'เกศปรียา'กลับมาแล้ว!รอบนี้สอนรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองของประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

18 ม.ค.63 - น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองของประเทศ แต่ในเวลานี้ตนอยากจะถามว่า รัฐบาลมีแนวคิดหรือวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาหลักของประเทศเวลานี้อย่างไรบ้าง อย่างเช่น เศรษฐกิจไม่ดี มีประชาชนฆ่าตัวตายรายวัน, ฝุ่น PM 2.5 เต็มท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ภาคใต้ บางช่วงเวลา, ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปีและในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปีนี้จะเกิดภัยแล้ง 70 จังหวัด, น้ำทะเลหนุน เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้น้ำประปาเค็ม น้ำนำไปใช้การเกษตรไม่ได้, ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศที่เป็นเหตุผลหลักที่ คสช. อ้างมาเพื่อแย่งชิงอำนาจจากรัฐบาลของมติประชาชนไทย ยังคงเดิม และเพิ่มเติมเป็นความขัดแย้งระหว่างวัย ระหว่างรัฐบาลตัวแทนคนสูงวัย และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอนาคต

"รัฐบาลคุณประยุทธ์มีแนวคิดจะหยุดปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนเช่นไร ผู้ที่อาสามาบริหารประเทศต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ โดยไม่ผลักภาระมาที่ประชาชนโดยตอบว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ขอประชาชนร่วมมือ ไม่ใช้น้ำ ไม่ขับรถ ไม่ทำการเกษตร ไปขุดบ่อขายดิน หรือตอบว่ารัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาแล้ว อย่าไปเชื่อว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร"

น.ส.เกศปรียา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดครั้งแรกในปัจจุบันนี้ แต่เป็นปัญหาที่เกิดมายาวนานหลายปี อย่างเช่นปัญหาภัยแล้ง ตลอดช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช้งบไปจำนวนมาก เพื่อเเก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำไมถึงไม่บริหารจัดการ โดยการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่ใช่พอเกิดภัยแล้งก็อนุมัติงบประมาณไปขุดบ่อลอกคลอง ขัดบ่อบาดาล แล้วบอกว่าแก้ปัญหาแล้ว การทำงานมา 5 - 6 ปีเวลาไม่ใช่น้อย เมื่อปัญหาเกิดครั้งแรกทำแบบเดิมแล้วปีต่อมาปัญหาเกิดเช่นเดิมอีก ผู้บริหารที่ดีที่มีสติปัญญาต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เเละมีนโยบายเเก้ไขเเบบบูรณาการ ไม่ใช่ใช้งบประมาณในการแก้ไขแบบเดิมๆซึ่งเป็นการใช้เงินของประชาชนทั้งประเทศแบบไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพราะความไร้วิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตนไม่คิดว่าจะต้องมามีปัญหา เรื่องฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการแผนการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่ในทางปฏิบัติประชาชนทุกคนในพื้นที่ที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐานต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเอง ยังไม่มีมาตรการอะไรในทางปฏิบัติออกมาจากรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรม มีแต่รองนายกฯ บอกผู้สื่อข่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นก็แจกหน้ากากไปแล้ว นั่นเป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเดือดร้องของประชาชนไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรก ของรัฐบาล ปัญหาฝุ่นถ้ารัฐบาลเห็นประชาชนเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนหายใจอากาศพิษ จนมีรายงานว่าคนไทยป่วยจากพิษฝุ่นตั้งแต่ปี 2562 ประมาณ 40,000 คน แล้ว 

การปล่อยเวลาผ่านไป 1 ปีโดยไม่มีการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน เป็นการเสียโอกาสของประชาชนและของประเทศ การแก้ปัญหาฝุ่นถ้ารัฐบาลคิดแก้ปัญหาจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในสถานที่สาธารณะ ตามป้ายรถเมล์ ตามโรงเรียน โรงพยาบาลสถานที่ราชการ ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ บริเวณในอาคารและรอบอาคาร ออกมาตราการป้องกันเเก้ไขเเบบเป็นรูปธรรม พยายามรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวถึงพิษฝุ่นเพื่อให้เกิดจิตสำนึกช่วยกันลดปริมาณฝุ่นต่อเนื่องตั้งเเต่ปีที่ผ่านมาปริมาณฝุ่นปีนี้ก็อาจจะไม่รุนแรงและมีผลต่อสุขภาพประชาชนเช่นนี้ ไม่ใช่รอฝุ่นมาใหม่ในปีต่อมาแล้วมาแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าที่แบบเดิมๆ โดยการแจกหน้ากาก หรือมาย้อนถามประชาชนว่าจะเอามาตราการแรงห้ามรถวิ่งเอาไหม

ส่วนปัญหาที่ประชาชนเครียดจากภาวะเศรษฐกิจจนตัดสินใจจบชีวิตตนเอง รัฐบาลก็พยายามปฏิเสธไม่อยากรับรู้ปัญหา โดยบอกว่าสื่ออย่าเสนอข่าว หรือบ้างก็บอกว่าอย่าอ่านข่าวโซเชี่ยลมากเกินไป เป็นการพยายามหลอกตนเองและประชาชนว่าเศรษฐกิจดี เมื่อรัฐบาลไม่เปิดใจรับรู้ปัญหา การแก้ปัญหาย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น มีคนเตือนรัฐบาลจำนวนไม่น้อยว่าเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแย่แล้ว แต่ 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่รับฟังในช่วง ปีแรกๆ ก็ยืนกรานว่าเศรษฐกิจดีโดยอ้างตัวเลข GDP พอถึงสิ้นปี 2562 GDP ไม่น่าชื่นชมเลย กลับบอกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ต้องดูตัวเลขแล้ว ซึ่งในกรณีนี้รัฐบาลควรหาวิธีปรับวิธีการบริหารเศรษฐกิจจากบนลงล่างมาลองจัดการจากฐานรากขึ้นบนดูบ้าง

ด้านปัญหาน้ำเเล้ง น้ำประปาเค็มก็มีการพยากรณ์มานานมากแล้วคุณประยุทธ์เป็นผู้บริหารประเทศมาเกิน 5 ปีทำไมไม่มีวิสัยทัศน์ป้องกันปัญหา ที่ไม่ต้องมาผลักภาระมาให้ประชาชนเมื่อเกิดปัญหาโดยบอกขอประชาชนร่วมมือต้มน้ำเค็มดื่มเพื่อลดความเค็มในน้ำ หรือแนะนำให้ประชาชนดื่มน้ำกรองผ่านเครื่องอาร์โอ หรือรีเวอร์สออสโมซิส หรือให้ประชาชน ขุดบ่อเอาดินไปขาย หรือ ขอชาวนาอย่าทำนาปรัง กรณีนี้เป็นผู้บริหารประเทศที่ดีต้องวางแผนรับมือก่อนปัญหาจะเกิด โดยสั่งการให้กรมชลประทานวางเเผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และสั่งการให้การประปาให้จัดหาเครื่องกรองน้ำเค็มได้มาติดตั้งเตรียมไว้ หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ใช่ให้ประชาชนคอยดูตารางสถิติค่าน้ำว่าเวลาใดน้ำไม่เค็มให้กักเก็บน้ำไว้ใช้   แบบนี้ประชาชนก็คงไม่ต้องประกอบอาชีพเพราะต้องเฝ้ารอเวลากักเก็บน้ำจืดตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ คสช. อ้างว่าจะเข้ามาจัดการโดยการใช้อำนาจบังคับห้ามปรามและไล่จับคนที่คิดต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม แต่พิสูจน์แล้วว่า 5 - 6 ปี วิธีการบังคับที่ คสช. ทำไม่ได้ผล ความแตกต่างทางความคิดยังคงอยู่ และเพิ่มเติมความขัดแย้งระหว่างวัยขึ้นมาใหม่ โดย คสช. หรือรัฐบาลทหารวัยเกษียณเป็นคู่ขัดแย้งกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ การแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งในทางการเมืองต้องรณรงค์ให้ทุกคนรับทราบว่า ความคิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ผู้ที่มีวุฒิภาวะต้องไม่บังคับให้ใครคิดเห็นเหมือนเราจึงจะอยู่ร่วมกันได้ และไม่ไปไล่ทำร้ายหรือกำจัดคนคิดต่างออกไป เพราะประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิเท่าเทียม ไม่มีใครมีสิทธิ์เหนือใคร การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือแนวคิดต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแนวคิดหนึ่งถูกและอีกแนวคิดผิดในมาตรฐานตัวแปรปัจจัยแวดล้อมที่มาตรฐานเดียวกัน

"ขอแนะนำรัฐบาลว่า ถ้าไม่มีหนทางจะแก้ปัญหาของประเทศ แล้วได้แต่บอกขอประชาชนร่วมมือ รัฐบาลควรวางมือ แล้วให้ผู้ที่ได้มติประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศแทน อย่าอยู่เป็นแค่รัฐบาลเพื่อรักษาเก้าอี้ของตนเองและทำลายโอกาสของประเทศอีกต่อไปเลย เพราะอนาคตของประเทศเป็นของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ของคนวัยเกษียณแบบรัฐบาล" น.ส.เกศปรียา กล่าวทิ้งท้าย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"