คดียุบ อนค.ถ้าตัดสินไม่มีเหตุผล การเมืองนอกรัฐสภาจะรุนแรง
การเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาถูกประเมินจากหลายฝ่ายว่า มีแนวโน้มก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา 12 มกราคม กิจกรรมทั้งวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุง มีคนมาร่วมกิจกรรมกันมากพอสมควร โดยฝ่ายผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงประกาศจะเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เช่น เดือนหน้า 2 ก.พ. จะไปจัดที่เชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการประเมินกันว่าหากสุดท้าย พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็นจากคดีล้มล้างการปกครอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย อังคารนี้ 21 ม.ค. หรือจากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การเมืองนอกรัฐสภาเกิดขึ้นแน่นอน
มุมวิเคราะห์และการคาดการณ์บริบทการเมืองไทยต่อจากนี้จากนักรัฐศาสตร์ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยต่อจากนี้ โดยเฉพาะเรื่องผลพวงคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และการเมืองบนท้องถนน ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
เริ่มต้นที่การวิเคราะห์เรื่อง คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่หลายฝ่ายจับตากันอยู่ โดยนักรัฐศาสตร์ผู้นี้มองว่า หากมีการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่โดยที่คำวินิจฉัยของศาล รธน.มีเหตุผลเพียงพอ ไม่เลือกปฏิบัติ มีการอธิบายเหตุผลผ่านสื่อ เช่น โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น จัดเวทีให้นักวิชาการได้พูดคุยถึงคำวินิจฉัยดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้เห็นแง่มุมของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าคำวินิจฉัยมีเหตุมีผล ไม่เลือกปฏิบัติ ผมก็คิดว่ายังไงอนาคตใหม่หากจะไปเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอะไร ก็คงไม่บานปลายมาก แต่ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบไม่มีเหตุผล และถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ แน่นอนว่าก็จะมีแรงส่งทำให้คนออกมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
-มองอย่างไรกับคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่เรื่องล้มล้างการปกครอง ที่จะอ่านคำวินิจฉัยอังคาร 21 ม.ค. มีน้ำหนักหรือไม่ โดยเฉพาะการยกเหตุการณ์ในอดีตของแกนนำพรรคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช ที่เป็นเรื่องก่อนเข้าสู่การเมืองหรือร้องเรื่องโลโก้พรรคเหมือนกับสัญลักษณ์ของกลุ่มอิลลูมินาติ?
คำร้องของคุณณฐพร โตประยูร เรื่องสัญลักษณ์พรรคคล้ายกับของ "อิลลูมินาติ" คงไม่เกี่ยว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอิลลูมินาติเลย มันก็มีมูลพออยู่ระดับหนึ่ง ผมคิดว่าเขาชัดเจนตรงที่ว่า เขาอาจจะต้องการให้อย่างน้อยๆ ที่สุด ก็คือลดทอนพระราชอำนาจหรือทำให้ สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ตามความเข้าใจของเขา นั่นคืออย่างน้อย อย่างมากก็คือว่า ให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เขาจะใช้วิถีทางรัฐสภาในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการแบบปฏิวัติอะไรแบบนั้น เขาถึงเข้ามา เขาถึงตั้งพรรค เข้ามาเล่นการเมือง แล้วก็ต่อสู้ในสภาฯ เพราะว่ามันมีตัวอย่างของบางประเทศที่เขาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบสาธารณรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ เช่น ที่เนปาล ที่ไปเปลี่ยนแปลงในสภาฯ เลย คำว่าล้มล้าง ก็ต้องไปตีความว่าคุณใช้วิถีทางนอกสภาฯ หรือไม่ หรือว่าการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเปลี่ยนด้วยวิถีทางของรัฐสภา อันนั้นต้องตีความ
...คือคนร้องเขาก็มีสิทธิ์บอกว่าคนคนนี้มีพฤติกรรม มีทัศนคติแบบนี้มาตลอดเลย สอดคล้องกันมาตลอด แม้กระทั่งเมื่อตั้งพรรคการเมือง ในข้อบังคับพรรคก็ยังไม่มีข้อความคำว่า พระมหากษัตริย์เลย ประเด็นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องรับฟังความเห็นของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ หรือว่ามีข้อมูลมาอธิบายหรือไม่ จะยืนยันหรือไม่ว่าไม่ได้มีเจตนาอะไรต่างๆ ก็ว่าไป เช่น ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
-คิดว่าคำร้องนี้มีน้ำหนักหรือไม่?
ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตีความคำว่า "ล้มล้าง" อย่างไร อย่างสมมุติว่าเขาไม่ได้เข้ามาในการเมือง เขาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่การสอนหนังสือก็มีเสรีภาพทางวิชาการที่จะอธิบายว่าระบอบนี้ดีอย่างไร ระบอบนั้นมีข้อเสียอย่างไร แต่เมื่อพอคุณเข้ามาเล่นการเมือง คุณก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาเยอะขึ้น ก่อนหน้านี้ ทั้งคุณธนาธร ปิยบุตร และคุณช่อ พรรณิการ์ เขาไม่ได้เป็นนักการเมือง อาจเป็นนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน เขาก็มีเสรีภาพที่จะคิด จะพูด แต่เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง ก็มีกติกาคือเล่นการเมืองภายใต้กติกานี้ แต่ผมสันนิษฐานว่าเขาจะใช้รัฐสภาค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ค่อยๆ เปลี่ยน จะเรียกว่าล้มล้างหรือไม่? อันนี้ก็ไม่รู้ แต่ก็ดีกว่าจะไปซ่องสุมกำลังอาวุธหรือไม่
-วันที่ 21 มกราคมนี้ หากสุดท้ายมีการวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ คิดว่าคนจะรับได้หรือไม่?
ก็ต้องอธิบาย แต่อย่างในเยอรมัน หากพวกนาซี จะตั้งพรรคการเมืองไม่ได้เลย คือหากตั้งพรรคมาแล้วจะมีแนวโน้มเป็นแบบพวกนาซี เขาก็ต้องยุบพรรค คือแต่ละประเทศ เขาก็จะมีเงื่อนไขของการที่จะล้มล้างการปกครอง มันมีประเด็นของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เยอรมันเขาชัดเจนว่าพวกแบบนาซี เขารับไม่ได้ หากจะมาตั้งพรรคการเมืองอะไรแบบนี้อีก ก็ต้องถูกยุบ แต่ของเรา ประเด็นของเราคือ พรรคอะไรที่จะเป็นปฏิปักษ์กับสถาบัน แต่ละประเทศก็จะมีเรื่อง "ต้องห้าม" บางอย่างที่จะไม่เหมือนกัน
ส่วนเรื่องคำร้องคดีกู้เงิน 191 ล้านบาท สมมุติว่า ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 มีการตีความให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ แต่ประเด็นคือการที่พรรคการเมืองกู้เงินหัวหน้าพรรคถึง 191 ล้านบาท มันก็แสดงให้เห็นว่ามันจะเกิดการครอบงำขึ้น อย่างข้อมูลพรรคการเมือง 17 พรรคที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เปิดเผยมา หากไปดูจะพบว่ามีเงินจำนวนหนึ่ง มีหลายพรรคที่ชัดเจนว่าเป็นเงินยืนเพื่อสำรองจ่าย
...กกต.ของสหรัฐอเมริกา เขาตอบคำถามลูกชายผมที่ส่งคำถามไปถาม เขาแยกแยะให้เห็นว่า เงินทดลองจ่ายคือขอมาเพื่อทดลองจ่าย ส่วนเงินกู้ก็แยกมาต่างหาก แต่เงินกู้ ถ้ากู้สถาบันการเงินถือเป็นหนี้สิน อย่างที่กรีซ พรรคการเมืองในกรีซ เขาก็กู้ธนาคาร แต่ถ้ากู้คณะบุคคล-ปัจเจกบุคคล กู้แบบส่วนตัว กกต.สหรัฐเขามองว่า เงินกู้นี้ถือเป็นรายได้ จนกว่าจะใช้คืนหมด หากไม่เขียนถือเป็นรายได้ ประเด็นคือ เช่น คุณเป็นหัวหน้าพรรคแล้วให้พรรคกู้เงิน แล้วทำแบบสบายๆ เช่น พรรคมีการให้ดอกเบี้ย แต่จะให้จริงหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบ ถ้าอนุญาตให้ทำกันแบบนี้ ก็หมายถึงคุณก็จะมีอิทธิพลในพรรคมหาศาลเลย กกต.สหรัฐเลยเห็นว่าแบบนี้ให้ถือเป็นรายได้จนกว่าจะใช้คืนหมด แต่เขาก็เขียนบอกไว้ว่าการกู้ดังกล่าวแม้เป็นรายได้ แต่ก็มีเพดานห้ามไว้ไม่ให้เกินจำนวนตามที่กำหนดที่ก็ให้เพดานการกู้ไว้ไม่มาก กรณีของคุณธนาธร หากให้กู้เงิน เช่น 10 ล้าน ก็ยังไม่น่าเกลียด หรือ 40 ล้าน แต่ต่อรองกันได้ว่า ให้กู้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน แต่ถึงเวลาก็จบ แต่อันนี้ให้กู้ 191 ล้านบาท มันเยอะ แล้วจะใช้อะไรกันขนาดไหน
เจตนารมณ์ของการออกกฎหมายพรรคการเมืองคือไม่ต้องการให้พรรคการเมืองอยู่ภายใต้อำนาจ อิทธิพลของใครคนใดคนหนึ่ง ผมก็คิดว่าไม่มีประเทศไหนยอมรับได้ ที่หัวหน้าพรรคจะให้เงินกู้กับพรรคการเมืองเป็นจำนวนเงินมหาศาลขนาดนี้ มันพิสดาร แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
ถามถึงการสร้างวาทกรรม law fare นิติสงคราม ที่คนของพรรคอนาคตใหม่พูดเรื่องนี้ จะทำให้คนเกิดความรู้สึกร่วมไปด้วยมองว่า ทำไมจ้องเล่นงานแต่พรรคอนาคตใหม่ หลังก่อนหน้านี้ธนาธรก็โดนคดีถือหุ้นสื่อหรือไม่ ศ.ดร.ไชยันต์ มีทัศนะว่า ถ้าคนรับสารแบบไม่คิด ไม่ศึกษาข้อมูล โดยมีการส่งข้อมูลออกไปว่ามีการกลั่นแกล้ง โดนอะไรต่างๆ แล้วสร้างวาทกรรมว่ามีการใช้อำนาจไล่บี้ ก็อาจมีคนที่เชื่อสิ่งเหล่านี้ได้ หากคนไปเชื่อข้อมูลเช่น ที่เป็นข้อความสั้นๆ เช่น มีการกลั่นแกล้ง แล้วส่งกันตามโซเชียล เช่น line โดยมีการทำแบนเนอร์ประกอบ ถ้าคนรับสารกันแค่นี้ก็อาจมีปัญหา ทุกฝ่ายจึงต้องตั้งคำถาม ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการสื่อสารถึงเหตุผลคำตัดสินที่จะออกมาต้องสื่อสารมากๆ และให้นักวิชาการได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ถึงผลคำวินิจฉัยว่าการตัดสินดังกล่าวอยู่บนฐานคิดอะไรโดยไม่ได้มาเอาผิดเรื่องการหมิ่นศาล
“หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่มีเหตุผลเพียงพอและไม่เลือกปฏิบัติ แม้ว่าอนาคตใหม่จะขับเคลื่อนทางการเมืองนอกสภาฯ ก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไรมาก และไม่ควรมีการขับเคลื่อนคู่ขนานวัดปริมาณแข่งขันกัน ที่สำคัญคือ จะต้องใช้กระแสโซเชียลอธิบายความอย่างมีประสิทธิภาพกว้างขวางเพียงพอด้วย แต่ถ้าคำวินิจฉัยไม่มีเหตุผลและเกิดการเลือกปฏิบัติ การเมืองนอกสภาฯ ก็จะรุนแรง และยิ่งมีคู่ขัดแย้งลงไปเล่นการเมืองนอกสภาฯ อีกด้วยแล้ว การเมืองไทยคงไม่พ้นวังวนเดิมๆ”
..................................
พลิ้ว-ยื้อ ไม่แก้ไข รธน. ตัวเร่งการเมืองบนท้องถนน
ศ.ดร.ไชยันต์-นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ กล่าวถึงปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้จัดกิจกรรมทั้งวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงที่ผู้จัดประกาศจะเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไปในอนาคตว่า การเกิดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้มีคำอธิบาย 2 ระดับ ระดับแรกคือ ในช่วง 5 ปีหลังรัฐประหาร มีกฎหมายห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้ใกล้เลือกตั้ง ก็ยังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง แต่หลังจากปลดล็อกแล้ว ก็เริ่มมีการทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะที่เคยเห็นในช่วงเวลา 10 กว่าปีมานี้ ซึ่งอันนี้น่าจะเข้าสู่คำอธิบายระดับต่อมา นั่นคือ จากการมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทำให้กลุ่มที่คิดจะจัดการชุมนุมต้องระมัดระวังมาก เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องการให้การชุมนุมไม่ยืดเยื้อ บานปลาย ที่ทำให้เกิดการประลองปริมาณกำลังคนของแต่ละขั้วการเมือง จนในที่สุดส่งผลให้เกิดการใช้ชีวิตประจำวัน การค้า การทำธุรกิจชะงักงันเสียหาย
...อีกทั้งการชุมนุมยื้อเยื้อนานๆ จำเป็นต้องมีทุนสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเวที เครื่องเสียง เต็นท์ ไฟฟ้า อาหารการกิน ฯลฯ ทำให้การชุมนุมที่ยืดเยื้อมีราคาต้นทุนที่ต้องจ่าย และเมื่อนานเข้าจะยุติไปเฉยๆ ก็ไม่ได้ จึงนำไปสู่การสร้างสถานการณ์ให้สุกงอม ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายกฎหมายในทุกรูปแบบ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการจลาจล มือที่สาม ม็อบชนม็อบ อันเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ออกมาก็เพื่อจะไม่ให้เกิดเงื่อนไขดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองฝ่ายไหนก็ตาม ถ้าพิจารณาคู่ขัดแย้งเดิมในช่วงเวลา 10 กว่าปีมานี้
...ผมเห็นว่า หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนเข็นคนออกมาบนท้องถนนก่อน ฝ่ายนั้นจะเสียทันที เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเซ็งเบื่อกับการเมืองบนท้องถนนอยู่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครจะเอาคนลงท้องถนนจริงๆ เพราะแม้แต่อนาคตใหม่ก็ยังนัดแบบเบาๆ ที่สกายวอล์ก และมีการเลี่ยงบาลีใช้การวิ่งเป็นการขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนจะซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นคือถ้าฝ่ายหนึ่งทำได้ อีกฝ่ายก็ต้องทำได้ ดังนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งศรีธนญชัยอ้างว่าเป็นการวิ่ง แต่วิ่งไล่ลุง อีกฝ่ายหนึ่งก็เอาบ้าง เป็นวิ่งเชียร์ลุง และถ้าเดือนหน้ามีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เชียงใหม่อีก ก็เชื่อว่าจะมีกิจกรรมวิ่งเชียร์ลุงในต่างจังหวัดด้วย
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อว่า แต่ภายในกิจกรรมการวิ่ง ไม่ว่าจะวิ่งไล่หรือวิ่งเชียร์ มันเป็นการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองเห็นๆ เช่น การที่มีกลุ่มคนที่มาวิ่งยืนรวมตัวกัน และมีคนที่ขึ้นไปเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ตะโกนชื่อประยุทธ์ และฝูงชนตะโกนว่า ออกไป ซ้ำๆ แบบนี้หลายรอบ มันคือการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองเห็นๆ และก็เช่นกัน ในการวิ่งไล่ลุงก็มีการใช้ส้ม หรืออะไรต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และมีการแสดงความไม่พอใจโกรธแค้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะนี้แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยังไม่ได้แจ้งว่าตนจัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ก็กระทำแบบศรีธนญชัย ซึ่งสะท้อนว่า ต่อให้ออกกฎหมายมายังไง แต่ความเป็นสังคมศรีธนญชัยก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหาอยู่ดี แต่กระนั้นการมี พ.ร.บ. ก็ดีกว่าไม่มี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ยังไม่มีใครตัดสินใจประกาศตัวชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ. เพราะ พ.ร.บ.ตัวนี้เรียกร้องความรับผิดชอบจากแกนนำผู้เป็นผู้จัดการการชุมนุม ที่จะต้องควบคุมดูแลผู้คนที่เข้ามาชุมนุมให้ได้ หากไม่ได้ พ.ร.บ.ตัวนี้ก็กำหนดว่ามีความจำเป็นต้องยุติการชุมนุม แต่หากยังฝืนชุมนุมต่อไป ผู้จัดการการชุมนุมก็จะต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ยิ่งบ้านเรามีเรื่องมือที่สามตลอดมา ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่จะเข็นคนลงท้องถนนเป็นการชุมนุมสาธารณะภายใต้ พ.ร.บ.ตัวนี้ก็ต้องคิดหนัก
“ถ้ามีการเลี่ยงบาลีศรีธนญชัยโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่า โดยธรรมชาติของการต่อสู้ทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย ก็จะขยายผลขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ทั้ง 2 ฝ่าย โดยเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ วันหนึ่งการลงท้องถนนโดยไม่สนใจกฎหมายย่อมจะต้องเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย”
เมื่อขอให้ประเมินสถานการณ์การเมืองนอกรัฐสภาต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะขณะเดียวกัน กลุ่มนักการเมือง เช่น ฝ่าย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรค รปช. ก็ยังจัดกิจกรรมต่อต้านลัทธิชังชาติอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไปด้วย ศ.ดร.ไชยันต์ ให้ทัศนะว่า ที่จริงการเมืองนอกสภาฯ ที่แรงๆ อันแรกก็คือ สกายวอล์ก สาเหตุหลักมาจากความไม่พอใจของแกนนำอนาคตใหม่ต่อคดีความต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค และถ้าแรงที่สุดก็คือ ยุบพรรค แม้ว่ากิจกรรมที่สกายวอล์กจะไม่ได้กล่าวถึงคดีความ แต่ออกมาประกาศว่าไม่เอาเผด็จการ ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ และต้องการเปลี่ยนประเทศ แต่ถ้าคดีความเหล่านั้น ผลคำวินิจฉัยไม่มีการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ไม่มีการยุบพรรค อนาคตใหม่ก็จะถูกคำพูดของตัวเองที่ประกาศไปผูกมัดตัวเองหากไม่เล่นการเมืองนอกสภาฯ เพื่อล้มล้างเผด็จการ และต่อต้านการสืบทอดอำนาจ เปลี่ยนประเทศ และถ้าไม่เล่นการเมืองนอกสภาฯ ต่อ ผู้คนจำนวนหนึ่งก็จะประจักษ์ว่า การขับเคลื่อนการเมืองนอกสภาฯ ภายใต้ข้อเรียกร้องต่างๆ ดังกล่าวนั้น ที่แท้ก็เพราะต้องการใช้มวลชนออกมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องคดีความของพวกตนเท่านั้น อนาคตใหม่ก็จะเสียหาย แต่ครั้นจะเดินหน้าเล่นการเมืองนอกสภาฯ ต่อ ก็แปลว่า ทั้งๆ ที่พวกตนได้เป็น ส.ส.ต่อไป ไม่เห็นสภาฯ เป็นเวทีสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง ก็เสียอีก
โจทย์นี้ก็คงจะเป็นปัญหาให้กับแกนนำอนาคตใหม่ หากศาลตัดสินไม่ตัดสิทธิ์ ไม่ยุบพรรค แต่ถ้าตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร แต่ไม่ยุบพรรค แน่นอนว่า ส.ส.อนาคตใหม่ที่เหลืออยู่ก็จะต้องหาพรรคอื่นลง และถ้าลงได้แล้ว และพวกเขาเดินหน้าทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาฯ ต่อไป ก็จะเหลือแค่แกนนำที่ถูกตัดสิทธิ์เล่นการเมืองนอกสภาฯ ก็จะทำให้อนาคตใหม่แตกออกเป็น 2 ส่วน การเมืองนอกสภาฯ ของแกนนำที่ถูกตัดสิทธิ์อาจจะต้องหาทางเรียกพลังมวลชนให้สนับสนุนการเมืองนอกสภาฯ ของพวกตนมากขึ้น แต่ถ้าทั้งตัดสิทธิ์และยุบพรรค แน่นอนว่า การเมืองนอกสภาฯ โดยอนาคตใหม่จะแรงขึ้นๆ และแน่นอนอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อีกฝ่ายหนึ่งก็จะออกมาแสดงพลังทัดทานอย่างแน่นอน และหากขับเคลื่อนกันไปขยายผลกันไปเรื่อยๆ ในแบบที่กล่าวไปแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็จะลงเอยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต แปลว่า การเมืองไทยไม่พ้นวังวนเรื่องม็อบชนม็อบ แต่จุดลงเอยคงไม่ใช่รัฐประหารแบบที่ผ่านมาล่าสุด ทั้งๆ ที่เงื่อนไขในปี 2557 นั้นก็ย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว แต่ในครั้งต่อไปมันจะต้องย่ำแย่กว่านั้น รัฐประหารถึงจะชอบธรรมทำได้ อีกทั้งจะทำแบบ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน
“ดังนั้นทางที่ดี ฝ่ายที่จะออกมาเคาน์เตอร์ฝ่ายอนาคตใหม่ น่าจะอยู่เฉยๆ ดีกว่า เพราะถ้าออกไปวัดกัน ก็จะยิ่งเร่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพ แต่ถ้ายืนยันที่จะวัดกัน ผลก็คงจะเป็นแบบที่บอกไป”
คนที่ออกไปสนับสนุนอนาคตใหม่ ไม่ได้จะมีประเด็นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบางประเด็นที่พูดไม่ได้ ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นกระแสก่อนหน้าสกายวอล์ก และก่อนหน้าวิ่งไล่ลุง
“และที่ออกไปสกายวอล์กและวิ่งไล่ลุงนั้น ก็เพราะอนาคตใหม่เป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่คนที่ออกไปชุมนุมนั้นรู้ว่า อนาคตใหม่มีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้นจึงอยากจะชี้ให้เห็นประเด็นนี้ที่เป็นประเด็นที่พูดไม่ได้ แต่รู้ๆ กันอยู่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง”
ส่วนเรื่องบานปลายหรือไม่ก็ได้พูดไปแล้ว แต่การบานปลายที่ว่านี้อาจจะลุกลามบานปลายไปถึงเรื่องที่คาดไม่ถึง แต่มันมีกระแสมาพอสมควรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของแกนนำอนาคตใหม่ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่ผู้คนเริ่มตั้งคำถาม ส่วนท่าทีของฝ่ายรัฐบาลอย่างเช่น พลเอกประวิทย์ รองนายกฯ บอกว่า ไม่อยากให้วิ่งไล่หรือวิ่งเชียร์ทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ไม่เพียงพอที่จะทุเลากระแส หรือที่พลเอกอนุพงษ์ รมว.มหาดไทย บอกว่า เป็นสิทธิ์เสรีภาพทำได้ภายในขอบเขต แต่ก็ไม่อยากให้ทำ เพราะรัฐบาลกำลังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ วาทกรรมแบบนี้ซ้ำๆ ที่ผ่านมา ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลก็จะพูดแบบนี้ แต่ฝ่ายเคลื่อนไหวชุมนุมไม่มีใครเชื่อ หรือพลเอกประยุทธ์จะกล่าวแบบแปลกใหม่ว่า ยิ่งเกลียดก็จะยิ่งทำให้รักอะไรทำนองนี้ ก็อาจจะได้ความเห็นใจจากฝ่ายสนับสนุน แต่ใช้ไม่ได้เลยกับฝ่ายต่อต้าน
หากถามว่า รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ควรวางตัวอย่างไรนั้น คำตอบก็คือ อะไรที่เป็นข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ก็ควรจะออกมาทำให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถวายสัตย์ ฯลฯ และควรให้เกียรติ ส.ส.ในสภาฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อีกทั้งในเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจนั้น แม้ว่าพรรค พปชร.จะรวบรวมเสียง ส.ส.พรรคต่างๆ ได้เสียงเกินครึ่งสภาฯ ให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การที่ ส.ว.เทเสียงอย่างพร้อมเพรียงสนับสนุนด้วยแบบนั้น มันก็ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีวางแผนสืบทอดอำนาจ เพราะ คสช.เป็นคนคัดกรองคนที่จะมาเป็นวุฒิสมาชิก แม้นว่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. แต่ตอนที่ผู้คนลงประชามติ ไม่มีใครรู้ว่าจะมีพรรค พปชร.ที่ในที่สุดพลเอกประวิตรมานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์ และพลเอกประยุทธ์จะรับเป็นแคนดิเดต
รัฐบาลประยุทธ์-อำนาจนิยมอำพราง
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อไปว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับของฝ่ายอนาคตใหม่ ที่บอกว่า เป็นเผด็จการเต็มตัว แต่ฝ่ายที่โต้ให้เหตุผลว่าไม่ได้เป็นเผด็จการ เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากคะแนนเสียงของประชาชน จนพลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ
ข้อเท็จจริงก็คือ รัฐบาลก็ไม่ใช่เผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เสรีและเป็นธรรม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านประชามติมา ตอนทำประชามติก็มีคำถามพ่วง ที่ให้ ส.ว.มีสิทธิ์ออกเสียงโหวตนายกฯ แต่เมื่อ ส.ว.มาจาก คสช.ที่เป็นคนคัดเลือกทำรายชื่อ ก็ทำให้ ส.ว.ก็คือคนของ คสช. ก็จะมีผลในการที่จะลงคะแนนเลือกคนเป็นนายกฯ แต่ก็จะสังเกตได้ว่า การเลือกนายกฯ ที่ผ่านมามีกติกาก็คือ คนที่ได้เป็นนายกฯ นอกจากจะได้เสียงสนับสนุนจากสภาเกิน 250 เสียงก่อนแล้ว จากนั้นก็จะมีเสียงของ ส.ว.อีก 250 คนมาร่วมโหวตด้วย ก็ทำให้ไม่ได้ถึงกับจะเรียกว่าเผด็จการ แต่มีการวางการสืบทอดอำนาจเอาไว้ส่วนหนึ่งผ่านการตั้ง ส.ว. และการให้อำนาจกับ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ แต่การเป็นนายกฯ ได้ก็ยังต้องอาศัยเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งเช่นกัน
ลักษณะดังกล่าวจึงเรียกว่า กึ่งๆ อำนาจนิยม ไม่ได้เป็นอำนาจนิยมเต็มตัว เป็นอำนาจนิยมอำพราง หรือ stealth authoritarianism ที่เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายว่ารัฐบาลปัจจุบันทั่วโลกก็คงไม่ได้เป็นรัฐบาลเผด็จการได้เต็มที่แบบในอดีต เพราะกติกาการเมืองโลกจับจ้องอยู่ สิ่งที่ทำได้ก็คือการแฝงออกกฎหมายเพื่อเอื้อให้พวกของตัวเอง
สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พูดเรื่องนี้ก็คงถูกครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับถูกทั้งหมด ทำให้ฝ่ายที่ปกป้องพลเอกประยุทธ์ก็ปกป้องไม่ได้เต็มที่ ต่างฝ่ายต่างก็มีส่วนถูก เพราะถ้าเสียงประชาชนไม่เอาพรรคพลังประชารัฐเลย ผมคิดว่ายังไง การสืบทอดอำนาจก็ไม่เกิดขึ้น แต่ประเด็นคือ พลังประชารัฐแม้จะได้ 116 เสียงแต่ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 250 เสียง แต่ฝ่ายพรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาลย่อมรู้ดีว่า ยังไง ส.ว.250 เสียงต้องเทคะแนนให้พลเอกประยุทธ์ ก็เลยทำให้พรรคการเมือง กลุ่มก๊วนต่างๆ เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ วิ่งเข้าหาพรรคแคนดิเดตที่มีโอกาสจะเป็นนายกฯ มากที่สุด เป็นเรื่องความกระหายอยากเป็นรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ทำให้การสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การควบคุมโดยพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน
ศ.ดร.ไชยันต์ บอกว่า ดังนั้นหากจะแก้ข้อกล่าวหานี้ ง่ายนิดเดียว แต่คงทำไม่ได้ นั่นคือ พลเอกประยุทธ์ลาออกเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ เมื่อพลเอกประยุทธ์ลาออก รัฐสภาก็ต้องกลับไปซาวเสียงหานายกรัฐมนตรีใหม่ คราวนี้ภาพเผด็จการและการสืบทอดอำนาจที่อนาคตใหม่ใช้ในการปลุกระดมโจมตีก็จะหายไปทันที แต่แน่นอนว่าอนาคตใหม่จะได้เครดิตตรงนี้นำเหนือพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านทั้งหมด และในการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่นี้ แน่นอนว่าถ้าไม่สนเสียง ส.ว. ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร 376 เสียง ซึ่งคงยากที่จะแคนดิเดตพรรคใดจะหาเสียงได้ขนาดนั้น ยังไงเสียง ส.ว.ก็เป็นตัวชี้ขาด แต่ถ้าไม่ได้เสียงถึง 376 ขอแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็ยังพอไปต่อรองกับ ส.ว.ได้ และการที่เคนดิเดตพรรคใดจะได้เสียงเกิน 250 ก็ต้องมีการย้ายขั้วย้ายข้างของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลผสมภายใต้พลเอกประยุทธ์ไปอยู่กับฝ่ายค้านที่จะต้องการจะเป็นรัฐบาล แต่กระนั้นทางฝ่ายค้านเองก็ยากที่จะรวมตัวอย่างเป็นเอกภาพที่จะชูเคนดิเดตของพรรคใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในฝ่ายค้าน ตกลงกันได้หรือยังว่าจะเสนอให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพร้อมจะเทคะแนนให้คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แค่นี้ก็คงตกลงกันไม่ได้อยู่แล้ว
.....ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์เล่นไม้นี้ คือ ลาออก คาดว่าในที่สุดก็จะลงเอยหานายกรัฐมนตรีคนในไม่ได้ และจะต้องไปปลดล็อกเพื่อสามารถเสนอคนนอก แต่การจะปลดล็อกนั้นฝ่ายที่ต้องการจะปลดก็ต้องหาเสียง ส.ส.ได้ 250 เพื่อไปเสนอวุฒิสภา ซึ่งก็น่าจะยากอีก และในขณะที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทางการ ก็จะต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการอยู่จนกว่าจะซาวเสียงได้นายกรัฐมนตรีตัวจริง แต่ถ้าปลดล็อกไม่ได้ ในที่สุดก็จะถึงทางตัน ก็จะต้องไปใช้มาตรา 7 นั่นคือ ไม่ยุบสภา ก็มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยไม่ต้องตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือไม่ก็ลงเอยรัฐบาลแห่งชาติ ที่แน่ๆ ก็คือ การลาออกจะทำให้กระแสนอกสภายุติลงทันที และทุกอย่างจะไปอยู่ที่รัฐสภา และปล่อยให้นักการเมืองเขาว่าไป อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐก็ยังอยู่ ยังสามารถมีบทบาทในสภาได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่งเพราะมี ส.ส.ถึง 116 คน แม้จะไม่มีเคนดิเดตสำรองต่อจากพลเอกประยุทธ์แล้วก็ตาม
...คาดว่า การเสนอทางเลือกดังกล่าว พลเอกประยุทธ์คงไม่ลาออก แต่ถ้าลาออกก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยทันที เข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง แต่ถ้าไม่ออกจะทำยังไงให้อยู่ต่อไปได้ คำตอบก็คือ พุ่งเป้าไปที่การแก้รัฐธรรมนูญ และจริงจังกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะคณะกรรมาธิการฯ ที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีเวลา 120 วัน ซึ่งรัฐบาลก็ควรจะให้สังคมรอผลรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็จะซื้อเวลาไปได้อีก 4 เดือน และควรตั้งคำถามต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอนาคตใหม่ที่ต้องการยุติเผด็จการ ล้มการสืบทอดอำนาจและเปลี่ยนแปลงประเทศนั้นว่ารูปธรรมของข้อเรียกร้องต่างๆ นี้คืออะไร หากไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเคลื่อนไหวจึงควรอยู่ในระดับที่พอประมาณ และควรเรียกร้องว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตราใด อะไรบ้าง เพื่อส่งเสียงหรือกดดันคณะกรรมาธิการฯ ให้รับฟังและใส่ข้อเรียกร้องดังกล่าวในผลการศึกษา และหลังจาก 4 เดือน รัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกพอประมาณ และไม่ควรจำกัดเวลาในการร่างให้สั้นเกินไป ควรเปิดรับฟังประชาพิจารณ์ให้มากที่สุด โดยรัฐบาลควรประกาศว่า หวังจะให้รัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ระยะเวลาในการจัดทำและลงประชามติก็น่าจะเป็นปีๆ อยู่ ถ้าจะให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีและเป็นที่ยอมรับ และรัฐบาลก็ต้องจริงใจกับกระบวนที่จะให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แค่นี้การเคลื่อนไหวนอกสภาก็จะทุเลา หรือดีไม่ดีก็ไม่มีเหตุผลความชอบธรรมอะไรที่จะเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าไม่ลาออก และไม่จริงใจต่อการแก้รัฐธรรมนูญ คิดทู่ซี้อยู่เพราะเริ่มมี ส.ส.ฝ่ายตนมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจาก ส.ส.ย้ายพรรคเพราะถูกขับ หรืออะไรก็ตาม แต่อย่าคิดว่านั่นจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กได้ เพราะขนาดพรรคไทยรักไทยหลัง พ.ศ.2548 ควบรวมพรรคต่างๆ ได้คะแนนเสียงสามร้อยกว่า พอเจอการชุมนุมประท้วงปี 2549 ยังไปไม่เป็น แล้วสำมะหาอะไรกับรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ ที่ประหลาดก็คือ จากที่เคยเป็นคนกลางระหว่างขั้วขัดแย้งสองฝ่าย กลับกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองเฉยเลย จึงทำให้เกิดคำถามคือ การทู่ซี้อยู่แบบนี้ ทางพลเอกประยุทธ์และคณะมีวาระซ่อนเร้นอะไรที่ยิ่งใหญ่รอคอยอยู่หรือ?
- การเมืองบนท้องถนนต่อจากนี้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขและปัจจัยการเมืองจากเรื่องใดบ้าง เท่าที่ประเมินสถานการณ์จากการเมืองไทยในเวลานี้?
นอกจากข้อกล่าวหาเรื่องเผด็จการ สืบทอดอำนาจ อาจจะมีประเด็นที่พูดไม่ได้ แต่คนไม่พอใจ ซึ่งอาจจะบานปลาย เพราะอนาคตใหม่มีวาระนี้อยู่แบบที่เรียกว่า “เราเข้าใจตรงกันนะ”
ถ้าปล่อยให้วิ่งๆ เดินๆ จัดกิจกรรมกันแบบแอบแฝงไปเรื่อยๆ ก็คงได้ใจ ย่ามใจ แล้วก็จะลงบนถนนจนได้ ถ้าลงบนถนนตอนนั้น การจะไปจับ ไปปรับอะไร คงไม่ทันการหากถึงตอนนั้นถ้าคนลงกันเยอะ อย่างที่เคยจัดมา เช่นที่ sky-walk ที่บอกว่าคนมากัน 6000-7000 คน หรือกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่คนมากันเป็นหมื่น ที่ผ่านมาบางคนอาจยังไม่กล้าตัดสินใจจะมาร่วม ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะวิ่งเชียร์หรือวิ่งไล่ แต่หากจัดเรื่อยๆ แล้วมีคนมากันเยอะๆ ก็อาจเกิดกรณีเช่น เพื่อนๆ ชวนกันไป ครั้งต่อๆ ไป ก็อาจเยอะขึ้น เพียงแต่จะค้างคืนไม่ได้เพราะติดขัด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ก็จะเป็นแบบมาแล้วก็กลับบ้าน แต่หากเกิดกรณีวันไหนมีคนมาร่วมชุมนุมกันเป็นแสน นักกิจกรรมก็จะปักหลัก แล้วถ้าคนมาเป็นแสนจะไปดำเนินคดีจับกุมอะไรเขา
ส่วนการชุมนุมแบบแฟลชม็อบที่จะเกิดขึ้นเอง ผมว่าคงไม่มี เพราะยังไงก็ต้องมีการออร์แกไนซ์จัดตั้ง เพราะแฟลชม็อบการจัดกิจกรรมก็จะต้องมากันตามเวลานัดหมาย แล้วเมื่อมีคนมาโดยไม่มีแกนนำ ไม่มีการปราศรัย โดยที่แฟลชม็อบสิ่งสำคัญคือเรื่อง "ปริมาณ" เพราะการชุมนุมแบบนี้ต้องการโชว์ปริมาณคนที่มาร่วม เช่น นัดกัน 17.00-17.30 น. ก็จะต้องมีคนมาให้ได้เยอะที่สุด แล้วกระบวนการจัดการจะทำอย่างไรโดยเฉพาะให้การชุมนุมมีวินัย ซึ่งบ้านเราการชุมนุมแบบแฟลชม็อบก็คงไม่ได้เยอะอะไร
เตือนหากเบี้ยวแก้ไข รธน.เจอกระแสประท้วงหนัก
ดร.ไชยันต์ ยังกล่าวถึงเสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในเวลานี้ว่า รัฐบาลก็อาจจะอยู่ครบเทอมได้ หากจริงจังกับการแก้รัฐธรรมนูญ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เวลาให้มากที่สุดกับการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ และหลังจากประชามติแล้ว ผลเป็นยังไง รัฐบาลให้สัญญาว่าจะยุบสภา ก็น่าจะอยู่ได้ยาว แต่ถ้าหลัง 120 วัน ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีเสียงของฝ่ายรัฐบาลเป็นข้างมาก ไม่มีแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้อย่างไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายที่เรียกร้องที่มีพลังมวลชนหนุนหลัง ก็จะเกิดการประท้วงกว้างขวาง รัฐบาลก็อยู่ลำบาก แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ตั้ง ส.ส.ร. แต่แก้โดยรัฐสภา ซึ่ง ส.ว.ก็ควรจะคิดคำนึงถึงผลระยะยาวของประเทศ ถ้าการแก้ผ่านไปได้ ส.ว.ให้ความร่วมมือ ก็จะนำไปสู่การยุบสภา เพราะเชื่อว่ามาตราที่แก้นั้นจะทำให้จำเป็นต้องยุบสภา เพื่อใช้กติกาใหม่ที่แก้ไป อันนี้รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ครบเทอม แต่ปัญหาการเมืองบนท้องถนนจะไม่เกิดขึ้น ก็เลือกเอาก็แล้วกัน
- หากไม่มีการแก้ไข รธน.ในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งที่ได้เขียนเรื่องการแก้ไข รธน.ไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ข้อหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ที่นายกฯ ได้แถลงต่อรัฐสภา จะมีผลทางการเมืองกับรัฐบาลอย่างไรหรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการตามที่แถลงไว้?
มีผลแน่นอน คือ คนจะออกมาประท้วงมากขึ้นภายใต้อนาคตใหม่ และการออกมาสนับสนุนจากอีกฝ่ายหนึ่งก็จะพยายามใช้วาทกรรมชังชาติ ปฏิปักษ์สถาบัน ก็จะยุ่งวุ่นวายมาก แต่ยังไงเชื่อว่ามีการแก้ไข รธน. เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์แน่นอน
ประชาธิปัตย์จะเล็กลงเรื่อยๆ
- มองสถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์วันนี้อย่างไร หลังคนในพรรคทยอยลาออก ล่าสุดก็กรณีของกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ที่จะออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ มองว่าประชาธิปัตย์มีรอยร้าวหรือไม่?
ร้าวเยอะ คือ เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากอดีต เช่น ยุคตอนเลือกตั้งปี 2522 ที่ประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งหมดรูปอย่างกรุงเทพมหานคร พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ได้รับเลือกตั้งคนเดียว ยุคนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2522 กระแสพรรคประชากรไทยของสมัคร สุนทรเวช มาแรง ยุคนั้นไม่ได้เกิดจากปัญหาความแตกแยกภายในพรรค แต่เพราะประชาธิปัตย์สู้ไม่ได้
สำหรับรอบนี้ ปัญหาเกิดจากความเห็นไม่ตรงกันภายในพรรค ปชป.ที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายแรกเห็นว่าควรร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ที่คือฝ่ายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เกิดรอยร้าวทั้งในแง่อุดมการณ์และผลประโยชน์ เพราะอย่างกรณี กรณ์ จาติกวนิช ที่ก็อาจมีอุดมการณ์แต่ก็ไม่ได้ตำแหน่งอะไรในรัฐบาล ที่หากสุดท้ายถ้าในอนาคตเขาไปมีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลก็จะเป็นเรื่องการออกไปเพราะเรื่องผลประโยชน์ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ กรณีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจาก ส.ส. ที่มีจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ อันนี้คือรอยร้าวสำคัญ เพราะหากสุดท้ายการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. นำพรรคร่วมรัฐบาล แล้วสุดท้ายพบว่าผลออกมาไม่ดี ประชาธิปัตย์ก็อาจต้องแตก เพราะคนที่ตัดสินใจนำพรรคร่วมรัฐบาลจะมีหน้ากลับมานำพาพรรคต่อไปได้หรือไม่ และจะยอมรับการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าวหรือไม่ แต่หากออกมาอีกแบบหนึ่ง คือ ประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จในการร่วมรัฐบาล ก็แสดงว่าการตัดสินใจของนายจุรินทร์ก็ตัดสินใจถูก อาจทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต ประชาธิปัตย์ก็อาจฟื้น แต่หากล้มเหลวก็เท่ากับการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ก็ถูก
ดูเฉพาะหน้าแล้ว ประชาธิปัตย์ก็คงเป็นพรรคที่จะเล็กลงเรื่อยๆ และหากตราบใดที่พรรคยังคงอยู่ร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ ประชาธิปัตย์จะไปรีโนเวตพรรคก็คงไม่ถนัดเท่าไหร่ จะไปรีโนเวตยังไงผมยังนึกไม่ออก เพราะคนที่เชียร์ประชาธิปัตย์เองตอนนี้บางส่วนก็มองว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีปัญหา เมื่อผลงานรัฐบาลไม่ดี คะแนนประชาธิปัตย์ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ประชาธิปัตย์ก็ควรทบทวนว่าหากถึงจุดหนึ่งก็ต้องพร้อมที่จะสละออกมาจากการร่วมรัฐบาล ทำไมจะต้องไปร่วมหัวจมท้ายกับเขา อย่าง รมต.ในโควตาของพรรค หากเห็นว่าไม่ดี ก็ต้องยอมรับ และให้มีการปรับ ครม. ประชาธิปัตย์ต้องมองยาวๆ ไม่ใช่มองแค่สั้นๆ ว่าจะเอาแต่อยู่ร่วมรัฐบาล ต้องมองยาวๆ ถึงหลักการ อุดมการณ์ของพรรค ส่วนพรรคการเมืองที่นายกรณ์จะตั้งขึ้นมาก็อาจจะเป็นทางเลือก ถ้าไปรวมตัวกับคนที่มีโปรไฟล์ดีๆ ดูทันสมัย ประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นพรรคใหม่ที่เป็นตัวเลือกให้คนได้
- มองบทบาททหาร ผู้นำทหารในการเมืองไทยต่อจากนี้อย่างไรบ้าง?
กองทัพจะไม่ยอมให้องค์กรเสื่อมถอยไปด้วยกับอดีตผู้นำทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ เมื่อถึงเวลากองทัพก็จะไม่สนับสนุนอีกต่อไป เป็นเรื่องธรรมดามากๆ อีกทั้งกองทัพก็ใช่ว่าจะโบราณคร่ำครึ อนุรักษนิยมไดโนเสาร์ แรงกดดันเปลี่ยนแปลงที่ไร้เหตุผลจนเกินไปต่อกองทัพที่จะรับได้ จะทำให้กองทัพตื่นรู้ และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะนายทหารหนุ่มหรือที่เรียกว่า ยังเติร์ก
- โอกาสเกิดรัฐประหารในอนาคตการเมืองไทย ในจังหวะที่เกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศแบบที่ผ่านมา มีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่?
จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการรัฐประหารคนก็เห็นแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร อย่างตอน คมช.ทำรัฐประหารปี 2549 ก็ถือเป็นการชุมนุมที่ตอนนั้นถือว่าแย่แล้วที่มีการชุมนุมสองฝ่าย ส่วนปี 2557 มันยิ่งหนักกว่าปี 2549 เพราะฉะนั้นคราวหน้าหากไม่มีเงื่อนไขบนท้องถนน คนไม่ได้ออกมาจลาจล มีการตีกัน ก็ทำไม่ได้ ที่ผ่านมายุค คสช. 5 ปี เข้ามาคนก็ผิดหวัง แต่ขึ้นอยู่กับผู้นำที่ทำการรัฐประหาร หากเปลี่ยนจาก ผบ.ทบ. แต่เป็นพวกทหารยังเติร์กขึ้นมา คนก็อาจจะซื้อ เพราะคนก็อาจมองว่าไม่ใช่ทหารระดับที่เป็น ผบ.ทบ.ที่ได้ประโยชน์ มีผลประโยชน์เยอะ พวก ผบ.พัน พวกนายพันทั้งหลายอาจทนสภาพไม่ไหว และต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจริงๆ ไม่ใช่แค่เข้ามายุติความขัดแย้ง ก็อาจทำให้คนอาจยอมรับได้ แต่ก็น่ากลัว หากระดับยังเติร์กมาแล้วจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศ มันน่ากลัว เพราะเขาก็คงไม่ประนีประนอม ก็อย่างในอดีต เช่นเหตุการณ์ "เมษาฮาวาย" ที่ตอนนั้นยังเติร์กยุคนั้นก็มาแรง ก็คืออาจจะมาแบบไม่ประนีประนอมหากเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง หากมีการไปยุ่มย่ามอะไรกับเขาเยอะมาก บางทีหากเขาทนไม่ไหวจริงๆ ทหารกับกองทัพก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งหนึ่ง หรือน่ากลัวมาก ทหารเขาไม่โง่ ทหารรุ่นใหม่เขาก็มี น่ากลัว.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |