องให้ชุมชนรับรู้ข้อมูล วางแผนระยะเผชิญเหตุ และส่วนราชการเข้ามาหนุนเสริม
นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า เรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญมาก มูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับ พอช.ทำงานเรื่องภัยพิบัติกันมาตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิปี 2547 และนำบทเรียนไปปรับใช้ในพื้นที่ต่างๆ แม้ระบบการจัดการภัยพิบัติของไทยจะอยู่ท้ายๆ ของโลก แต่การฟื้นฟูภัยพิบัติของประเทศไทยดีมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ซึ่งโดยรวมเราดีกว่าหลายๆ ประเทศ การจัดการภัยพิบัติ เรากลายเป็นโมเดล 1 ใน 3 ของโลกที่ให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดการรับมือภัยพิบัติ เป็นบทเรียนที่เราได้สรุป เพราะการรับมืออย่าไปหวังพึ่งราชการหรือหน่วยงาน แต่ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการพึ่งตนเอง และชุมชนต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้หน่วยงานๆ มาสนับสนุน
“ที่ผ่านมาเราหวังให้หน่วยงานมาบอกแจ้งเตือนเราให้อพยพ เรื่องน้ำต้องมีการให้ข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ให้ข้อมูลจึงไม่มีการแจ้งเตือน เราจะสื่อสารเพื่อการเตือนภัยประชาชนอย่างไร เราต้องมีเครือข่ายในการสื่อสารเตือนภัย ประชาชนจะอยู่รอดอย่างไร ต้องมีการเตรียมพร้อมชุมชนให้พร้อมรับมือ จะรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารับมือจัดการ เช่น เริ่มมีการต่อเรือจากลำแรกขณะนี้มีจำนวน 12 ลำ และเราจะทำอย่างไรให้นโยบายของรัฐบาลมีการใช้งบประมาณในเรื่องการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน จากการศึกษาโมเดลที่ชุมชนต่างๆ ได้ดำเนินการมา เพื่อเป็นทางเลือกและทางรอดจากภัยพิบัติ” นายไมตรีเสนอความเห็น
ต่อแพเตรียมรับมือภัยพิบัติ
ในการจัดงานบายศรีสู่ขวัญในครั้งนี้ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.) ได้ออกแถลงการณ์ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ให้เร่งรัด เร่งด่วน ในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ
2.ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ให้ชุมชน เช่น การต่อเรือ สร้างแพลอยน้ำ หอเตือนภัย เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ 3.ให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมาย และมีนโยบายส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เช่น การจัดตั้งครัวกลาง โดยให้ผู้ประสบภัยดูแลกันเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม พร้อมสนับสนุนงบประมาณไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ
บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
4.จัดให้มีศูนย์ภัยพิบัติชุมชนที่ประกอบด้วย การฝึกให้มีอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน มีข้อมูลเสี่ยงภัย มีอุปกรณ์ เครื่องมือในการลดการเสี่ยงภัย 5.จัดศูนย์อพยพให้มีมาตรฐาน มีที่พัก ห้องน้ำ โรงครัว และอยู่ใกล้บริเวณบ้าน 6.ปรับปรุงระบบเตือนภัย และระบบข้อมูลให้มีเอกภาพ มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าถึงชุมชนได้หลายช่องทาง
7.จัดทำแผนชุมชนทุกมิติ ไม่เฉพาะแผนภัยพิบัติ 8.จัดให้มีการสื่อสาร เชื่อมโยง ขยายเครือข่าย เพื่อการเตือนภัยระดับชุมชนและเครือข่าย 9.นำการจัดการองค์ความรู้มาใช้ในระบบการเตือนภัย และ 10. เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับจังหวัดและประเทศ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |