เหตุผลของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ที่ละชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เพราะมองว่ามีแต่ข้อมูลเก่า
“ที่ไม่เห็นด้วยในการใส่ชื่อ พล.อ.ประวิตร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้นั้น เนื่องจากเห็นว่าหากเป็นข้อมูลเก่า อย่างเรื่องบัญชีทรัพย์สิน แหวนและนาฬิกา ประเด็นนี้ถือว่ามันจบไปแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการชี้มูล วินิจฉัยแล้วว่าไม่ผิด ดังนั้นหากฝ่ายค้านจะไปอภิปรายในประเด็นนี้ ก็เท่ากับว่าไม่ยอมรับการตัดสินของ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำคนที่อภิปรายต้องรับผิดชอบตัวเอง อาจจะมีความผิดติดคุกกันได้”
อย่างไรก็ดี แม้ในแง่กฎหมายจะฟังขึ้นว่า เป็นเรื่องเก่าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกคำร้องไปแล้ว จึงไม่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อเป็นคดีความได้
เหมือนกับบรรทัดฐานในอดีต ที่การเปิดแผลจากฝ่ายค้านมักเริ่มจากเวทีซักฟอกก่อน แล้วค่อยนำเรื่องไปร้องต่อองค์กรอิสระ เฉกเช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก เปิดประเด็นการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในสภาฯ ก่อน แล้วจึงไปสู่มือ ป.ป.ช.
หากแต่มุมมองจากภายนอกที่มีต่อการตัดสินใจตัดชื่อ “บิ๊กป้อม” ออกจากลิสต์รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ร.ต.อ.เฉลิมนั้น ดูมีพิรุธ
มีความย้อนแย้ง ทั้งในตัวตนของ ร.ต.อ.เฉลิม และทั้งในแง่ความเป็นจริง แม้จะอ้างว่า การโค่น บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ไม่ต่างอะไรกับการล้มรัฐบาล ในฐานะผู้นำ
หากแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ควรจะมี “บิ๊กป้อม” พ่วงเข้าไปด้วย ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และศูนย์กลางอำนาจที่แท้จริงตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงปัจจุบัน
การตัดสินใจหลายเรื่องทั้งบนดินและใต้ดิน ต่างต้องได้รับสัญญาณไฟเขียวจาก “บ้านมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” แทบทั้งสิ้น
ในยุค คสช.ต่อเนื่องมาถึงยุคนี้ ข่าวคราวไม่ดีมักจะถูกจับโยงไปถึงพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ประหนึ่งว่า “บิ๊กป้อม” คือ “มิสเตอร์สายล่อฟ้า” และ “หมู่บ้านกระสุนตก”
ควรจะเป็น 1 ใน 2 รายชื่อแรกของฝ่ายค้านที่จะพุ่งเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่ง “บิ๊กป้อม” ไม่ค่อยถนัดการพูด ยิ่งเข้าทางประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทยอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม ที่มีลีลาและวาทศิลป์
แต่ชื่อของ พล.อ.ประวิตร กลับหลุด หลุดชนิดที่ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยหลายคนไม่เห็นด้วย และพยายามเรียกร้องให้ใส่ชื่อเอาไว้ดังเดิม
การให้เหตุผลว่า การอภิปรายเรื่องเก่าของ พล.อ.ประวิตร จะนำไปสู่การถูกฟ้องกลับ สวนทางกับตัวตน ร.ต.อ.เฉลิม ที่เคยลุกขึ้นยืนซักฟอกอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมในอดีต
การยืนยันว่า เรื่องจบไปแล้ว ขัดแย้งกับลิสต์รัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ ร.ต.อ.เฉลิมเลือกมาให้ทีมงานเอาไปเชือดในสภาผู้แทนราษฎร
เพราะประเด็นที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ล้วนแล้วแต่อดีตรัฐมนตรีในยุค คสช. ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเก่าเฉกเช่นเดียวกัน
หัวข้อหลักของฝ่ายค้านในการอภิปรายเองก็เน้นการผสมเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่ เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เพิ่งจะบริหารราชการแผ่นดินมาได้เพียง 5-6 เดือน
ความลักลั่นในตัว ร.ต.อ.เฉลิม มาพร้อมๆ กับข่าวลือว่ามี ซุปเปอร์ดีล ระหว่างคนในรัฐบาลกับ “บ้านริมคลอง” อันเป็นเหตุให้ “บิ๊กป้อม” ไม่ปรากฏชื่อในบัญชีเชือด
และในทันทีที่เกิดข่าวลือ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึง “งูเห่าระดับพญานาค” ราวกับขยายให้เห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องที่คนกำลังพูดถึง
"รายชื่ออภิปรายได้แค่บรรดาน้องๆ ส่วนพี่ใหญ่เอาไว้ใช้ขู่เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน อย่างงี้งูเห่าแบบ 12 ตัวนั้น มันยังไม่มีบารมีทำได้ และยังยอมรับว่าเป็นงูเห่าแบบหน้าชื่นตาบาน แต่ไอ้ที่อยู่เบื้องหลังนี่สิ น่าจะเรียกว่า เผด็จการฝ่ายค้านไปเลยก็ได้ ผมเห็นชัดเหมือน 10 ปีก่อน ที่จับปลาไหลคามือมาแล้ว การเมืองไม่ได้เปลี่ยนเลยสักนิด เล่นการเมืองแบบนี้มันลึกซึ้งนัก ได้ประโยชน์มากกว่า แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล งูเห่าระดับพญานาค หรือจะเรียกว่าระดับอนาคอนด้า ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นในสภาฯ เหมือนระดับงูเห่ากระจอกๆ บารมีก็ได้ ชื่อก็ไม่เสีย ไม่ต้องให้คนด่า ไม่ต้องไปวิ่งไล่ใครให้เห็น ไม่ต้องห่วงว่าจะโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ เพราะมีคนไปร้องให้กวนใจ นั่งจิบไวน์สบายแฮที่บ้าน”
ในขณะที่เหล็กกำลังร้อน การปฏิเสธจากนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กรณีความพยายามวิ่งล็อบบี้จากฝ่ายรัฐบาล ดูจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักถึงข้อสันนิษฐานเรื่องนี้ให้ดูร้อนแรง โดยเฉพาะการพบปะกัน
“ระแวงกันไปเอง เพราะผู้ใหญ่ของพรรคคุยกันได้ทุกฝ่าย แต่ทุกคนก็ต้องมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเราก็คุย มีการดื่มไวน์ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ว่ากินแล้วจะซูเอี๋ยกันทุกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยในตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่แม้จะไม่ได้เข้าสภาฯ มาอภิปรายเอง แต่ถือว่ามีอำนาจในการตัดสินเลือกบุคคล ในฐานะตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ ซึ่งไม่ได้แต่งตั้งขึ้นเอง หากแต่ได้รับฉันทานุมัติมาจากคนแดนไกล
พรรคเพื่อไทยคือพี่ใหญ่ของฝ่ายค้านในศึกนี้ ในฐานะที่มีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ได้รับการจัดสรรเวลามากกว่าพรรคอื่นๆ แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือจะไม่เห็นด้วยที่จะตัดชื่อ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
ทว่า การอภิปรายก็คงทำได้ไม่เต็มที่ เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ จะได้เวลาลดหลั่นกันไปตามสัดส่วนจำนวนสมาชิก ทำได้แค่เพียงแตะ แต่ไม่ถึงชำแหละ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย
ดังนั้นหากมีใครสักคนต้องการจะหลบเลี่ยงคมหอกคมดาบในการอภิปราย “บ้านริมคลอง” จึงเป็นเป้าแรกๆ ที่ถนนทุกสายจะมุ่งตรงไป
ประเด็นสำคัญของการไร้ชื่อ “บิ๊กป้อม” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่เพราะจะขาดสีสัน หรือความสะใจ หากแต่กำลังสะท้อนถึงทิศทางการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
เริ่มตั้งแต่ กระแส “งูเห่า” ที่ไหลทะลักจากฟากฝ่ายค้านมาสู่อ้อมกอดรัฐบาล แลกกับคดีความ และประโยชน์โพดผลอื่นๆ ทำให้ช่องว่างที่เคย “ปริ่มน้ำ” ค่อยๆ สู่โซนปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ
สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและความเป็นปึกแผ่นของฝ่ายค้าน
มาถึงกรณี “ดีลลับ” ที่หากเป็นจริง เท่ากับว่าระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ
“ฝ่ายรัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” มีรอยเชื่อมไปสู่การ “เกี๊ยเซียะ” นั่นยิ่งทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารมีมากขึ้นกว่าเดิม และยิ่งมีมากเท่าไหร่ยิ่งอันตราย ดังบทเรียนในอดีต
ระบบตรวจสอบพัง ประชาชนหมดศรัทธา จะกลายเป็นหัวเชื้อสู่คลื่นความขัดแย้งระลอกใหม่ในอนาคต เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายๆ ครั้ง!!!
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |